ข้าวโพดสีม่วงของ ม.เกษตร

ข้าวโพดสีม่วง จัดเป็นข้าวโพดแป้ง (flour corn, Zea mays amylacea) ที่มีแป้งชนิดอ่อน มีถิ่นกำเนิดบริเวณเทือกเขาแอนดีส ประเทศเปรู เป็นแหล่งของสารแอนโทไซยานินที่สำคัญยิ่ง มีศักยภาพสูงในการประยุกต์ใช้เป็นอาหาร สีธรรมชาติ และเป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ เมล็ดข้าวโพดสีม่วงมีแป้ง มากกว่าเมล็ดข้าวโพดสีเหลืองและข้าวโพดสีขาว  มีปริมาณกรดอะมิโนไลซีนสูงกว่าข้าวโพดสีเหลืองหัวบุบ  มีปริมาณโปรตีน และแร่ธาตุสูงกว่าข้าวโพดหัวบุบ และมีปริมาณโฟลวานอยด์ชนิดแอนโทไซยานินปริมาณที่สูง ข้าวโพดสีม่วงจึงเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญยิ่ง

ข้าวโพดสีม่วงจากต่างประเทศไม่สามารถปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2534 ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยนักพัฒนาพันธุ์ โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ดร.โชคชัย  เอกทัศนาวรรณ ดร.สรรเสริญ จำปาทอง   นางชไมพร  เอกทัศนาวรรณ นายนพพงศ์  จุลจอหอ และ  นายฉัตรพงศ์  บาลลา จาก ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงจากประเทศเปรูมาผสมกับพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ดีเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พันธุ์สุวรรณ 3 (S) C4 (ME)C1 และสายพันธุ์แท้ KS 23-F5-S5-705-1) และทำการผสมกลับอีก 1 ครั้ง ในชั่ว F2 ในแต่ละกลุ่ม โดยใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพ่อ การพัฒนาสายพันธุ์แท้ ใช้วิธีการคัดเลือกแบบฝักต่อแถว นำสายพันธุ์แท้ผสมแบบข้ามกลุ่ม 5×6 factorial crosses ทดสอบพันธุ์ลูกผสมที่ได้ในปี พ.ศ. 2538   และคัดเลือกข้าวโพดสีม่วงลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง ทดสอบรวม 6 การทดลอง ในช่วงปี พ.ศ. 2538-2546 การวิจัยทำที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ จากนั้นนำพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงลูกผสมที่ดีเด่น จำนวน 14 พันธุ์ มาทดสอบผลผลิตเมล็ดและซัง ลักษณะทางการเกษตร และปริมาณสารแอนโทไซยานินในไร่เกษตรกร จำนวน 2 แห่ง ในเขตอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในปลายฤดูฝน พ.ศ. 2553

ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวแอนโทไซยานินสูงพันธุ์ KPSC 901 และ KPSC 903 ได้มาจากการผสมระหว่างสายพันธุ์แม่ KPei 34002 และ KPei 34004 ผสมกับสายพันธุ์แท้ KPei 34010 ตามลำดับ

ลักษณะเด่นของข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวแอนโทไซยานินสูงพันธุ์ KPSC 901 และ KPSC 903

พันธุ์ KPSC 901 และ KPSC 903 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 880 และ943 กก./ไร่ ต่ำกว่าพันธุ์สุวรรณ 4452 (1,224 กก./ไร่) ร้อยละ 28.1 และ 23.0 ตามลำดับ  พันธุ์ KPSC 903 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 943 กก./ไร่ สูงกว่าพันธุ์ KPSC 901(880 กก./ไร่) ร้อยละ 5  และการผลิตเมล็ดพันธุ์ KPSC 903 ให้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 258 กก./ไร่ สูงกว่า KPSC 901(120 กก./ไร่) ร้อยละ 115 โดยเฉพาะปริมาณสารแอนโทไซยานินในเมล็ดและซัง พันธุ์ KPSC 903 ให้ปริมาณ 27.360 และ 53.733 มก./กรัม สูงกว่าพันธุ์ KPSC 901 ซึ่งให้ปริมาณ 19.832 และ 34.006 มก./กรัม ร้อยละ 38.0 และ 58.0  ตามลำดับ

ข้าวโพดลูกผสมเดี่ยวแอนโทไซยานินสูงพันธุ์ KPSC 901 และ KPSC 903 มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี เช่น ความแข็งแรงของระบบรากและลำต้น ความต้านทานโรคทางใบ จึงเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในแหล่งปลูกข้าวโพดต่างๆ ให้ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่สูง และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ผลผลิตสูงสามารถที่จะผลิตเป็นการค้าได้  และที่สำคัญคือเป็นข้าวโพดพันธุ์ที่มีสารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งสามารถประยุกต์ในการนำไปใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ สร้างภูมิต้านทาน และลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล  โดยการส่งเสริมการแปรรูป สกัดสารสำคัญไปใช้ประโยชน์ เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ  เป็นการเพิ่มมูลค่าข้าวโพดทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและไม่ใช่อาหารด้วย

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ดร.โชคชัย  เอกทัศนาวรรณ

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561

“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”

เจ้าของผลงาน : ดร.โชคชัย  เอกทัศนาวรรณ และทีมวิจัย

ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th