ระบบบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิด สำหรับโฮมสเตย์และรีสอร์ท
ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้นำนโยบายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศผสมผสานกับแนวคิดด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาใช้เป็นแนวทางเพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งครอบคลุมถึงการส่งเสริมให้เกิดสถานประกอบการสีเขียวของธุรกิจที่พักประเภทโฮมสเตย์และรีสอร์ทในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม พบว่าธุรกิจที่พักประเภทโฮมสเตย์และรีสอร์ทส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสม ทำให้น้ำเสียถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำโดยไม่ได้รับการบำบัด จึงอาจเป็นปัจจัยเร่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อสภาพความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำ รวมไปถึงผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของฐานทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ อันจะกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตได้
ดังนั้น เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านจัดการน้ำเสียอย่างเหมาะสม เป็นการช่วยบรรเทามลภาวะทางน้ำของแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนโมเดลการพัฒนาประเทศในยุคประเทศไทย 4.0 ด้วย คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ และ ดร.วรุณสักดิ์ เลี่ยมแหลม ร่วมด้วยนายเอนก สุขเจริญ จาก ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จึงได้ทำการออกแบบพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อใช้เป็นต้นแบบสำหรับการบำบัดน้ำเสียของธุรกิจที่พักประเภทโฮมสเตย์และรีสอร์ท โดยเลือกจังหวัดสมุทรสงครามเป็นกรณีศึกษา
การดำเนินงาน ได้ออกแบบพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียขึ้น 3 รูปแบบ ได้แก่
1) ระบบบึงประดิษฐ์แบบน้ำไหลใต้ผิวดินในแนวนอน เพื่อการบำบัดน้ำเสียในโฮมสเตย์/รีสอร์ท ที่มีค่าบีโอดีไม่เกิน 100 mg/l ทำด้วยวัสดุพลาสติกไฟเบอร์กลาส
2) ระบบผสมผสานระหว่างการเติมอากาศโดยใช้ตัวกลางพลาสติก ร่วมกับบึงประดิษฐ์แบบน้ำไหลใต้ผิวดินในแนวนอน เพื่อการบำบัดน้ำเสียในโฮมสเตย์/รีสอร์ท และบ้านเรือน ที่มีค่าบีโอดีมากกว่า 200 mg/l เช่น น้ำเสียจากครัว ทำจากวัสดุซีเมนต์ หรือพลาสติกไฟเบอร์กลาส
3) ระบบบำบัดสำเร็จรูปแบบเบ็ดเสร็จ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปที่เป็นการประยุกต์หลักการร่วมระหว่างการเติมอากาศและบึงประดิษฐ์ในถังเดียว เพื่อการบำบัดน้ำเสีย ที่มีค่าบีโอดีไม่เกิน 200 mg/l ทำจากวัสดุพลาสติกไฟเบอร์กลาส
ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียทั้ง 3 รูปแบบ ที่สร้างขึ้นในรีสอร์ท 5 แห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นระยะเวลา 2-7 เดือน พบว่า ระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวสามารถบำบัดน้ำเสียที่มีค่าBOD ค่า TKN และของแข็งแขวนลอย อยู่ในช่วง 1-500 mg/L, 2-85 mg/L และ 9-228 mg/L ตามลำดับ ให้ได้น้ำทิ้งที่มีค่าBOD น้อยกว่า 40 mg/L TKN น้อยกว่า 40 mg/L และของแข็งแขวนลอยน้อยกว่า 50 mg/L ซึ่งผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำทิ้งจากอาคารประเภท ค. แสดงว่าระบบบำบัดน้ำเสียทั้ง 3 รูปแบบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการบำบัดน้ำเสียสำหรับธุรกิจที่พักประเภทโฮมสเตย์และรีสอร์ทของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้ทำการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโคลิฟอร์มแบคทีเรียในน้ำทิ้งเพื่อส่งเสริมการนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อการนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว ล้างถนน ภายในรีสอร์ทได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่แนะนำให้นำไปใช้กับกิจกรรมที่ต้องสัมผัสกับร่างกายหากยังไม่มีกระบวนการฆ่าเชื้อโรคเพิ่มเติม
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ |
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการงานวันเกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 “เทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาเศรษฐกิจไทยไป 4.0” เจ้าของผลงาน : ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ และคณะ ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เรื่อง/สื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |