การใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของปูเพื่อการประมงอย่างยั่งยืน
ปูเป็นสัตว์น้ำที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล และเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศไทย อย่างเช่น ปูม้า (Portunus pelagicus) ที่นิยมจับมาบริโภค และถือว่าเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าสูงที่สุด แต่การทำประมงอวนจมปูนั้น ไม่ได้มีปูม้าที่ติดอวนจมปูมาเพียงชนิดเดียว ส่วนใหญ่เป็นปูชนิดที่ไม่เป็นที่นิยมนำไปบริโภค นอกจากนี้ยังมีสัตว์น้ำอื่นๆ ที่พลอยจับได้ติดมากับอวนจมปูอีกมากมาย ซึ่งบางส่วนอาจนำมาบริโภคได้ แต่ส่วนใหญ่จะถูกทิ้ง จึงทำให้สัตว์น้ำทั้งที่ใช้ประโยชน์ได้และเหลือทิ้งมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ราคาสัตว์น้ำแพงขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและจำนวนพันธุ์สัตว์น้ำ อันก่อให้เกิดการทำประมงอย่างไม่ยั่งยืนอีกด้วย จึงเป็นที่มาของการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของปูที่ได้จากอวนจมปู จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ได้เริ่มศึกษาตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน เช่น ความหลากชนิด ความชุกชุม และการแพร่กระจายของปูในแต่ละพื้นที่ และช่วงฤดูกาล เป็นต้น รวมถึงศึกษาการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของปู ได้แก่ ศึกษาและพัฒนาปูชนิดอื่นๆ มาเป็นอาหารทางเลือกทดแทนปูม้าและปูทะเลที่จับได้ลดลงอย่างต่อเนื่องและมีราคาแพง โดยมีการศึกษาปริมาณกรดไขมันจากทั้งปูที่มีการซื้อขายเพื่อบริโภคและปูที่พลอยจับได้จากอวนจมปูแต่ถูกทิ้งไม่ได้ใช้ประโยชน์ และศึกษาการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งในรูปของตัวดูดซับสีย้อมคองโกเรดและมาลาไคกรีน ปูป่นใช้เลี้ยงกุ้งเครย์ฟิช และปุ๋ยชีวภาพในการปลูกผักสลัดและแตงกวา เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปูที่เหลือทิ้ง และศึกษาชีวประวัติเบื้องต้นของปูดาวเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งอาหารทางเลือกเพื่อการบริโภค นอกจากนี้ยังมีการประเมินองค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำพลอยจับได้และเหลือทิ้งด้วย เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรปูและสัตว์น้ำต่างๆ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและคุ้มค่า
จากการศึกษา พบว่า ชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีปูหลากหลายชนิดถึง 95 ชนิด ซึ่งแพร่กระจายแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และฤดูกาล ปูที่พบชุกชุมมี 4 ชนิด คือ ปูม้า ปูบึ้ง ปูก้านตายาว และปูกระดุมลายส้ม และส่วนใหญ่เป็นปูหายากมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ การทำประมงอวนจมปูพบสัตว์น้ำพลอยจับได้และถูกทิ้งสูงมาก และพบว่ามีปูหลายชนิดที่ถูกทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ สูงถึงร้อยละ 88.42 ของจำนวนชนิดปูทั้งหมด (ภาพที่ 1)

สำหรับกลุ่มเป้าหมายทางการประมงอย่างปูม้า (ภาพที่ 2ก) ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 ได้แก่ EPA และ DHA เป็นปูที่นิยมบริโภคโดยทั่วไป แต่เนื่องจากมีปริมาณลดลงและมีราคาแพง ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาและเปรียบเทียบปู 6 ชนิดที่มีปริมาณกรดไขมันสูง จากการศึกษาพบว่า มีปูก้านตายาว (Popophthalmus vigil) (ภาพที่ 2ข) ปริมาณมากและราคาถูก ซึ่งมีค่ากรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่มีบทบาทสำคัญในทางสุขภาพใกล้เคียงกับปูม้า จึงควรสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคปูก้านตายาวกันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปูดาว (Portunus sanguinolentus) (ภาพที่ 2ค) ที่พบว่ามีรสชาติใกล้เคียงกับปูม้า มีปริมาณมากและราคาถูกเช่นกัน สามารถนำมาเป็นอาหารทางเลือกทดแทนปูม้าได้ด้วย จากการศึกษาพบว่า ปูดาวตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย และวางไข่ครั้งละประมาณ 150,000 ฟอง และกินอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น หอยสองฝา หอยฝาเดียว ปลา และกุ้งปู เป็นต้น ข้อมูลที่ได้นี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเพาะเลี้ยงปูดาวให้เป็นแหล่งอาหารทางเลือกหรือเลี้ยงลูกปูเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เป็นการจัดการทรัพยากรปูดาวให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศและการประมง

ในส่วนของเปลือกปูเหลือทิ้งถูกนำมาพัฒนาเป็นตัวดูดซับสีย้อมมาลาไคท์กรีนและคองโกเรด พบว่าเปลือกของปูก้านตายาวมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นตัวดูดซับทางชีวภาพมากที่สุด ในรูปแบบเปลือกปูและถ่านกัมมันต์ (ภาพที่ 3) และยังสามารถนำไปศึกษาสภาวะที่เหมาะสมที่ทำให้มีการดูดซับสูงสุดเพื่อประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมได้อีกด้วย

สำหรับปูเป้เล็ก (Dorippoides faccino) เป็นปูอีกชนิดหนึ่งพบว่ามีปริมาณมากที่สุดในบรรดาปูที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นปูป่นใช้เลี้ยงกุ้งเครย์ฟิช (ภาพที่ 4) ทำให้กุ้งเจริญเติบโตและแข็งแรงดี จึงสามารถเป็นวัตถุดิบทดแทนปลาป่นบางส่วนได้ เพื่อเป็นการลดปริมาณการใช้ปลาป่น และใช้ประโยชน์จากปูเหลือทิ้งจากอวนจมปู พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นประโยชน์ต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้

สำหรับปูเหลือทิ้งหลายชนิดได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพ โดยใช้ปูทั้งตัวนำมาบดให้ละเอียดและนำมาเตรียมเป็นน้ำหมักปู ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักปูผสมกับปุ๋ยหมัก ในการปลูกผักสลัดกรีนโอ๊คและแตงกวา พบว่า สามารถให้ผลผลิตสูง พืชผักมีใบสีเขียวสด ไม่มีรอยกัดแทะของแมลง มีความกรอบและรสชาติดี นับได้ว่าเป็นประโยชน์ในการปลูกพืชแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทนการใช้ปุ๋ยเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ภาพที่ 5)

ข้อมูลจากการศึกษาเหล่านี้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรปูและสัตว์น้ำพลอยจับได้ ภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงควรร่วมกันติดตามสภาวะการประมงและทรัพยากรเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง จะได้นำไปสู่การกำหนดมาตรการในการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสม เพื่อนำทรัพยากรปูและสัตว์น้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดและเกิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มาข้อมูล: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่: พัชราภา รัตนวิญญูภิรมย์
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
E-mail: phatcharapha.rat@ku.th