เทคโนโลยีสีเขียว 3 : สารเคลือบนาโนกันน้ำและต้านเชื้อรา
นักวิจัย ม.เกษตร พัฒนาเทคโนโลยีการสังเคราะห์อนุุภาคนาโนเงินในสารละลายไคโตซาน เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สารเคลือบกันน้ำ ต้านเชื้อรา โดยประยุกต์ใช้เป็นสารเติมแต่งผสมเป็นสารเคลือบบนกระดาษ บรรจุภัณฑ์ หรือผสมในสีทาพื้นผิวสิ่งก่อสร้าง เพื่อป้องกันการซึมผ่านของน้ำ หรือยับยั้งกรเจริญเติบโตของเชื้อราบนพื้นผิวของวัสดุก่อสร้าง หรือผนังที่ต้องสัมผัสกับความชื้น
สารประกอบของซิลเวอร์ ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการบำบัดน้ำเสีย และในปัจจุบันพบว่าอนุภาคนาโนเงินที่มีขนาดอนุภาคเล็กกว่า 20 นาโนเมตร มีพื้นที่ผิวสูง และมีการกระจายตัวที่ดี มีประสิทธิภาพในการยับยั้งจุลินทรีย์ได้มากกว่าสารประกอบที่ยังอยู่ในรูปแบบที่มีขนาดใหญ่
ผศ.ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์ จากภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงทำการศึกษาหากระบวนการในการสังเคราะห์อนุภาคนาโนเงินที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นสารเติมแต่งสำหรับสารเคลือบผิววัสดุ หรือสีทาวัสดุ รวมถึงซีเมนต์ เพื่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้เทคโนโลยีสีเขียวในกระบวนการสังเคราะห์อนุภาคนาโน ด้วยตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับการลดและหลีกเลี่ยงของเหลือทิ้งที่ก่อให้เกิดมลภาวะ
งานวิจัยนี้ ใช้การสังเคราะห์อนุภาคนาโนเงินในสารละลายไคโตซาน ด้วยการสังเคราะห์แบบเทคโนโลยีสีเขียว โดยการฉายรังสีด้วยลำอิเล็กตรอนจากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน การเหนี่ยวนำด้วยลำอิเล็กตรอนผ่านปฏิกิริยาราดิโอไลซีส ศึกษาผลกระทบของปริมาณรังสีดูดกลืน น้ำหนักโมเลกุลของไคโตซานที่ใช้เป็นสารคงสภาพ ความเข้มข้นของสารตั้งต้น ฯลฯ ที่มีผลต่อการเกิดขึ้นของอนุภาคนาโนเงินภายใต้การฉายด้วยลำอิเล็กตรอน ศึกษาปัจจัยในการควบคุมลักษณะ ขนาด จำนวน น้ำหนักโมเลกุล ความเข้มข้นของสารตั้งต้น ฯลฯ ตลอดจนเสถียรภาพของอนุภาคนาโนเงิน ศึกษาความสามารถในการยับยั้งเชื้อราที่มักตรวจพบบนพื้นผิวที่มีความชื้น ศึกษาเสถียรภาพของอนุภาคนาโนเงินในสภาวะการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่างๆ ซึ่งผลจากการทดลอง พบว่า ลำอิเล็กตรอนสามารถใช้ผลิตอนุภาคนาโนเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้การสังเคราะห์ร่วมกับการใช้ไคโตซานเพื่อเป็นสารคงสภาพให้กับอนุภาคนาโนเงิน เพื่อให้สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้เป็นสารตัวเติมในผลิตภัณฑ์เคลือบผิววัสดุต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงการผสมในสีสำหรับทาซีเมนต์ในงานก่อสร้างเพื่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
ผศ.ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์ |
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” และโครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก. เจ้าของผลงาน : ผศ.ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียบเรียง/ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |