ชุดตรวจสอบหาสารพันธุกรรมไวรัสไข้หวัดนก

นวัตกรรม ในการตรวจสอบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ที่รู้ผลอย่างรวดเร็ว และสามารถนำไปใช้ในภาคสนามในพื้นที่ที่ต้องการได้ทุกที่

 

โรคไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรคไข้หวัดนก (Avian influenza, AI) เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ชนิดเอ (Influenza type A) สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ทั้งในสัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งในคนด้วย  ในประเทศไทยเคยมีการระบาดของโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ตั้งแต่ปี 2547  มีผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิต และก่อปัญหาร้ายแรงในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์  และการสาธารณสุข รวมถึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของเชื้อหรือการกลายพันธ์ของเชื้อได้ในอนาคต  จึงต้องมีการเฝ้าระวังและตรวจสอบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เพื่อวิเคราะห์ชนิดและสายพันธุ์กว่าจะทราบผลต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน หรือหากใช้วิธี real-time RT-PCR)ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีความรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ต้องใช้เครื่องมือและสารเคมีที่มีราคาแพง  และทำได้เฉพาะในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือพร้อมเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.ปรีดา เลิศวัชระสารกุล จากภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการพัฒนาเทคนิคการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ด้วยวิธีการที่ทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ได้ผลวิเคราะห์ในเวลารวดเร็ว ไม่ต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงที่ต้องทำเฉพาะในห้องปฏิบัติการ  

เทคนิค Loop-Mediated Isothermal Amplification (LAMP) ที่พัฒนาขึ้น เป็นเทคนิคที่ใช้ตรวจหาสารพันธุกรรมโดยการเพิ่มชิ้นดีเอ็นเอเป้าหมาย คล้ายกับเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR)  แต่มีข้อดีกว่าที่สามารถเพิ่มสารพันธุกรรมที่อุณหภูมิคงที่ ทำให้ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง มีความไวในการตรวจสอบมากกว่าเทคนิค PCR ถึง 10 -100 เท่า มีความจำเพาะสูง สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่า และที่สำคัญใช้ระยะเวลาในการตรวจที่สั้นกว่า โดยพัฒนาขั้นตอนให้ง่ายต่อการใช้งาน  ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ก็สามารถอ่านผลทดสอบได้ด้วยการพิจารณาจากความขุ่น หรือสีที่เปลี่ยนไป และยังสามารถนำไปใช้ตรวจสอบในพื้นที่ที่ต้องการหรือพื้นที่สงสัยการระบาด ชุดตรวจสอบนี้จึงเป็นนวัตกรรมในการตรวจสอบหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่ประหยัดและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสามารถวางแผนควบคุมการระบาดและรักษาโรคได้อย่างทันการณ์

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ผศ.ดร.ปรีดา เลิศวัชระสารกุล

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561

“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”

เจ้าของผลงาน : ผศ.ดร.ปรีดา เลิศวัชระสารกุล

ภาควิชาพยาธิวิทยา

คณะสัตวแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th