เชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อพลังงานสีเขียว
การพัฒนาประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจมีพลังงานเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ แต่การใช้พลังงานจากแหล่งปิโตรเลียมหรือก๊าซธรรมชาติมีแต่จะหมดลงทุกวัน ประเทศไทยไม่สามารถผลิตพลังงานเหล่านี้ได้เองให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ภาครัฐจึงมีการสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตขึ้นได้เองภายในประเทศให้มากขึ้น
การใช้พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนในท้องถิ่นของประเทศไทย ทั้งเพื่อการใช้กันเองในท้องถิ่น หรือการผลิตเพื่อเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำชีวมวลและไม้โตเร็วที่สามารถผลิตได้ในพื้นที่มาใช้ในการผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน
อย่างไรก็ตามการนำชีวมวลมาใช้ประโยชน์ในแง่พลังงานยังมีข้อด้อยเป็นปัญหาบางประการ อาทิ ในเรื่องของพลังงานต่อหน่วยน้ำหนักไม่สูง มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอและความหนาแน่นต่ำ ไม่สะดวกในการขนส่ง รวมถึงมีปริมาณไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี และยังไม่สามารถจัดเก็บไว้ได้นานอีกด้วย
ดร.พงษ์ศักดิ์ เฮงนิรันดร์ และคณะนักวิจัย จากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ BlacK Pellet เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอีกประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิงดีกว่าไม้พลังงาน ชิ้นไม้สับ (wood chip) และเชื้อเพลิงอัดเม็ด (wood pellet) โดยพัฒนาขึ้นเป็นต้นแบบในการใช้พลังงานสีเขียวเบื้องต้นอย่างครบวงจร เนื่องจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสถานีฝึกนิสิตที่มีความร่วมมือกับชุมชนอยู่แล้วในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา จึงทำการพัฒนารูปแบบการใช้ประโยชน์ชีวมวลที่มีอยู่ในพื้นที่ร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถเป็นชุมชนต้นแบบเพื่อสาธิตและวิจัยการใช้ประโยชน์ชีวมวลเพื่อเป็นพลังงานสีเขียวต่อไป สามารถสร้างงานในชุมชน เพิ่มรายได้ และความมั่นคงทางด้านพลังงานภายในชุมชนเอง
กระบวนการผลิตและคุณสมบัติของ Black Pellet
กระบวนการผลิต Black Pellet ในงานวิจัยนี้ เริ่มจากการนำเศษไม้ยางพารามาเข้าเครื่องสับ (chipper) ได้ชิ้นไม้สับออกมา แล้วนำไปผ่านเครื่องอบ (dryer) เพื่อลดความชื้นของชิ้นไม้สับลง จากนั้นชิ้นไม้สับจะถูกส่งเข้าเครื่องTorrefaction Reactor ซึ่งทางคณะผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้น จะได้ชิ้นไม้สับที่มีคุณสมบัติกึ่งไม้กิ่งถ่านออกมา จากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการเดียวกับการผลิต Wood Pellet/White Pellet คือการบดขนาด ควบคุมความชื้น แล้วอัดให้เป็นเม็ด ทิ้งไว้ให้เย็นตัวลง แล้วบรรจุเพื่อส่งขายต่อไป
จากการประเมินคุณสมบัติทางเชื้อเพลิง พบว่า Black Pellet ที่ผลิตด้วยกระบวนการดังกล่าว จะมีค่าความร้อน Energy Density ที่สูงกว่า White Pellet ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง มีปริมาณสรระเหยที่น้อยกว่า จึงปลอดภัยในการใช้งานมากกว่า และสามารถจัดเก็บไว้ได้ยาวนานโดยไม่ต้องกังวลต่อการเข้าทำลายของศัตรูเนื้อไม้และไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องความชื้นด้วย
การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อพลังงานสีเขียวให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน จากวัสดุชีวมวลที่มีอยู่ในท้องถิ่น ก่อให้เกิดผลดีในด้านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นทางเลือกของพลังงานทดแทนที่ดีทางหนึ่งที่เหมาะสมกับชุมชนของประเทศไทย
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
ดร.พงษ์ศักดิ์ เฮงนิรันดร์ |
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เจ้าของผลงาน : ดร.พงษ์ศักดิ์ เฮงนิรันดร์ และคณะนักวิจัย ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |