วัคซีนป้องกันไวรัสชนิดใหม่ในปลานิลและปลานิลแดง

นักวิจัย ม.เกษตร พัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสสาเหตุของโรคตายเดือนในปลานิลและปลานิลแดง เพิ่มอัตราการรอดตาย และลดอัตราป่วยจากเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ ลดการนำเข้ายาและสารเคมีจากต่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการเลี้ยงปลา  ช่วยให้ปลาปลอดโรค เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ปลานิลและปลานิลแดง เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน อินโดนีเซีย อียิปต์ ฟิลิปปินส์ และอิสราเอล เป็นต้น  สำหรับประเทศไทย ปลานิลและปลานิลแดงจัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมและปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว จึงมีการเพาะเลี้ยงทำเป็นฟาร์มปลานิลมากที่สุด ประมาณกว่า 200,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 9,700 ล้านบาทต่อปี การเลี้ยงปลานิลในประเทศไทยมีทั้งรูปแบบกระชังและบ่อดินตามแหล่งน้ำสำคัญทั่วทุกภูมิภาค มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้มากกว่า 300,000 ครอบครัว  ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลและปลานิลแดงในประเทศไทยมักประสบปัญหาการระบาดของโรคตายเดือน โดยพบการตายในช่วงหนึ่งเดือนแรกที่ย้ายปลาลงเลี้ยงในกระชังหรือบ่อดิน จึงเรียกว่า “โรคตายเดือน” อัตราการตายอยู่ระหว่าง 20- 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด  แต่ลูกปลาที่รอดตายจากปัญหานี้หรือที่ผ่านเชื้อขนาด 10-30 กรัม จะมีราคาสูงขึ้นอย่างน้อยตัวละ 2-4 บาท ประเมินความเสียหายจากปัญหาโรคตายเดือนจะมีจำนวนลูกปลาสูญเสียระหว่าง 200-300 ล้านตัว  ถ้าลูกปลาราคาตัวละ 1 บาท มูลค่าทางเศรษฐกิจของปัญหานี้อาจสูงถึง 300 ล้านบาทต่อปี

ผศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และคณะผู้วิจัย ได้ทำการศึกษาสาเหตุของปัญหาโรคตายเดือน โดยนำตัวอย่างปลาที่มีอาการตายเดือนมาตรวจวิเคราะห์ ทำให้ทราบว่าเชื้อที่ก่อโรคตายเดือน เป็น “ไวรัสชนิดใหม่” ที่เรียกว่า Tilapia Lake Virus  (TiLV) ที่ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนในประเทศไทย จากการวิจัย พบว่า ปลาที่รอดตายจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้และไม่พบความเสียหายอีกตลอดช่วงเวลาที่เหลือของการเลี้ยง  ดังนั้นการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ชนิดนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมนี้เป็นการพัฒนาวัคซีนทั้งในรูปแบบเชื้อตายและเชื้อเป็นเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่ในปลานิลและปลานิลแดง รวมถึงกรรมวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อและการตรวจวินิจฉัยโรคในปลาที่ติดเชื้อ

การวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีน TILAVAC เพื่อป้องกันโรคตายเดือนที่เกิดจากเชื้อไวรัสอุบัติใหม่สายพันธุ์ไทยในปลานิลและปลานิลแดง ที่เรียกว่า ทิลาเปียเลคไวรัส  ประกอบด้วย การเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณเชื้อที่มากเพียงพอ  การทำให้เชื้ออ่อนแรง (เชื้อเป็น)  หรือฆ่าด้วยสารเคมี (เชื้อตาย) การเตรียมแอนติเจนสำหรับผลิตเป็นวัคซีน การพัฒนาวิธีตรวจหาปริมาณเชื้อในปลาที่ได้รับวัคซีน หรือติดเชื้อในธรรมชาติ การพัฒนาวิธีตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันในปลาที่ได้รับวัคซีน และการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนาม วัคซีนจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของปลาให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ช่วยเพิ่มอัตราการรอดตายประมาณ 65-70% เปรียบเทียบกับปลาที่ไม่ได้รับวัคซีน ช่วยลดปัญหาปลาตายเดือนที่สร้างความเสียหายของเกษตรกร วัคซีนที่พัฒนาขึ้นนี้ มีทั้งแบบให้โดยการฉีดและโดยการแช่ในน้ำ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันปลา ทำให้เพิ่มอัตราการรอดตาย และลดอัตราป่วยจากเชื้อไวรัสอุบัติใหม่  ลดการใช้ยาและสารเคมีที่ไม่จำเป็น  ลดการนำเข้ายาและสารเคมีจากต่างประเทศ ช่วยลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการเลี้ยงปลา  เป็นการลดปัญหาเชื้อดื้อยา ขณะเดียวกันเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ผศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์

ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561

“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”

เจ้าของผลงาน  :  ผศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ และคณะวิจัย

                   ภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน

                   คณะสัตวแพทยศาสตร์

                   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลิตสื่อเผยแพร่  :วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

                    ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                   สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                   โทร. 02 561 1474

                   e-mail : rdiwan@ku.ac.th