การเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ดินเค็ม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย แต่พื้นที่กว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 11.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มจากเกลือสินเธาว์ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรในการเพาะปลูกพืช ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้น้อยลง ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหากเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ดินเค็มของตัวเองในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการเพาะปลูก เช่น การเลี้ยงสัตว์น้ำ น่าจะช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่มีความทนทานต่อสภาะแวดล้อม เลี้ยงง่าย โตเร็ว สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด และน้ำกร่อย จึงเป็นปลาที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการประกอบอาชีพเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ดินเค็ม
ปลานิล เป็นปลาน้ำจืดซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบันมีบางพื้นที่ที่มีการเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ดินเค็มอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการเลี้ยงแบบยังชีพ ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา การแสดงออกของลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของปลานิลที่เลี้ยงในน้ำเค็มที่เกิดจากเกลือสินเธาว์ รวมทั้งชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับระดับความเค็มในแต่ละพื้นที่
ผศ.ดร.เกตุนภัส ศรีไพโรจน์ และ อาจารย์สิทธิชัย ฮะทะโชติ อาจารย์ประจำสาขาทรัพยากรเกษตรชีวภาพ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จึงได้ร่วมกันทำการศึกษาวิจัยการพัฒนาการเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ดินเค็มที่เกิดจากเกลือสินเธาว์ ศึกษาการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา การแสดงออกของลักษณะที่สำคัญทางเศรษฐกิจของปลานิล รวมทั้งชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงในแต่ละระดับความเค็มในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลในการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ดินเค็มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ และยังช่วยเพิ่มผลผลิตปลานิลซึ่งเป็นปลาที่มีต้องการของตลาดสูง รวมถึงเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
การทดลองเพื่อศึกษาการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของปลานิลที่เลี้ยงในน้ำเค็มที่เกิดจากเกลือสินเธาว์ ได้ทำการทดลองเลี้ยงปลานิล 3 สายพันธุ์ คือพันธุ์จิตรลดา 3 พันธุ์อุตรดิตถ์ และพันธุ์ซุปเปอร์แบล็ค ในน้ำเค็มที่เกิดจากเกลือสินเธาว์ระดับความเค็ม 4 ระดับ คือ ความเค็มที่ระดับ 0 5 15 และ 25 ppt ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 4 เดือน
ผลการทดลองพบว่า ปลานิลมีการตอบสนองต่อความเค็มที่สูง โดยมีระดับออร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้นภายใน 3 วันแรกของการเลี้ยง หลังจากนั้นระดับฮอร์โมนดังกล่าวจะค่อยๆลดลงจนสู่ระดับปกติ แสดงให้เห็นว่าปลาเริ่มสามารถปรับตัวได้ ที่ระดับความเค็ม 5 ppt อัตราการเจริญเติบโตของปลาทั้ง 3 สายพันธุ์ไม่แตกต่างกับการเลี้ยงในน้ำจืด ปลานิลสามารถเจริญเติบโตได้ในน้ำเค็มที่เกิดจากเกลือสินเธาว์เมื่อเลี้ยงที่ระดับความเค็ม 15 ppt แต่การเจริญเติบโตของปลานิลทั้ง 3 สายพันธุ์จะลดลง ปลานิลไม่สามารถเลี้ยงได้ที่ระดับความเค็ม 25 ppt หรือไม่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีความเค็มมากกว่า 15 ppt ได้หากไม่มีการปรับสภาพปลาให้คุ้นเคย ดังนั้น จำเป็นต้องทำการปรับสภาพปลานิลที่จะเลี้ยงให้คุ้นเคยกับความเค็มก่อน โดยนำปลาที่จะเลี้ยงลงเลี้ยงในน้ำที่มีระดับความเค็มต่ำ จากนั้นจึงค่อยๆปรับความเค็มให้สูงขึ้นอย่างช้าๆ ปลานิลที่ใช้ทดลองทั้ง 3 พันธุ์มีอัตราการเจริญเติบโตและอัตรารอดลดลงเมื่อเลี้ยงในระดับความเค็ม 15 ppt ปลาสายพันธุ์ซุปเปอร์แบล็คมีอัตราการเจริญเติบโตดีที่สุด สูงกว่าสายพันธุ์จิตรลดา 3 และสายพันธุ์อุตรดิตถ์ในทุกระดับความเค็ม เนื่องจากปลานิลสายพันธุ์ซุปเปอร์แบล็คเป็นปลาที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ให้เติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย
ดังนั้นการพัฒนาการเลี้ยงปลานิลในพื้นที่ดินเค็มให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือการค่อยๆปรับสภาพให้ปลานิลคุ้นเคยกับระดับความเค็มจากระดับต่ำๆไประดับความเค็มที่สูงขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้สามารถจะนำปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3 ลงเลี้ยงได้ แต่พันธุ์ซุปเปอร์แบ็ค จะได้ผลผลิตที่มากกว่า หรือหากต้องการผลผลิตที่ดีขึ้น ควรมีการพัฒนา ปรับปรุง คัดเลือกสายพันธุ์ปลานิลที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ดินเค็มต่อไป
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
ผศ.ดร.เกตุนภัส ศรีไพโรจน์ อาจารย์สิทธิชัย ฮะทะโชติ
|
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เจ้าของผลงาน : ผศ.ดร.เกตุนภัส ศรีไพโรจน์ และ อาจารย์สิทธิชัย ฮะทะโชติ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เรื่อง/ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |