การกักเก็บคาร์บอนและการประเมินผลประโยชน์ร่วมของพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจ ณ สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

เนื่องจากป่าไม้มีบทบาทสำคัญต่อสมดุลของคาร์บอนในโลก โดยเป็นทั้งแหล่งกักเก็บและแหล่งปลดปล่อยคาร์บอนทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งระบบนิเวศป่าไม้มีการสะสมคาร์บอนอยู่ทั้งในส่วนของต้นไม้และดินผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช การหายใจของสิ่งมีชีวิต และการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนที่สะสมอยู่ในต้นไม้และดินนั้น IPCC (2006) ได้กำหนดแหล่งสะสมคาร์บอนในสภาพธรรมชาติออกเป็น 5 แหล่ง ได้แก่ แหล่งสะสมคาร์บอนเหนือดิน แหล่งสะสมคาร์บอนใต้ดิน แหล่งสะสมคาร์บอนในไม้ยืนต้นตาย แหล่งสะสมคาร์บอนของซากพืช และแหล่งสะสมคาร์บอนในดิน แต่ในขณะเดียวกันศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของป่าธรรมชาติมีความผันแปรขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ชนิดป่า ชนิดพรรณไม้ที่เป็นองค์ประกอบของป่า ความหนาแน่นของป่า สภาพภูมิประเทศ และปัจจัยสิ่งแวดล้อม โดยป่าธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ มีความหนาแน่นของไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ทำให้มีมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพสูง ในขณะนี้การกักเก็บคาร์บอนของสวนป่าไม้ที่ปลูกกันทั่วไปในประเทศไทย ได้แก่ ไม้สัก และไม้โตเร็วอื่นๆ พบว่าการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพของไม้ในสวนป่าขึ้นอยู่กับความแตกต่างของมวลชีวภาพเป็นสำคัญซึ่งมีความแตกต่างขึ้นกับชนิดต้นไม้ อายุ ระยะปลูก และสภาพของท้องที่ ตลอดจนวนวัฒนวิธีที่ใช้ในการจัดการ ส่วนใหญ่แล้วระยะปลูกที่แตกต่างกันทำให้มีจำนวนต้นไม้ต่อพื้นที่แตกต่างกัน ทำให้สวนป่า (อายุเท่ากัน) ที่มีจำนวนต้นต่อพื้นที่มากกว่ามีมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนต่อพื้นที่มากกว่า (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2552)

ภาพที่ 1 โครงสร้างของสังคมป่าดิบแล้งบริเวณสถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
test
ภาพที่ 2 โครงสร้างของสังคมป่าเต็งรังบริเวณสถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

วสันต์ จันทร์แดง, นรินธร จำวงษ์, ลดาวัลย์ พวงจิตร, ณัฐวัฒน์ คลังทรัพย์, เจษฎา วงค์พรหม และอนุชา ทะรา สังกัดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีมงานนักวิจัยของการศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และประเมินปริมาณคาร์บอนสะสม ของป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจ ในสถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมอันเนื่องจากการทำไม้ในป่าธรรมชาติโดยการปลูกฟื้นฟูและการจัดการเพื่อให้เกิดการทดแทนตามธรรมชาติ รวมทั้งจัดการปลูกสร้างสวนป่าแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มองค์ประกอบพันธุ์พืชในพื้นที่แปลงปลูกไม้เศรษฐกิจ การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างสังคมพืชและการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ที่จัดการเป็นป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจเพื่อเป็นข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ในด้านการจัดการป่าเพื่อส่งเสริมการกักเก็บคาร์บอนประเมินผลประโยชน์ร่วมจากการปลูกป่าตามแนวทางการประเมินที่จัดทำขึ้นโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยมีการวางแปลงตัวอย่าง 40×40 เมตร จำนวน 24 แปลง ในพื้นที่ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และสวนป่ายูคาลิปตัสและวัดมิติต่างๆ ของต้นไม้เพื่อนำไปประมาณหามวลชีวภาพเหนือพื้นดินและใต้ดินจากสมการแอลโลเมตรี พร้อมกันนี้ได้เก็บตัวอย่างส่วนต่างๆ ของต้นไม้เพื่อวิเคราะห์ความเข้มข้นของคาร์บอนสำหรับประเมินการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพโดยประเมินศักยภาพในการดูดซับก๊าซ จากมวลชีวภาพและปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในระบบนิเวศของป่าชนิดต่าง ๆ จากผลรวมของคาร์บอนที่สะสมทั้งหมด 5 แหล่ง

1) แหล่งกักเก็บในมวลชีวภาพเหนือดิน

2) แหล่งกักเก็บในมวลชีวภาพใต้ดิน

3) แหล่งกักเก็บในไม้ตาย

4) แหล่งกักเก็บในซากพืช

5) แหล่งกักเก็บในดิน

ภาพที่ 3 โครงสร้างของสังคมป่าเบญจพรรณบริเวณสถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ภาพที่ 4 โครงสร้างของสังคมสวนป่ายูคาลิปตัสบริเวณสถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา

ผลการศึกษาพบว่า พันธุ์ไม้ต้นมีพันธุ์ไม้จำนวนทั้งหมด 148 ชนิด ส่วนปริมาณคาร์บอนสะสม พบว่าป่าดิบแล้งมีปริมาณคาร์บอนสะสมทั้งหมดเท่ากับ 104.52 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์ โดยแบ่งเป็นการกับเก็บคาร์บอนในดิน มวลชีวภาพเหนือดิน มวลชีวภาพใต้ดิน และไม้ตายกับซากพืชร้อยละ 43, 43 ส่วนป่าเบญจพรรณมีปริมาณคาร์บอนสะสมทั้งหมดเท่ากับ 85.89 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์ โดยแบ่งเป็นการกับเก็บคาร์บอนในดิน มวลชีวภาพเหนือดิน มวลชีวภาพใต้ดิน และไม้ตายกับซากพืชร้อยละ 54, 37 ในขณะที่ป่าเต็งรังมีปริมาณคาร์บอนสะสมทั้งหมดน้อยที่สุดเท่ากับ 65.59 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์ และสวนป่ายูคาลิปตัสมีปริมาณคาร์บอนสะสมทั้งหมดน้อยที่สุดเท่ากับ 67.81 ตันคาร์บอน/เฮกตาร์ โดยปริมาณคาร์บอนสะสมส่วนมากจะอยู่ในแหล่งสะสมในดินและมวลชีวภาพเหนือพื้นดินประมาณร้อยละ 85-90 และปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในไม้ตายในบริเวณสถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว มีค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 3 ของการกักเก็บคาร์บอนรวม จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าโดยการปลูกฟื้นฟูในพื้นที่เสื่อมโทรมและการปลูกสร้างสวนป่าเชิงเศรษฐกิจแบบผสม รวมทั้งการลดความเสื่อมโทรมในพื้นที่ป่าธรรมชาติมีผลทำให้ศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของระบบนิเวศป่าไม้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ภาพที่ 5 ศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในแต่ละสังคมพืชบริเวณสถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
วสันต์ จันทร์แดง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มาข้อมูล :  วสันต์ จันทร์แดง นักวิจัย 
สำนักงานเลขานุการ คณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ : วิทวัส ยุทธโกศา 
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwwy@ku.ac.th