ลดการแพร่กระจายของสัตว์พาหะด้วยเครื่องพ่นไอเย็นอิ่มตัวของน้ำหมักอีเอ็ม
เครื่องฉีดพ่นไอเย็นอิ่มตัวของน้ำหมักอีเอ็มไร้มลพิษ เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของสัตว์พาหะในอาคารที่พักและห้องประกอบอาหาร สามารฉีดพ่นละอองฝอยน้ำหมักชีวภาพเข้าถึงทุกซอกมุมอย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีการกำจัดสัตว์พาหะ เช่น หนู และแมลงสาบ ส่วนใหญยังนิยมใช้สารเคมีในการกำจัด ซึ่งหลังจากกระบวนการกำจัดด้วยสารเคมีมักจะพบปัญหาสารเคมีตกค้าง และสัตว์พาหะเหล่านั้นก็ยังกลับมาสร้างรังที่อยู่ดังเดิมอีก ทำให้ต้องทำการกำจัดซ้ำๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณห้องครัว ห้องอาหาร โรงอาหาร และอาคารที่พัก สัตว์เหล่านี้เป็นพาหะนำโรค สร้างภาระทั้งทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจในระดับบุคคลและระดับประเทศ ผู้คนจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการติดเชื้อ เกิดผลด้านสุขภาพกายและจิตใจ ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขในระดับประเทศ ปัญหาสัตว์พาหะนำโรคเหล่านี้สร้างปัญหาอย่างมากต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค รวมทั้งภาพลักษณ์ชื่อเสียงของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ยกตัวอย่างเช่น กรณีร้านอาหารชื่อดังที่ปรากฏคลิปวิดีโอที่ถ่ายจากผู้ใช้บริการ พบหนูวิ่งอยู่บนชั้นวางอาหาร หรือกรณีปัญหาในการกำจัดสัตว์พาหะแล้วพบสารตกค้างในบริเวณที่กำจัด ทำให้มีผลเป็นอันตรายต่อผู้ที่ทำงานในบริเวณนั้น
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการทำวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กับเครือโรงแรมเอเชีย ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัย พบว่าการใช้น้ำหมักชีวภาพอีเอ็ม ฉีดพ่นไปในบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์พาหะ สามารถทำให้การแพร่กระจายของสัตว์พาหะลดลงได้และยังช่วยกำจัดกลิ่นในบริเวณที่ฉีดพ่นได้อีกด้วย แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของอุปกรณ์การฉีดพ่นน้ำหมักอีเอ็ม ทำให้อนุภาคของละอองที่ฉีดพ่นออกมามีอนุภาคที่ใหญ่ ไม่สามารถแทรกเข้าไปในพื้นที่ตามซอกตามมุมได้ดี รวมทั้งความสูงของเพดานทำให้การฉีดพ่นละอองกระจายไม่ทั่วถึง
ทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดยอาจารย์ วรพจน์ ศตเดชากุล และดร. เบญญา กสานติกุล จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และทีมวิจัยซึ่งเป็นนิสิตจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มีสมาชิกทีม 8 คน ประกอบด้วย นายกฤษฏา ไกยรัตน์ นางสาวศิริวรรณ ศรีสมุทร นายจิรายุทธ พลดอน นายอัครพนธ์ แสวงกิจ นายชัยพร เลิศมณีพงศ์ นายวัชรพล กิตวิรยานนท์ นายพงษ์ศธร ปุราทะกา นายชาตรี ตวงมณีต่อวงศ์ ได้ร่วมกันทำการออกแบบและประดิษฐ์เครื่องฉีดพ่นไอเย็นอิ่มตัวของน้ำหมักอีเอ็ม(EM micro Droplet Spraying) เพื่อลดการแพร่กระจายของสัตว์พาหะในอาคารที่พักและห้องประกอบอาหาร เป็นงานวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานและสามารถแก้ปัญหาที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติได้จริง ซึ่งทีมวิจัยได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องฉีดพ่นไอเย็นอิ่มตัวของน้ำหมักอีเอ็มและนำไปทำการทดสอบในพื้นที่ของโรงประกอบอาหารของกลุ่มโรงแรมเอเชียอย่างต่อเนื่อง มีการปรับเปลี่ยนกลไกและวัสดุ โดยตัวเครื่องรุ่นที่สองจะมีขนาดเล็กลงและน้ำหนักเบาลงกว่าเครื่องรุ่นแรก เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายนำไปใช้งานในพื้นที่ที่จำกัด มีการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าที่ใช้ จากไฟฟ้ากระแสสลับมาใช้เป็นไฟฟ้ากระแสตรงแทน เนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยที่อาจเกิดการรั่วของไฟฟ้าเมื่อต้องใช้งานในสถานที่ที่มีความชื้นสูงภายในห้องประกอบอาหาร
การทำงานของเครื่องใช้วิธีการทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในระหว่างโมเลกุลของน้ำหมักชีวภาพ เกิดการแตกตัวเป็นละออง แล้วให้ไอเย็นอิ่มตัวที่ผลิตขึ้นถูกผลักดันด้วยพัดลมที่อยู่ภายนอกของเครื่อง ดันไอเย็นอิ่มตัวจากภายในตัวเครื่องขึ้นไปยังปากกระบอก และจะถูกพัดลมที่อยู่ตรงบริเวณปากกระบอกดูดไอเย็นอิ่มตัวจากภายในท่อให้เคลื่อนตัวออกไปตามท่อลำเลียง และเพื่อไม่ให้เกิดการควบแน่นจึงต้องมีพัดลมติดอยู่ที่บริเวณปากท่ออีก ด้วยกระบวนการดังกล่าวสามารถทำให้เครื่องเกิดไอเย็นอิ่มตัวในปริมาณมาก น้ำหมักชีวภาพจึงเข้าถึงทุกซอกทุกมุมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ใช้สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องฉีดพ่นไอเย็นไปใช้ฉีดพ่นยังพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์พาหะ เพื่อขับไล่สัตว์พาหะต่างๆ ซึ่งมักอาศัยอยู่ในพื้นที่แคบๆ ที่เป็นซอกมุม หรือพื้นที่ที่อยู่สูง เช่น ช่องแอร์ได้อย่างทั่วถึง ได้อย่างง่ายดาย
เครื่องลดการแพร่กระจายของสัตว์พาหะในอาคารที่พักและห้องประกอบอาหารด้วยไอเย็นอิ่มตัวของน้ำหมักอีเอ็มไร้มลพิษ (EM Stream Disrupter) ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับดีเด่น กลุ่มสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ในการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2560 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017) ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2560 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ และ วันนักประดิษฐ์ 2561 ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และยังได้รับถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และเหรียญทอง รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประเภทอุดมศึกษา กลุ่มที่ 3 สิ่งประดิษฐ์เพี่อพลังงาน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ในงาน วันนักประดิษฐ์ 2561
ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย และหน่วยงานในระบบวิจัย ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
อาจารย์ วรพจน์ ศตเดชากุล ดร. เบญญา กสานติกุล |
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เจ้าของผลงาน : ทีมวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล อาจารย์ที่ปรึกษา : อาจารย์ วรพจน์ ศตเดชากุล และ ดร. เบญญา กสานติกุล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |