เครื่องสีข้าวส่วนบุคคล ขนาดจิ๋วแต่คุณภาพแจ๋ว
หลังจากพัฒนาเครื่องสีข้าวรุ่นต่างๆออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 10 ปี ผลงานชิ้นล่าสุดของทีมนักวิจัยโครงการพัฒนาเครื่องสีข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ เครื่องสีข้าวส่วนบุคคล ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่เต็มเปี่ยมประสิทธิภาพ เพื่อการใช้ชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ใช้สีข้าวเมื่อต้องการที่จะบริโภค ในเวลาและปริมาณที่ต้องการ เพื่อให้ได้ความสดใหม่ของข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน
รศ. ดร.ศักดา อินทรวิชัย ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยทีมคณะนักวิจัย ได้ทำการพัฒนาต่อยอดเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เป้าหมายการออกแบบเพื่อการใช้งานในระดับครัวเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องสีข้าวจากรุ่นเดิมและเพิ่มประสิทธิผลการสีข้าว ให้เหมาะกับการใช้งานในระดับครัวเรือน เพื่อสอดคล้องกับการใช้ชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสีข้าวเมื่อต้องการที่จะบริโภค ได้ความสดใหม่ของข้าว ด้วยปริมาณที่พอเหมาะกับการบริโภค
จุดเด่นของเครื่องสีข้าวส่วนบุคคลรุ่นนี้ คือมีขนาดเล็กกะทัดรัด วัสดุทำด้วยสเตนเลส ความกว้าง 20 เซ็นติเมตร ยาว 45 เซ็นติเมตร สูง 40 เซ็นติเมตร มีการปรับเปลี่ยนวัสดุให้มีน้ำหนักลดลง เหลือน้ำหนักเพียง 5 กิโลกรัม จึงสามารถเคลื่อนย้าย นำไปจัดวางในที่ที่สะดวกในการใช้งาน กินไฟเพียง 300 วัตต์ ความสามารถในการสีข้าว 300 กรัมข้าวเปลือกต่อครั้ง ใช้เวลาเพียง 5 นาทีต่อครั้ง ก็ได้ข้าวสารสดใหม่ พอทานได้ต่อมื้อ แต่ถ้าต้องการปริมาณมากขึ้น ก็สามารถใส่ข้าวเปลือกลงไปสีได้อย่างต่อเนื่อง จะได้ข้าวสารประมาณ 12 กิโลกรัมต่อชั่วโมง โดยข้าวเปลือก 300 กรัม จะได้ข้าวขาวประมาณ 60 % หรือ 180 กรัม ที่เหลือ 40 % หรือประมาณ 140 กรัม จะเป็นส่วนของรำข้าวและแกลบ
เครื่องสีข้าวส่วนบุคคลขนาดจิ๋ว ได้รับการพัฒนาปรับปรุงหลักการทำงานและชิ้นส่วนประกอบบางอย่างจากรุ่นก่อนๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน สามารถใช้สีข้าวได้หลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าเมล็ดข้าวจะมีขนาดเล็ก ใหญ่ หรือมีลักษณะ กลม สั้น ยาว การใช้งาน โดยนำข้าวเปลือกใส่ในช่องป้อนข้าวซึ่งติดตั้งอยู่ส่วนบนของเครื่อง ดึงเปิดลิ้นปล่อยข้าวเปลือกให้ไหลลงเข้าสู่ห้องขัด ข้าวเปลือกจะถูกขัดด้วยความเสียดทานที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของข้าวเปลือกผ่านชิ้นส่วนตะแกรงขัดและเพลาขัดที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ผู้ใช้สามารถหมุนปุ่มที่อยู่ด้านข้างเพื่อปรับแต่งระดับการสีได้ตามต้องการ เพื่อให้ข้าวที่สีได้เป็นข้าวสาร ข้าวซ้อมมือ หรือข้าวกล้อง ด้านข้างของตัวเครื่องมีกล่องแยกข้าว 2 กล่อง กล่องด้านขวารองรับข้าวที่สีแล้ว และส่วนที่เป็นแกลบ หรือรำข้าวจะตกลงมาที่กล่องด้านซ้าย มีเซ็นเซอร์ควบคุมระบบการทำงาน เช่น สามารถควบคุมอุณหภูมิ ด้วยระบบตัดไฟอัตโนมัติถ้าใช้งานนานจนอุณหภูมิขึ้นสูงเกินกำหนด หรือถ้าเปิดเครื่องไว้แต่ไม่มีการใส่ข้าวเปลือกลงไปอย่างต่อเนื่องภายใน 10 วินาที เป็นต้น
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย |
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เจ้าของผลงาน : รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย และคณะผู้วิจัย ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |