นวัตกรรมย้อมครามธรรมชาติในอุตสาหกรรมยีนส์
ใช้เทคโนโลยีการย้อมสีครามธรรมชาติ ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตยีนส์ระบบอุตสาหกรรมแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ยีนส์ถือว่าเป็นเครื่องแต่งกายที่ได้รับความนิยมทั่วทุกมุมโลก ผ้ายีนส์ทำจากเส้นด้ายฝ้ายหยาบ ต้นกำเนิดยีนส์ดั้งเดิมจะมีแต่โทนสีน้ำเงิน ที่เรียกบลูยีนส์ การย้อมสีผ้าฝ้ายในอุตสาหกรรมยีนส์ในปัจจุบันจะใช้สีอินดิโกสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสีเคมีที่ใช้งานง่าย รวดเร็ว และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถย้อมได้จำนวนมาก แต่กระบวนการใช้สารเคมีนี้ ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีผลเสียต่อสุขภาพของคนงานที่เป็นผู้ใช้สีเคมีในการย้อมผ้า เกิดการสะสมโลหะหนักในร่างกายสูง
ขณะที่กระบวนการย้อมสีครามธรรมชาติ จะทำการรีดิวซ์ด้วยน้ำขี้เถ้า ซึ่งต้องใช้เวลาย้อมเส้นด้ายที่นานกว่า และย้อมได้ปริมาณน้อยกว่าในแต่ละครั้ง สีที่ได้ในแต่ละครั้งมักจะไม่คงที่ ความไม่สะดวกและข้อจำกัดของการใช้ครามในการย้อม ทำให้ไม่สามารถผลิตเส้นด้ายย้อมครามในปริมาณมากๆ เพื่อรองรับในระดับอุตสาหกรรมการผลิตยีนส์ได้
ด้วยเหตุนี้ ดร.รังสิมา ชลคุป และทีมวิจัยจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ดร. สุธีรา วิทยากาญจน์ อ. ณัฐดนย์ รุ่งเรืองกิจไกร และว่าที่ ร.ต. ณัฐวัชร นิธิทองสกุล รวมทั้งทีมงานสนับสนุน นำโดย ดร. นัฏพร ขนุนก้อน ได้ทำการศึกษากระบวนการย้อมสีครามธรรมชาติ สำหรับผ้าเดนิม(denim) ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายที่ใช้ทำผ้ายีนส์ ศึกษาการย้อมและปัจจัยที่มีผลต่อการย้อมด้วยวิธีการย้อมครามที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้กลูโคส ศึกษาชนิดและความเข้มข้นของด่าง อุณหภูมิ และระยะเวลาในการรีดิวซ์ เพื่อปรับใช้ในการย้อมครามสำหรับผ้าที่ใช้ทำยีนส์ ศึกษาการนำเส้นด้ายย้อมครามที่ผลิตได้ มาทอเป็นผ้าเดนิมสำหรับผ้ายีนส์ ด้วยการทอมือของกลุ่มเกษตรกร จังหวัดสกลนคร เปรียบเทียบกับผ้าที่ทอด้วยเครื่องจักร เพื่อศึกษาโครงสร้างผ้าต่อลักษณะผ้าที่ได้ในการทำยีนส์ ทำการศึกษาการตกแต่งผ้าทอที่ผลิตได้ด้วยวิธี bio-wash ต่อสมบัติทางกายภาพของผ้าทอ เพื่อให้กระบวนการผลิตผ้ายีนส์เป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ผ้ายีนส์ ได้แก่ชุดแต่งกาย เสื้อแจ็คเก็ต กางเกงยีนส์ โดยมุ่งเป้าให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมครามเข้าสู่อุตสาหกรรมผ้ายีนส์ไทยสู่สากลได้
สีครามเป็นสีย้อมผ้าธรรมชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและทั่วโลกรู้จักกันในชื่อสากลว่า อินดิโก (Indigo) เป็นสีที่ได้จากการสกัดส่วนของใบพืช ที่ผ่านขบวนการแช่น้ำและหมักโดยนำมาผสมกับน้ำปูนที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง จะได้สีครามหรือสีน้ำเงินโทนฟ้า ที่มีลักษณะเป็นแป้งเปียก สามารถทำให้แห้ง หรือทำเป็นผงได้ มนุษย์รู้จักการนำครามมาใช้ประโยชน์ในการย้อมผ้ามาอย่างยาวนานหลายพันปีแล้ว
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
ดร.รังสิมา ชลคุป |
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เจ้าของผลงาน : ดร.รังสิมา ชลคุป สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียบเรียง/ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |