แอพพลิเคชันเพื่อการเกษตร ยุค 4.0

ในโลกยุคปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาไปอย่างมาก เกษตรกรไทยจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำการเกษตรแบบใหม่ที่ตอบรับกับเทคโนโลยีในยุค 4.0 เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งการผลิตด้านการเกษตรแนวใหม่มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้วยระบบข้อมูลที่ช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร และคณะ จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้พัฒนาแอพพลิเคชันทางการเกษตรเกี่ยวกับพืช สัตว์เศรษฐกิจ และการจัดการด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลมากกว่าการใช้ประสบการณ์ในการผลิตด้านการเกษตร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเก็บเกี่ยวจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค และส่งเสริมให้เกิดความเป็นผู้นำทางการเกษตร เช่น KU Smart Feed (การคำนวณสูตรอาหารสัตว์) App-Quarium (การสร้างสูตรอาหารปลาสวยงาม) Aqua Vet (การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามน้ำจืด) Soy-Bean App (การปลูกถั่วเหลืองถั่วเขียว) หญ้าเนเปียร์เพื่อพลังงาน (การผลิตพืชเพื่อพลังงาน) ผักคนเมือง (การปลูกผักสำหรับคนเมือง) 4 Corn Production (การปลูกข้าวโพด) Agri Pro 4.0 (การแปรรูปสินค้าเกษตร) และ GAP-Check (การจัดการมาตรฐานการเกษตร) เป็นต้น ซึ่งสามารถทดลองใช้งานแอพพลิเคชันได้โดยการดาวน์โหลดทั้งในระบบ iOS และ Android

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้ารับการอบรมการใช้คู่มือและการใช้งานแอพพลิเคชันดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลและองค์ความรู้จากแอพพลิเคชันในการประกอบการตัดสินใจวางแผนการผลิต และสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางการเกษตร นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนยังสามารถนำข้อมูลจากแต่ละแอพพลิเคชันที่ถูกเก็บอย่างเป็นระบบในรูปแบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ไปใช้ในการวางแผนการจัดการในเชิงนโยบายด้านการเกษตรขององค์กรหรือประเทศต่อไปได้ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาไปสู่การเกษตรแม่นยำในอนาคต ถึงแม้มีการใช้แอพพลิเคชันช่วยในการทำการเกษตรแล้ว อย่างไรก็ตามเกษตรกรก็ยังต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจพื้นฐานและการลงมือปฏิบัติ รวมถึงการพัฒนาอาชีพตนเองให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และความพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยี จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรยุคใหม่ เพื่อให้เกษตรกรรมของไทยมีศักยภาพเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

 

 

 

 

 

 



ที่มาข้อมูล : ผศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร และคณะ
ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   พัชราภา รัตนวิญญูภิรมย์
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : phatcharapha.rat@ku.th