เห็ดกินได้ในป่าธรรมชาติ

นักวิจัย ม.เกษตร ทำการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดกินได้และศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อผลิตผลของเห็ดกินได้ในป่าธรรมชาติ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เป็นแปลงสาธิตการเพาะเห็ดป่ากินได้ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์บนพื้นฐานของศักยภาพทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดระดับชุมชน และเพิ่มพูนทางเศรษฐกิจระดับชุมชนจากการเก็บผลผลิตของเห็ดป่า

เห็ด มีความสำคัญในการย่อยสลายอินทรียสารให้เป็นแร่ธาตุ นอกจากประโยชน์มีต่อระบบนิเวศแล้ว เห็ดป่าหลายชนิดยังเป็นเห็ดที่กินได้และบางชนิดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ปัจจัยแวดล้อมหลายปัจจัยยังที่มีอิทธิพลต่อปริมาณการเกิดของเห็ด ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณของเห็ดในแต่ละปีได้

ดร.ธารรัตน์  แก้วกระจ่าง ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการทำการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดกินได้และศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อผลิตผลของเห็ดกินได้ในป่าธรรมชาติ  จากการสำรวจเห็ดกินได้ในป่าเต็งรังและป่าดิบแล้งบริเวณสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา ในช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม พ.ศ. 2560 พบเห็ดกินได้ทั้งหมด 32 ชนิด โดยพบเห็ดกินได้ในป่าเต็งรังมีค่าดัชนีความหลากชนิด 29 ชนิด สูงกว่าป่าดิบแล้ง 16 ชนิด  และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยแวดล้อมกับการปรากฏของเห็ดกินได้โดยใช้ Canonical Correspondence Analysis (CCA) พบว่าสามารถแบ่งกลุ่มเห็ดออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กลุ่มเห็ดที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความชื้นในดิน ได้แก่ เห็ดแดงน้ำหมาก (Russula emetica) เห็ดระโงกขาว (Amanita princeps) เห็ดขมิ้นเล็ก (Craterellus aureus) เห็ดขมิ้นใหญ่ (C. odoratus) เป็นต้น กลุ่มที่ 2 กลุ่มเห็ดที่พบบริเวณที่มีอุณหภูมิอากาศและความเข้มแสงรอบวันเฉลี่ยสูง ได้แก่ เห็ดตะไคลขาว (R. delica) เห็ดถ่านเล็ก (R. densifolia) เห็ดไข่เยี่ยวม้า (A. vaginata) เป็นต้น และกลุ่มที่ 3 เห็ดที่มักพบกระจายทั่วไป ได้แก่ เห็ดน้ำแป้ง (R. alborealata) เห็ดระโงกเหลือง (A. hemibapha) เห็ดหูหนู (Auricularia thailandica) เป็นต้น  นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณมวลชีวภาพของหญ้าเพ็กมีอิทธิพลต่อความหลากชนิดของเห็ดกินได้ในป่าเต็งรัง  ซึ่งหากพื้นป่ามีหญ้าเพ็กขึ้นปกคลุมหนาแน่นจนเกินไปจะส่งผลให้ปริมาณของเห็ดกินได้ลดลง

ภาพที่ 1 วางแปลงสุ่มเก็บตัวอย่างหญ้าเพ็กเพื่อนำไปหามวลชีวภาพ
ภาพที่ 2 แสดงตัวอย่างเห็ดกินได้ที่พบในพื้นที่ศึกษา

การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดกินได้และศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อผลิตผลของเห็ดกินได้ในป่าธรรมชาติ สามารถนำมาพัฒนาแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายของเห็ด อีกทั้งยังสามารถต่อยอดสร้างแปลงเพาะเห็ดป่าในสภาพธรรมชาติเพื่อเพิ่มผลิตผลของเห็ดป่าให้แก่ชุมชนท้องถิ่นได้

 

ดร.ธารรัตน์  แก้วกระจ่าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มาข้อมูล : ดร.ธารรัตน์ แก้วกระจ่าง
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ : พรรณปพร วานิชเอี๋ยวสกุล 
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474 e-mail : panpaporn.van@ku.th