เครื่องสีข้าวสำหรับชุมชน
เทคโนโลยีของคนไทย ทำการจำลองกระบวนการทำงานของโรงสีข้าว ย่อให้เป็นเครื่องสีข้าวที่มีขนาดเล็กพอเหมาะสำหรับใช้ในระดับชุมชน สะดวกในการเคลื่อนย้ายติดตั้งยังสถานที่ที่ต้องการ สามารถปรับให้เหมาะกับการสีข้าวเปลือกได้หลากหลายสายพันธุ์ตามขนาดรูปร่างลักษณะของสายพันธุ์ข้าว ปรับระดับการสีให้เป็นได้ทั้งข้าวขาว ข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ มุ่งใช้วัสดุในประเทศเป็นหลัก โดยมีแนวคิดออกแบบพัฒนาเป็นเครื่องสีข้าวตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย แต่กว่าจะได้มาเป็นข้าวสาร ต้องนำข้าวเปลือกผ่านกระบวนการแปรรูปโดยโรงสีข้าวหรือเครื่องสีข้าว ดังนั้นเครื่องสีข้าวจึงเป็นเครื่องจักรกลการเกษตรที่สำคัญและจำเป็นยิ่งในกระบวนการผลิตข้าวของประเทศ
รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย อาจารย์ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาเครื่องสีข้าว ร่วมกับทีมนักวิจัยในโครงการ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัย และออกแบบเครื่องสีข้าวที่มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และผลผลิตข้าวของเกษตรกรไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยมีแนวคิดในการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมและสอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชาวนาไทย สามารถพึ่งพาตนเองในการผลิตข้าวได้อย่างครบวงจร รวมทั้งลดภาวะการขาดดุลการค้าเครื่องจักรกลการเกษตรด้วย
แนวคิดโดยการจำลองขั้นตอนการทำงานของโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ออกแบบเป็นเครื่องสีข้าวที่มีขนาดพอเหมาะสำหรับใช้ในระดับชุมชน มุ่งสร้างโอกาสให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถรวมกลุ่มกันผลิตข้าวสารได้เองอย่างครบวงจร เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อสามารถปลูกข้าวและทำการสีข้าวได้เอง เป็นการช่วยลดต้นทุนการแปรรูปข้าวเปลือกที่ไม่ต้องพึ่งการสีข้าวของโรงสีข้าว
ทีมนักวิจัยได้ออกแบบพัฒนาเครื่องสีข้าวชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับปรุง ต่อยอดมาหลายรุ่น ที่นำออกแสดงในงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2561 เป็นเครื่องสีข้าวชุมชน ที่มีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 1.5 เมตร ความสูง 1.75 เมตร ใช้มอเตอร์ขนาด 3 แรงม้า มีน้ำหนัก 230 กิโลกรัม สามารถทำการสีข้าวได้ 100 กิโลกรัมข้าวเปลือกในเวลา 1 ชั่วโมง การทำงานของเครื่องจะทำการกะเทาะแกลบโดยใช้ลูกยางขนาด 150X70 มิลิเมตร มีชุดแยกสิ่งเจือปนออกจากเมล็ดข้าวเปลือก มีชุดแยกข้าวเปลือกออกจากข้าวกล้อง สามารถปรับระดับการสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร ข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือได้ตามต้องการ โดยแยกข้าวที่สีแล้วออกมาทางช่องลำเลียงข้าว แยกช่องลำลียงแกลบ และรำข้าวออกจากกันอีกต่างหาก
เครื่องสีข้าวขนาดเล็กสำหรับชุมชนเป็นผลงานวิจัยที่มีศักยภาพใช้งานได้จริงและได้รับการต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย |
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เจ้าของผลงาน : รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย และคณะผู้วิจัย ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |