การพัฒนาเรือพลังงานสะอาด

นักวิจัย ม.เกษตร พัฒนาเรือพลังงานสะอาด เพื่อใช้แก้ปัญหาการคมนาคม ในการขนส่งผู้โดยสารในคลองแสนแสบทดแทนเรือเครื่องยนต์ในอนาคต

การสัญจรทางเรือ ไม่ว่าจะใช้เพื่อการท่องเที่ยว หรือเพื่อการขนส่งโดยสาร เป็นการคมนาคมที่ได้รับความนิยมมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหาการใช้เรือโดยสารในคลองแสนแสบ ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง ไอเสีย และคลื่น จากการเดินเรือ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร และชุมชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลอง อีกทั้งปัญหาทางด้านมาตรฐานความปลอดภัยของผู้โดยสารอีกด้วย

เรือพลังงานสะอาดหรือเรือพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างก้าวหน้า เช่นแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น การนำเอาเทคโนโลยีแบตเตอรี่มาใช้กับเรือไฟฟ้าจึงมีความเป็นไปได้

ผศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น จากภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล  คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และทีมนักวิจัย จึงได้ร่วมกันทำการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาเรือพลังงานสะอาดโดยการใช้พลังงานไฟฟ้า ให้เป็นเรือสำหรับให้บริการรับส่งผู้โดยสารในคลองแสนแสบ  เพื่อทดแทนเรือเครื่องยนต์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

เพื่อผลักดันงานวิจัยโดยใช้พลังงานสะอาดไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง หลังจากทีมวิจัยได้ทำการพัฒนาเรือพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทดลองให้บริการนักท่องเที่ยวในตลาดน้ำคลองลัดมะยมมาแล้ว จึงมีแนวคิดในการพัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้บริการรับส่งผู้โดยสารในคลองแสนแสบ  โดยได้ออกแบบและสร้างต้นแบบเรือไฟฟ้าให้มีความเหมาะสมกับลักษณะกายภาพการใช้งานในคลองแสนแสบ รวมถึงศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย

ความยากในการออกแบบเรือไฟฟ้า คือการออกแบบให้เรือมีความเร็วใช้งานที่จะต้องสอดคล้องกับความเร็วของเรือเครื่องยนต์ในปัจจุบัน (กรมเจ้าท่ากำหนดความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ) แต่แหล่งสะสมพลังงานในเรือมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นการออกแบบเรือไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการออกแบบ เพื่อให้เรือมีแรงต้านทานน้อยที่สุด ใช้พลังงานน้อยที่สุดและยังต้องออกแบบรูปทรงเรือที่สร้างคลื่นน้อย ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนกันคลื่นในสองฝั่งของคลองแสนแสบด้วย

การจำลองทางพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) สามารถนำมาช่วยออกแบบเรือให้ประหยัดพลังงานได้ และออกแบบระบบขับเคลื่อนเรือไฟฟ้า (ใบจักรเรือ) ให้มีประสิทธิภาพสูง สอดคล้องกับขนาดและความเร็วรอบของมอเตอร์ไฟฟ้า การใช้การจำลองทางพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) จึงได้รับความนิยมนำมาช่วยในการออกแบบเรือในปัจจุบัน ซึง่สามารถช่วยประหยัดต้นทุน และสามารถลดระยะเวลาการออกแบบได้เป็นอย่างดี

การพัฒนาเรือไฟฟ้าสำหรับขนส่งผู้โดยสารยังจำเป็นต้องผ่านการศึกษาเงื่อนไข และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อนำมาพิจารณาร่วมกับการออกแบบในทางวิศวกรรม เรือไฟฟ้าสำหรับขนส่งผู้โดยสารจึงจะสามารถนำมาใช้ทดแทนเรือเครื่องยนต์ได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ผศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น

              ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานประชุมวิชาการประเพณี 4 สถาบัน

กองทัพเรือ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหิดล ครั้งที่ 20 

วันที่ 31 สิงหาคม 2561 ณ หอประชุมกองทัพเรือ

หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น

ภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล

คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา

เรื่อง/สื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th