สารสำคัญทางโภชนาการจากกระเจี๊ยบแดงพันธุ์กำแพงแสน
กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชสมุนไพรที่มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ดอกกระเจี๊ยบนอกจากจะมีสีสรรสวยงาม ยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมาย
คนไทยส่วนใหญ่นิยมนำดอกกระเจี๊ยบแดงมาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อดับกระหายคลายร้อน เป็นเครื่องดื่มที่มีสีแดงสวย มีรสชาติที่ดี และยังมีสรรพคุณอีกหลายอย่าง เช่น ช่วยให้สดชื่นเพราะมีกรดซิตริค ช่วยลดความดันโลหิตและไขมันในเส้นเลือด มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นยาระบายอ่อนๆ และที่สำคัญคือมีสารต้านอนุมูลอิสระเพราะเป็นแหล่งของสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นรงควัตถุที่ละลายน้ำได้ดีโดยจะให้สีแดงและสีม่วงจากธรรมชาติ และเนื่องจากคุณสมบัติของสารแอนโทไซยานินที่สามารถช่วยส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดแดงในร่างกาย ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยชะลอการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด ช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอก ช่วยเสริมให้ร่างกายต่อต้านเชื้อโรค ช่วยสมานแผล เสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดภาวะเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ เพิ่มความสามารถในการมองเห็น ชะลอความเสื่อมของสายตา และเซลล์ของอวัยวะต่างๆของร่างกาย เป็นต้น ปัจจุบันจึงมีการสกัดสารแอนโทไซยานินจากดอกกระเจี๊ยบแดง เพื่อใช้เป็นสีผสมอาหาร หรือประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
สายพันธุ์กระเจี๊ยบแดงที่นิยมปลูกกันในปัจจุบัน คือพันธุ์ซูดาน และพันธุ์กลีบยาว ในประเทศไทยยังไม่มีการคัดสายพันธุ์กระเจี๊ยบแดงอย่างจริงจัง ดังนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์กระเจี๊ยบแดงโดยการสร้างลูกผสมจากการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์จากพ่อแม่พันธุ์ซูดาน และพันธุ์กลีบยาวมาตั้งแต่ปี 2551-2558 ได้ผลผลิตเป็นกระเจี๊ยบกำแพงแสนลูกผสมเปิดพันธุ์ใหม่ที่มีความคงตัวของสายพันธุ์มีลักษณะแตกต่างกัน รวม 13 พันธุ์
กระเจี๊ยบกำแพงแสนลูกผสมเปิดพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกแบบบันทึกประวัติ ในรุ่นที่ 8 โดยมีพันธุ์ที่เป็นพ่อ-แม่ ได้แก่ พันธุ์ซูดาน(14) และกลีบยาว(15) ได้ลูกผสมที่มีความแตกต่างของขนาด รูปทรงกลีบเลี้ยงที่ปรากฏ และเฉดสีของกลีบเลี้ยงต่างๆ กัน ซึ่งได้คัดเลือกไว้จำนวน 13 พันธุ์ ได้แก่ 1.พันธุ์สีม่วงกลีบจัมโบ้ 2.พันธุ์สีแดงกลีบจัมโบ้ 3.พันธุ์สีชมพูกลีบจัมโบ้ 4.พันธุ์สีขาวกลีบจัมโบ้ 5.พันธุ์สีม่วงจัมโบ้กลีบบาน 6.พันธุ์สีแดงจัมโบ้กลีบบาน 7.พันธุ์สีชมพูจัมโบ้กลีบบาน 8.พันธุ์สีม่วงจัมโบ้กลีบหุบ 9.พันธุ์สีแดงจัมโบ้กลีบหุบ 10.พันธุ์สีชมพูจัมโบ้กลีบหุบ 11. พันธุ์แอนโทไซยานินสูงสีม่วงกลีบหุบ 12. พันธุ์แอนโทไซยานินสูงสีม่วงกลีบบาน 13.พันธุ์สีม่วงใบห้าแฉก
นางสาวศิริพรรณ สุขขัง นางสาวสมนึก พรมแดง นางสายน้ำอ้อย สว่างเมฆ นักวิจัยจากศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง และนางอุทัยวรรณ ด้วงเงิน เจ้าหน้าที่วิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญทางโภชนาการ ได้แก่ปริมาณสารแอนโทไซยานิน ปริมาณสารประกอบฟินอลิก รวมทั้งฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากกลีบเลี้ยงสดของกระเจี๊ยบที่คัดเลือกไว้ทั้ง 13 พันธุ์
ผลการวิเคราะห์ ทดสอบเปรียบเทียบปริมาณสารสำคัญทางโภชนาการ พบว่า สารแอนโทไซยานิน สารฟินอลิก และความสามารถต้านอนุมูลอิสระมีความสัมพันธ์กับสีของกลีบเลี้ยง จากกระเจี๊ยบ 13 พันธุ์ที่ทำการวิเคราะห์ จึงได้กระเจี๊ยบแดงพันธุ์แอนโทไซยานินสูงสีม่วงกลีบหุบ และพันธุ์แอนโทไซยานินสูงสีม่วงกลีบบาน มีปริมาณสารแอนโทไซยานินสูงที่สุด รองลงมา คือพันธุ์กลีบสีม่วง ซึ่งมีค่าแอนโทไซยานินสูง โดยมีปริมาณสูงกว่าพันธุ์ที่เป็นพ่อ-แม่ สอดคล้องกับค่าปริมาณสารประกอบฟินอลิก และความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ
จากการปรับปรุงพันธุ์กระเจี๊ยบแดงนี้ จึงได้กระเจี๊ยบพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์ พัฒนาต่อยอดเป็นพืชสำหรับสกัดสารสำคัญทางโภชนาการ เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆในอุตสาหกรรมต่อไป
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
![]() นางสาวศิริพรรณ สุขขัง |
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เจ้าของผลงาน : นางสาวศิริพรรณ สุขขัง นางสาวสมนึก พรมแดง นางสายน้ำอ้อย สว่างเมฆ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง นางอุทัยวรรณ ด้วงเงิน นางสาวสายน้ำอ้อย สว่างเมฆ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เรื่อง/ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |