ผศ.ดร.ศิวพล ศรีสนพันธุ์ อาจารย์/นักวิจัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. ได้รับรางวัล 2019 TRF-OHEC-Scopus Research Awards for New Scholar

 

 

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่… พบ…เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ครั้งที่ 18 ณ โรงแรม เดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จังหวัดเพรชบุรี ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พร้อมมอบรางวัล 2019 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award และ 2019 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award เพื่อเชิดชูเกียรติแก่วุฒิเมธีวิจัย สกว. ตลอดจนนักวิจัยรุ่นกลางและนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีผลงานวิจัยจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ดีเยี่ยม ทั้งคุณภาพของงานวิจัย ผลกระทบต่อวงวิชาการ และสังคม เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจในการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงต่อไป

รางวัล 2019 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Awards สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ 4 คน ได้แก่

  1. ผศ. ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ผลงานตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับการย่อยสลายสารอินทรีย์มลพิษ และการสังเคราะห์สารอินทรีย์ที่มีมูลค่า โดยเฉพาะสารกลุ่มอิมมีนที่มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทั้งยังเป็นสารตัวกลางสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตยาพื้นฐานที่มีการบริโภคและจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงช่วยเพิ่มมูลค่าของสารอินทรีย์ตั้งต้นได้มากถึงประมาณ 40 เท่า
  2. ผศ. ดร.ศิรินาฏ คำฟู หัวหน้าหน่วยชีววิทยาระดับโมเลกุล ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ผลงานการศึกษาภาวะหัวใจล้มเหลวจากภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เพื่อต่อยอดในการคิดค้นและพัฒนาวิธีการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยต่อไป
  3. ผศ. ดร.ศิวพล ศรีสนพันธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    ผลงานการพัฒนาเครื่องกำเนิดพลาสมาเย็นที่สามารถทำงานได้ที่บรรยากาศปกติ ราคาถูกตั้งแต่หลัก 2-3 หมื่นบาทสำหรับเครื่องขนาดเล็ก จนถึงหลักแสนบาทในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสีเขียวสำหรับการรักษา ปรับปรุง หรือเพิ่มคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ช่วยให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยได้รับการยอมรับและเป็นจุดแข็งที่สามารถตีตลาดโลกได้
  4. ผศ. ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ผลงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการแบ่งปันสิทธิในการใช้และดูแลป่าไม้ระหว่างรัฐและชุมชน: การศึกษาจากป่าชุมชนในประเทศไทย โดยใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีและศึกษากลไกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่าการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนเงินทุนในการบริหารดูแลป่า และความช่วยเหลือด้านความเชี่ยวชาญจากเจ้าหน้าที่ อาจเป็นส่วนช่วยในการทำให้ป่าชุมชนในเขตป่าสงวนของไทยประสบความสำเร็จในการรักษาสิ่งแวดล้อม

ข้อมูล/ภาพ จาก : งานสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)