กระดาษหัตถกรรมจากเยื่อทะลายปาล์มน้ำมัน
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันสูง เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้น และเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณเส้นศูนย์สูตร ปาล์มน้ำมันจึงเจริญเติบโตได้ดีในภาคใต้ของประเทศไทย อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นใยที่ได้จากส่วนของทะลายปาล์ม เปลือกผล และกาบใบ เมื่อนำผลทะลายปาล์มมาแยกส่วนต่างๆ ออกจะได้ ผลสด และทะลายเปล่า ในแต่ละปีจะมีทะลายเปล่าแห้งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจำนวนมาก และยังมีการนำไปใช้ประโยชน์น้อยมาก จึงมีการนำทะลายปาล์มเปล่ามาผลิตเป็นเยื่อเพื่อใช้ทำกระดาษหัตถกรรมหรือกระดาษพื้นบ้านทดแทนวัตถุดิบอย่างเปลือกปอสาซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีเกษตรกรสนใจจำนวนมากแต่ยังติดปัญหาที่หม้อต้มเยื่อความดันมีราคาแพงมากและอันตราย จึงเป็นที่มาของการศึกษาการใช้ประโยชน์จากทะลายปาล์มน้ำมันโดยวิธีฟอกขาวแทนการใช้หม้อต้มความดัน โดยคุณวุฒินันท์ คงทัด และผู้ร่วมวิจัย ดร.สุธีรา วิทยากาญจน์ และ ดร.รังสิมา ชลคุป จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยนำเส้นใยทะลายปาล์มน้ำมัน มาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี สัณฐานของเส้นใย หาวิธีการผลิตเยื่อโดยการฟอกขาว ปรับปรุงสมบัติเชิงกลของกระดาษโดยการผสมเยื่อปอสาและเคลือบด้วยสารละลายกลูโคแมนแนน ศึกษาต้นทุนการผลิตเบื้องต้นและทดสอบสมบัติเชิงกลของกระดาษที่ผลิตได้ตามวิธีมาตรฐานของ TAPPI

ผลจากการศึกษาทดลองเส้นใยทะลายปาล์มน้ำมันประกอบด้วย สารแทรกเฉลี่ย 16.99% ลิกนินเฉลี่ย 18.80% โฮโลเซลลูโลสเฉลี่ย 70.92% แอลฟาเซลลูโลสเฉลี่ย 45.86% เฮมิเซลลูโลสเฉลี่ย 25.06% เพนโตแซนเฉลี่ย 10.40% และเถ้าเฉลี่ย 5.68% เส้นใยยาวเฉลี่ย 1.50 mm. เส้นใยกว้างเฉลี่ย 0.0300 mm. ขนาดลูเมนเฉลี่ย 0.0190 mm. และผนังเส้นใยหนาเฉลี่ย 0.0052 mm. วิธีการผลิตเยื่อที่เหมาะสมคือ ต้มเส้นใยด้วยสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ความเข้มข้น 40% เวลา 10 ชั่วโมง แล้วฟอกด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ความเข้มข้น 80% ร่วมกับสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ความเข้มข้น 25% และสารโซเดียมซิลิเกตที่ความเข้มข้น 2% ของน้ำหนักแห้ง อุณหภูมิ 80-90 องศาเซลเซียส เวลา 2 ชั่วโมง จะได้ปริมาณเยื่อเฉลี่ย 69.82%

การผลิตเยื่อจากทะลายปาล์มน้ำมันโดยวิธีฟอกขาวเพื่อทำกระดาษหัตถกรรม สามารถผลิตเยื่อและทำกระดาษเพื่อใช้กับงานหัตถกรรมได้ ซึ่งกระดาษที่ได้มีลักษณะใกล้เคียงกับกระดาษสา แต่ในขั้นตอนการผลิตจำเป็นต้องผสมเยื่อใยยาวปอสาและเคลือบด้วยสารละลายกลูโคแมนแนน การผลิตเยื่อจากทะลายปาล์มน้ำมันโดยกรรมวิธีการฟอกขาวเป็นวิธีการผลิตที่ใช้ระบบเปิด เหมาะสำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือเกษตรกรที่ไม่ต้องการลงทุนมากนักกับการสร้างหม้อต้มความดัน ทำให้เกษตรกรสามารถนำไปผลิตเยื่อกระดาษได้ด้วยตนเอง และนับได้ว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทะลายปาล์มเปล่า และผลิตภัณฑ์กระดาษที่ได้ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ที่มาข้อมูล:นายวุฒินันท์ คงทัด สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่:พัชราภา รัตนวิญญูภิรมย์ ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 E-mail: phatcharapha.rat@ku.th