มันสำปะหลังทูอินวัน พันธุ์เคยู-สกลนคร

มันสำปะหลังทูอินวัน “พันธุ์เคยู-สกลนคร” เป็นพันธุ์มันสำปะหลังจากการปรับปรุงพันธุ์ของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีศักยภาพใช้ประโยชน์ได้ 2 อย่างในพันธุ์เดียว ใบมันใช้ผลิตอาหารสัตว์ หัวมันใช้สำหรับอุตสาหกรรม

 

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ความต้องการมันสำปะหลังเพื่อใช้ภายในประเทศและเพื่อส่งออกอยู่ในปริมาณที่สูง  โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังแปรรูปรายใหญ่ในตลาดโลก มันสำปะหลังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ แปรรูปเป็นแป้งเพื่อการบริโภคและเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งใช้ในการผลิตเอทานอลสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานด้วย  

ในฤดูการผลิต ปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ประมาณ 9.06 ล้านไร่ มีผลผลิต 31.16 ล้านตัน เฉลี่ย 3.44 ตัน/ไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งประกอบด้วย 12 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย มุกดาหาร นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และบึงกาฬ มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังรวม 1.69 ล้านไร่ คิดเป็น 18.2%ของพื้นที่ปลูกทั้งหมดของประเทศ  ผลิตมันสำปะหลังได้  5.70 ล้านตัน คิดเป็น 18.28 %   เฉลี่ย 3.30 ตัน/ไร่ ซึ่งต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ  ทำให้เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาได้ผลผลิตน้อย ส่งผลให้รายได้ของเกษตกรน้อยกว่าภาคการผลิตอื่นๆ 

เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และช่วยแก้ปัญหารายได้ของเกษตรกร หรือราคาหัวมันสำปะหลังตกต่ำ ด้วยการเพิ่มผลผลิตหัวมันสดให้มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ที่สูงขึ้นด้วยวิธีการเขตกรรมแล้ว ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย นายสกล ฉายศรี นักวิจัยชำนาญการพิเศษ จากสถานีวิจัยลพบุรี ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตร พร้อมทีมนักวิจัย ได้ทำการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลัง “พันธุ์เคยู-สกลนคร” มันสำปะหลังทูอินวัน ที่มีศักยภาพใช้ประโยชน์ได้ 2 อย่างในพันธุ์เดียว โดยสามารถใช้ส่วนของลำต้นและใบเพื่อเป็นอาหารสัตว์  ใช้ส่วนของหัวมันสำปะหลังเพื่อการบริโภค หรือส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป

มันสำปะหลัง “พันธุ์เคยู-สกลนคร” ให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย 6.5 ตันต่อไร่ ผลผลิตแป้งเฉลี่ย 1.8 ตันต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัวสดเฉลี่ย 28 เปอร์เซ็นต์ และโปรตีนรวม (ต้น+ก้าน+ใบ) เฉลี่ย 19.53 เปอร์เซ็นต์ เป็นมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ ที่สามารถใช้ประโยชน์ ได้ทั้งจากส่วนของลำต้น  ใบ และหัว โดยส่วนของต้นอ่อนและใบ มีโปรตีนสูง สามารถใช้ผลิตอาหารสัตว์ได้ สำหรับส่วนของหัวมันสด ส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง  และเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอล ส่วนของต้นแก่ใช้สำหรับนำไปปลูกเพื่อการขยายพันธุ์

การใช้ประโยชน์มันสำปะหลัง พันธุ์เคยู-สกลนคร

ใช้ใบมันสำปะหลังแห้งเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์

  1. การเก็บใบมันสำปะหลัง ควรเก็บใบมันสำปะหลังจากต้นก่อนทำการเก็บเกี่ยวหัวมัน และควรเก็บใบมันก่อนการขุดหัวมัน ไม่เกิน 12-24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสำปะหลัง
  2. การเก็บใบมันสำปะหลังควรเด็ดจากส่วนยอดบริเวณที่มีสีเขียว ยาวลงมาประมาณ 20 เซ็นติเมตร ส่วนที่เหลือให้เด็ดเฉพาะใบกับก้านใบเท่านั้น ไม่ควรเก็บส่วนของลำต้นติดมาด้วย เนื่องจากจะทำให้ใบมันสำปะหลังที่ได้มีคุณภาพต่ำ คือมีโปรตีนต่ำ เยื่อใยสูง นอกจากนั้น ส่วนของก้านและลำต้น ยังทำให้แห้งได้ช้าอีกด้วย
  3. เมื่อเก็บใบมันสำปะหลังมาแล้ว ควรตาก/ผึ่งแดดให้เร็วที่สุด เนื่องจากการเก็บไว้ในกระสอบหรือกองไว้กับพื้น ทำให้เกิดความร้อนสะสมอยู่ในกองใบมันสำปะหลัง ส่งผลให้ใบมันสำปะหลังมีลักษณะตายนึ่ง โดยใบมันสำปะหลังจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ไม่น่าใช้ อีกทั้งทำให้มีการสูญเสียวิตามินเอและสารสีในใบมันสำปะหลังด้วย
  4. การตาก/ผึ่งแดดใบมันสำปะหลัง ให้แห้ง อาจสับเป็นชิ้น เพื่อให้แห้งได้เร็วขึ้น และระหว่างการตาก/ผึ่งแดด ควรกลับใบมันสำปะหลังไปมาเป็นระยะๆ เพื่อให้ส่วนใบและก้านแห้งได้อย่างทั่วถึง โดยการตาก/ผึ่งแดด นาน 2-3 แดด ใบมันแห้งที่ได้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอาหารโค กระบือ แพะ แกะ ได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการบดสำหรับในสัตว์กระเพาะเดี่ยวพวกสุกร และสัตว์ปีก ต้องนำไปบดให้ละเอียดก่อนจึงนำไปผสมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆ

การทำอาหารหมักจากใบมันสำปะหลัง

  1. ใช้ใบมันสำปะหลังสดหมักเพียงอย่างเดียว จะได้คุณค่าทางอาหารค่อนข้างสูงโดยเฉพาะโปรตีน ให้ตัดต้นมันสำปะหลังที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 6 เดือน เพราะจะทำให้มีคุณภาพต่ำ เยื่อใยสูง และมีโปรตีนต่ำ ควรใช้เวลาในการหมักอย่างน้อย 21 วัน
  2. ใช้ใบมันสำปะหลังสดหมักร่วมกับหัวมันสำปะหลังสด โดยสับใบมันสดและหัวมันสดให้เป็นชิ้นขนาดเล็ก ในอัตราส่วน หัวมันต่อใบมัน เท่ากับ 1 ต่อ 2 ถึง 1 ต่อ 3 แล้วแต่วัตถุประสงค์ และความต้องการว่าจะใช้เป็นแหล่งเสริมพลังงาน หรือเสริมโปรตีน ใช้เวลาการหมักอย่างน้อย 21 วัน
  3. ใช้ใบมันสำปะหลังสดหมักร่วมกับกากมันสำปะหลัง(สภาพเปียก) เนื่องจากในกากมันสำปะหลังมีปริมาณจุลินทรีย์กลุ่มที่ผลิตกรดแลคติกจำนวนมากประมาณ 106- 107 โคโลนี/กรัม จึงเป็นตัวช่วยกระตุ้นหรือเร่งให้มีการหมักเร็วขึ้น ใช้ระยะเวลาในการหมักน้อยลง จาก 21 วัน เหลือเพียง 10-14 วันเท่านั้น และสารพิษกรดไฮโดรไซยานิคในใบมันสำปะหลังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ สำหรับปริมาณการใช้กากมันสำปะหลังหมักร่วมกับใบมันสำปะหลังนั้น แนะนำให้ใช้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ หากใช้กากมันระดับที่มากกว่านี้จะทำให้อาหารหมักที่ได้มีความชื้นสูง ทำให้อาหารหมักมีคุณภาพไม่ดี

การผลิตมันส้น

เมื่อขุดหัวมันสำปะหลังขึ้นมา ต้องตัดหัวมันสำปะหลังแต่ละหัวแยกออกจากเหง้าหรือส่วนโคนของลำต้น อย่าให้มีส่วนของเหง้า หรือหัวจุก ซึ่งมักเป็นไม้แข็ง สัตว์ไม่สามารถย่อยได้แม้ว่าในกระบวนการผลิตอาหารจะนำไปบดจนละเอียดแล้วก็ตาม ซึ่งจะทำให้คุณค่าทางอาหารของมันเส้นนั้นลดลง จากนั้นให้เคาะหรือร่อนดินทรายที่ติดมากับหัวมันสำปะหลังออกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อจะทำให้มันเส้นที่ได้มีดินทรายหรือเถ้าในปริมาณต่ำ ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ และในกรณีที่ใช้เครื่องร่อนดินทรายที่สามารถขูดส่วนเปลือกนอกของหัวมันออกไปได้บ้าง ยิ่งจะเป็นการทำให้คุณภาพของมันเส้นที่ได้ดียิ่งขึ้น เยื่อใยจะน้อยลงด้วย

การสับหัวมัน อาจใช้วิธีสับด้วยมือที่เรียกกันว่ามันสับมือ หรือสับด้วยเครื่องโม่มันก็ได้ สำหรับการสับด้วยมือ มี 2 แบบ คือ สับตามขวาง กับ สับตามยาวของหัวมัน ซึ่งมีข้อดี ข้อเสีย ต่างกัน คือ สับตามขวางจะสับได้ง่าย ตากแห้งเร็ว ขนาดชิ้นที่ได้พอเหมาะกับการใช้ผสมอาหารโคที่ใช้มันเป็นชิ้นได้เลย หรือการป้อนเข้าเครื่องบด ก็ทำได้ง่ายไม่มีปัญหาติดขัดระบบลำเลียง ส่วนการสับตามยาว จะสับได้ค่อนข้างช้าและใช้เวลาตากนานกว่า นอกจากนี้ การนำเข้าเครื่องบดหรือเครื่องผสมอาหาร มักมีปัญหาติดระบบลำเลียง แต่การสับตามยาว มีข้อดีที่จะมีการสูญเสียน้ำหนักน้อย และเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ระหว่างการตาก/ผึ่งแดดจะต้องใช้คราดกลับมันเส้นทุกๆ 1-2 ชั่วโมง อาจใช้แรงคน หรือใช้รถแทรกเตอร์ก็ได้

การผลิตต้นพันธุ์

ต้นมันสำปะหลังที่เหมาะสมสำหรับทำพันธุ์ ควรมีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 14 เดือน แปลงผลิตท่อนพันธุ์ ควรเป็นแปลงที่ตรงตามพันธุ์ ปราศจากโรคและแมลง ต้นพันธุ์ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว มีความยาวของต้นไม่ต่ำกว่า 1.2 เมตร ต้องเป็นต้นที่สด และใหม่ ไม่ควรตัดไว้นานเกิน 15 วัน

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

นายสกล ฉายศรี

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561

“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”

เจ้าของผลงาน : นายสกล ฉายศรี

สถานีวิจัยลพบุรี

ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th