กำจัดผักตบชวาด้วยการใช้เชื้อรา

นักวิจัย ม.เกษตร คิดวิธีใช้เชื้อราในการกำจัดผักตบชวา เพื่อเพิ่มทางเลือกในการกำจัดผักตบชวาด้วยวิธีธรรมชาติ โดยใช้สิ่งมีชีวิตเพื่อควบคุมสิ่งมีชีวิต

ผักตบชวา ไม่ใช่พืชพื้นถิ่นของไทย ถูกนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเจ้านายฝ่ายในเมื่อครั้งที่ตามเสด็จประพาสเกาะชวา ด้วยเห็นว่ามีดอกสวยงาม ซึ่งขณะนั้นคงไม่คาดคิดว่าพืชชนิดนี้จะแพร่กระจายไปทั่วแหล่งน้ำในเมืองไทยได้มากมายเพียงนี้ เพราะผักตบชวาเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  สามารถปรับตัวให้ทนทานอยู่ในทุกสภาพน้ำ จึงแพร่พันธุ์กระจายตามแม่น้ำลำคลองได้อย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันได้กลายเป็นวัชพืชที่ร้ายแรงในแหล่งน้ำ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ น้ำเน่าเสียและกีดขวางทางน้ำไหล

การกำจัดผักตบชวาในปัจจุบัน มักนิยมใช้วิธีตักเก็บโดยใช้แรงงานคนและเครื่องจักรที่มีการคิดประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก และต้องทำต่อเนื่อง แต่ก็พบว่า ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของผักตบชวาได้

ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และ ดร.จินตนา อันอาตม์งาม จากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ใช้แนวคิดการกำจัดใช้แนวคิดการควบคุมการแพร่พันธุ์ผักตบชวาด้วยวิธีการทางชีวภาพที่ที่การคิดประดิษฐ์ขึ้นแม่น้ำลำคลอง ผักตบชวาด้วยวิธีการทางชีวภาพ เป็นอีกทางเลือกในการใช้สิ่งมีชีวิตเพื่อควบคุมสิ่งมีชีวิตด้วยกัน โดยการใช้เชื้อราเข้าทำลาย ทำให้ผักตบชวาเกิดความผิดปกติหรือเป็นโรค แล้วไม่สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้

แนวคิดดังกล่าวเริ่มขึ้นจากการสังเกตเห็นผักตบชวาที่มีลักษณะเป็นโรคใบไหม้จากการถูกเชื้อราเข้าทำลาย ซึ่งต่อมาผักตบชวากอนั้นได้ตายลง จึงได้แนวคิดที่จะนำเชื้อราดังกล่าวมาศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวา ได้ทำการเก็บตัวอย่างใบผักตบชวาที่แสดงอาการของโรคใบไหม้จากพื้นที่จังหวัดต่างๆ 19 จังหวัด  เพื่อศึกษาหาสายพันธุ์ของเชื้อราที่สามารถทำลายผักตบชวาได้ดีที่สุด จนได้เชื้อรา Myrothecium roridum สายพันธุ์ 448 เป็นเชื้อราที่ผ่านการคัดเลือกมาจากหลายๆสายพันธุ์ที่แยกเชื้อมาจากผักตบชวาที่เป็นโรคใบไหม้  ใช้เวลาการศึกษาทดลองกว่า 5 ปี ตั้งแต่ในระดับห้องปฏิบัติการ โรงเรือนปลูกพืชทดลอง การลงพื้นที่ในภาคสนามทดลองกับผักตบชวาในแหล่งน้ำจริง รวมทั้งการศึกษาด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ การทดสอบการก่อให้เกิดโรคกับพืชชนิดอื่นอีก 41 วงศ์กว่า 100 ชนิด จนมั่นใจว่าไม่ก่อให้เกิดโรคกับพืชอื่นๆนั้น  ยกเว้น พบว่ามีผลต่อวัชพืชน้ำ เช่น จอก แหน ที่เกิดอาการไหม้บนใบ แต่ไม่รุนแรงเท่ากับบนใบผักตบชวา นอกจากนี้ยังได้ทำการตรวจทดสอบความเป็นพิษ พบว่ามีความปลอดภัยต่อเซลล์ผิวหนังมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(หนูทดลอง) 

กลไกการทำงานหรือการก่อให้เกิดโรคกับผักตบชวาโดยเชื้อรานี้ โดยใช้เชื้อราในรูปแบบสปอร์แขวนลอยที่ได้จากการเลี้ยงเพิ่มปริมาณสปอร์บนเมล็ดข้าวเปลือกนึ่งฆ่าเชื้อ  นำไปฉีดพ่นบนใบผักตบชวา เชื้อราจะเข้าทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของใบและเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆของผักตบชวาเกิดการไหม้ภายใน 48 ชั่วโมง  และด้วยสปอร์แขวนลอยของเชื้อรามีสารหรือเอ็นไซม์ที่เชื้อราสร้างและปล่อยออกมา ทำให้อาการของโรคพัฒนาได้เร็วโดยสามารถสังเกตอาการไหม้บนใบและต้นหลังจากการฉีดพ่น 3 วัน เชื้อราหรือสปอร์แขวนลอยนี้สามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นได้หลายเดือน

การใช้เชื้อราหรือสปอร์แขวนลอยของเชื้อรา เพื่อควบคุมการแพร่ขยายพันธุ์ผักตบชวาในแหล่งน้ำ ทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช  ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือใช้ร่วมกับวิธีการกำจัดผักตบชวาด้วยวิธีตักเก็บโดยใช้แรงงานคนและเครื่องจักรที่นิยมทำกันอยู่ในปัจุบัน จะสามารถลดงบประมาณ แรงงาน และเวลา ในการกำจัดผักตบชวาออกจากแหล่งน้ำได้ โดยสามารถเริ่มจากการกำหนดพื้นที่แหล่งน้ำที่เป็นต้นน้ำที่มีการระบาดของผักตบชวาและเรื่อยลงมาสะสมที่บริเวณปลายน้ำ รวมทั้งการฉีดพ่นผักตบชวาที่เกาะตามแนวตลิ่งของแหล่งน้ำที่เป็นต้นทางของน้ำ รวมทั้งผักตบชวาที่ลอยมาตามน้ำซึ่งจะเป็นจุดกำเนิดการแพร่ขยายพันธุ์ ที่ลอยไปสะสมรวมตัวกันที่ปลายน้ำ หรือประตูระบายน้ำเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ผักตบชวาตายลงจากการถูกทำลายด้วยโรคใบไหม้จากเชื้อราได้

นับเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่หน่วยงานทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือเอกชนที่ทำหน้าที่รับจ้างกำจัดผักตบชวา สามารถเป็นทางเลือกในการนำไปใช้เพื่อกำจัดผักตบชวาจากแหล่งน้ำอย่างจริงจังต่อไป

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม

ที่มาข้อมูล   :    นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561

“เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0”

เจ้าของผลงาน : ดร.อาร์ม อันอาตม์งาม

ภาควิชาวิทยาศาสตร์

คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

เรียบเรียง/ผลิตสื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th