เทคโนโลยีสีเขียว 1 : พลาสติกห่วงใยสุขภาพ

เพิ่มทางเลือกให้กับการใช้พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรหมุนเวียน ด้วยนวัตกรรมสารเติมแต่งต้านอนุมูลอิสระจากพอลิแลคติกแอซิดหลายกิ่งก้าน สำหรับใช้เป็นสารเติมแต่งในกระบวนการผลิต  “พลาสติกห่วงใยสุขภาพ”

ปัจจุบันการนำพลาสติกทางชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พอลิแลคติกแอซิดที่สังเคราะห์มาจากข้าวโพด มันสำปะหลัง มาใช้ทดแทนพลาสติกสังเคราะห์จากสารปิโตรเคมี ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้โดยจุลชีพในธรรมชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการขึ้นรูปด้วยความร้อน หรือการทำให้ปลอดเชื้อด้วยรังสี หรือในระหว่างการใช้งาน จะก่อเกิดอนุมูลอิสระจำนวนมากเกิดขึ้นในพลาสติกส่งผลให้คุณสมบัติของพลาสติกเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสภาพลง จึงต้องมีการใช้สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) เป็นสารเติมแต่งในพลาสติก เพื่อดักจับอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น แต่สารต้านอนุมูลอิสระหรือสารที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพ เช่น สารในกลุ่มฟินอล กลุ่มอนุพันธ์เอมีน และสารต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากธรรมชาติ มักเป็นสารโมเลกุลเล็กหรือมีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ จึงเกิดการหลุดออกจากพลาสติกที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้โดยง่ายภายใต้สภาวะการใช้งาน หรือสัมผัสกับของเหลวทั้งน้ำและไขมัน สารต้านอนุมูลอิสระที่หลุดเล็ดลอดหรือเคลื่อนย้ายออกมาในสารละลายอาหาร รวมถึงร่างกายมนุษย์ ย่อมก่อให้เกิดอันตรายและผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้อุปโภคและบริโภค รวมถึงสิ่งแวดล้อมได้

ผศ.ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์ จากภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาสารเติมแต่งต้านอนุมูลอิสระจากพอลิแลคติกแอซิดรูปร่างคล้ายดาวที่มี 4 แขน เพื่อใช้ในการดักจับอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น

สารเติมแต่งพัฒนาขึ้นจากพอลิเมอร์ชีวภาพ ได้แก่ ไคโตซาน หรือพอลิแลคติกแอซิด โดยการดัดแปรงให้มีโครงสร้างเสริมการจับอนุมูลอิสระและเข้ากันได้กับพลาสติกชีวภาพพอลิแลคติกแอซิด เพื่อใช้เป็นสารจับอนุมูลอิสระในพลาสติกที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการขึ้นรูปทางความร้อน ระหว่างการใช้งาน หรือการผ่านกระบวนการทำปลอดเชื้อด้วยความร้อน หรือการฉายรังสีฆ่าเชื้อ การเชื่อมต่อโมเลกุลที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระลงบนสายโซ่พอลิเมอร์ หรือโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จึงเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยยึดตรึงสารต้านอนุมูลอิสระไม่ให้เล็ดลอดออกจากเนื้อพอลิเมอร์ สารเติมแต่งนี้จึงสามารถช่วยลดการหลุดของสารต้านอนุมูลอิสระออกนอกพลาสติกไปสู่อาหาร

นวัตกรรมในการพัฒนาสารเติมแต่งฐานพอลิแลคไทด์ต้านอนุมูลอิสระสำหรับพอลิแลคติกแอซิดรูปร่างคล้ายดาวหลายกิ่งก้านนี้ มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเพื่อการประยุกต์ใช้เป็นพลาสติกสำหรับใช้ทางการแพทย์ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์อาหาร นับเป็นพลาสติกห่วงใยสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ดังนั้นกระบวนการผลิตพลาสติกห่วงใยสุขภาพ จึงเป็นการใช้เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสังเคราะห์และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม  อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ผศ.ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561

“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”

เจ้าของผลงาน : ผศ.ดร.วรรณวิมล ปาสาณพันธ์

ภาควิชาวัสดุศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th