เทคโนโลยีสีเขียว2 : ปุ๋ยนาโนอัจฉริยะ
นักวิจัย ม.เกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์นาโนเจลไคโตซานโครงร่างตาข่าย เป็นระบบควบคุมและปลดปล่อยธาตุไนโตรเจน สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยจากพอลิเมอร์
ปุ๋ยไนโตรเจน นับเป็นเคมีเกษตรที่สำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากปุ๋ยไนโตรเจนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสังเคราะห์และถ่ายเทพลังงานของพืชนำไปสู่การเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิต ปุ๋ยไนโตรเจนจึงถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีลดต่ำลงได้โดยง่ายจากการชะล้าง การเสื่อมสลาย และการระเหยไปในสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์ จากภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีแนวคิดในการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเกษตรโดยการพัฒนาพอลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ด้วยการใช้ไคโตซานนาโนเจลโครงร่างตาข่ายที่มีคุณสมบัติในการตรึงไอออนของธาตุไนโตรเจน สำหรับใช้เป็นระบบควบคุมการดูดจับและควบคุมการปลดปล่อยปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยลดการสูญเสียไนโตรเจนไปในสิ่งแวดล้อม และลดอัตราการใช้ปุ๋ยเกินจำเป็น รวมทั้งลดความเป็นพิษต่อพืชและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้กระบวนการพอลิเมอไรเซชันด้วยกระบวนการทางรังสี ทำการศึกษาสมบัติของนาโนเจลที่ใช้ในการดักตรึงธาตุไนโตรเจน และการดูดซับน้ำรวมถึงการปลดปล่อยธาตุไนโตรเจน จนได้พัฒนาเป็นวัสดุนาโนเจลโครงร่างตาข่ายของไคโตซานที่มีคุณสมบัติในการตรึงไอออนของธาตุไนโตรเจนได้เพื่อใช้ในผลิตปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อการเกษตร เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาดบนหลักการแบบเคมีสีเขียว เนื่องจากการใช้พอลิเมอร์ชีวภาพเป็นการลดการตกค้างและการสะสมของสารเคมี นับเป็นการพัฒนาเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
ผศ.ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์ |
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เจ้าของผลงาน : ผศ.ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียบเรียง/ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |