ฟิล์มบรรจุภัณฑ์อาหารจากเลือดหมู

“สุกร” หรือ “หมู” เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศเทศไทย ข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตสุกร 19.88 ล้านตัว และปริมาณการบริโภคราว 1.45 ล้านตัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมโรงฆ่าสัตว์มีปริมาณเลือดเป็นจำนวนมากที่ถูกทิ้งกลายเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

ในเลือดหมูมีส่วนประกอบที่เรียกว่า “พลาสมา (Plasma)”  มีโปรตีนสูง มีสมบัติด้านอิมัลชันที่ดี ไม่ทำให้สี กลิ่นของผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลง จึงสามารถนำมาประยุกต์เป็นฟิล์มพอลิเมอร์ชีวภาพ เพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถบริโภคได้ และยังย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ฟิล์มพอลิเมอร์ชีวภาพ มีสมบัติป้องกันก๊าซออกซิเจนที่ดีเยี่ยม ร่วมกับมีการเสิรมคุณสมบัติการป้องกันน้ำ โดยเติมสารสกัดจากธรรมชาติ “รูติน (Rutin)” เชื่อมประสานพลาสมาโปรตีนผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อนำไปขึ้นรูปฟิล์มเป็นบรรจุภัณฑ์รักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้ดี

 

ฟิล์มจากพลาสมาโปรตีน
ผงพลาสมาโปรตีนจากเลือดสุกร

นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เป็นพอลิเมอร์ชีวภาพในการห่อหุ้ม หรือการเอนแคปซูเลชัน (Encapsulation) มาใช้กับน้ำมันหอมระเหยเช่น ตะไคร้ ขมิ้น และยูคาริปตัส เพื่อลดการสูญเสียกลิ่นรส

ทีมนักวิจัยยังมีการพัฒนาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็น “Active Packaging” ซึ่งมีคุณสมบัติมากกว่าการเป็นบรรจุภัณฑ์ธรรมดา โดยการเสริมการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน นำสารสกัดที่ผ่านการเอนแคปซูเลชันมาผลิตเป็นฟิล์มแอกทีฟ มาประยุกต์ใช้เป็นฟิล์มบรรจุภัณฑ์ข้าวไรซ์เบอรรี่ เพื่อลดการสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านแมลงและการเจริญเติบโตของชื้อจุลินทรีย์ได้ดี

ฟิล์มบรรจุภัณฑ์สำหรับข้าวไรซ์เบอรี่

ประโยชน์จากฟิล์มพอลิเมอร์

  • สกัดจากธรรมชาติสามารถบริโภคได้
  • สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
  • เป็นมิตรต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
  • มีฤทธิ์ต้านแมลงและจุลินทรีย์
  • นำไปห่อหุ้มน้ำมันหอมระเหยเพื่อรักษากลิ่น/รส
  • รักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
  • ลดปริมาณการใช้พลาสติก
  • วัตถุดิบมาจากโรงงานที่ได้มาตรฐานมีความปลอดภัย

ผู้วิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร.รังสินี โสธรวิทย์
ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 0-2579-0113    Email : fengrns@ku.ac.th

ผู้เรียบเรียง : น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร     Email : rdityt@ku.ac.th
(ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.)