ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในแปลงพริกด้วยสบู่ดำ

โรครากปมของพริกเกิดจากเชื้อสาเหตุคือ ไส้เดือนฝอยรากปม มีการระบาดปรากฏให้เห็นได้ในพริกทุกสายพันธ์ุ ความรุนแรงแตกต่างกันตามสายพันธุ์พริก โดยระบาดสูงถึงสูงที่สุดในพริกสายพันธ์ุที่อ่อนแอ มีรายงานการระบาดรุนแรงในเขต อ. เขืองใน และ อ. ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ในปลายปี 2549 ผลผลิตพริกเสียหายมากกว่า 50 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ไส้เดือนฝอยรากปมทำความเสียหายให้กับพริกโดยตัวอ่อนระยะที่สองของไส้เดือนฝอยที่อาศัยอยู่ในดิน เข้าทำลายราก ตลอดจนอยู่อาศัยและขยายพันธ์ุภายในรากพืช การเข้าทำลายพืช ทำให้รากพืชเกิดปมจำนวนมาก ทำให้ความสามารถในการดูดน้ำและแร่ธาตุอาหารลดลง รากไม่เจริญเติบโตเต็มที่หรือกุดสั้น หรือเกิดการฉีกขาด ต้นพริกที่ถูกไส้เดือนฝอยรากปมเข้าทำลายมาก ๆ ทำให้ลำต้นเตี้ย แคระแกร็น ให้ผลผลิตพริกลดลง หรือในกรณีไส้เดือนฝอยเข้าทำลายในระยะต้นกล้า จะทำให้ต้นกล้าพริกตายได้

การควบคุมไส้เดือนฝอย มีหลายวิธี เช่น การใช้พันธ์ุพืชต้านทาน การเขตกรรม การใช้สารเคมี และการใช้วิธีการทางชีววิธี ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการทางชีววิธี โดยการนำพืชที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่นของเกษตรกร เช่นสบู่ดำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จัดเป็นวิธีการที่ประหยัด และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และง่ายต่อการยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่

จากผลงานวิจัยในปี 2553 ผศ.ดร.บัญชา ชิณศรี อาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพของสบู่ดำในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม ภายใต้ชุดโครงการ เคยู-ไบโอดีเซล. พบว่า สารแขวนลอยที่ได้จากการบดเมล็ดสบู่ดำสายพันธ์ุสุขสรรค์และสายพันธ์ุมูลนิธิชัยพัฒนา สามารถทำให้ตัวอ่อนไส้เดือนฝอยรากปม ตายมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 7 วัน และยังสามารถรลดการฟักไข่ของไส้เดือนฝอยรากปมลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นในการทดสอบในสภาพเรือนทดลอง พบว่า สารแขวนลอยที่ได้จากการบดเมล็ดสบู่ดำทั้งสองสายพันธ์ุนี้ยังสามารถลดการเกิดปมบนรากพริกได้อีกด้วย

 

เพื่อให้ทราบประสิทธิภาพของสบู่ดำในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมอย่างแท้จริง จึงได้ทำการขยายผลการวิจัยข้างต้น ลงพื้นที่ศึกษาในแปลงปลูกพริกตามธรรมชาติของเกษตรกร โดยดำเนินการในสภาพแปลงปลูกพริกของเกษตรกรตามธรรมชาติจำนวน 2 แปลง ในเขตอำเภอม่วงสามสิบ และอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแปลงที่มีประวัติิการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมอย่างรุนแรงในอดีตที่ผ่านมา โดยการวิจัยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เพื่อศึกษาและยืนยันผลของสบู่ดำ ในการลดการระบาดและการทำความเสียหายให้กับพริกโดยไส้เดือนฝอยรากปม ในสภาพการปลูกตามธรรมชาติจริง

จากการลงพื้นที่สำรวจประชากรและการระบาดของไส้เดือนฝอย พบว่า ประชากรไส้เดือนฝอยรากปมในแปลงปลูกพริกของเกษตรกรทั้ง 2 แปลงที่จะใช้ทดสอบยังมีค่าต่ำไป อาจทำให้ผลการทดลองมีความคลาดเคลื่อน ดังนั้น จึงทำการปลูกพริกพันธ์ุหัวเรือซึ่งเป็นพริกพันธุ์ที่อ่อนแอต่อไส้เดือนฝอยรากปมเพิ่มเติมลงในแปลงเพื่อเพิ่มประชากรไส้เดือนฝอยให้มากขึ้น เมื่อเก็บตัวอย่างดินในแปลงได้ปริมาณไส้เดือนฝอยมีความสม่ำเสมอและปริมาณมากพอ จึงทำการทดสอบสารสกัดจากสบู่ดำ โดยดำเนินงานเป็น 5 กรรมวิธี คือ (1) -ไม่ใช้สบู่ดำ (2) ใช้สบู่ดำที่อัตรา 100 กรัม/น้ำ 1 ลิตร, (3) สบู่ดำที่อัตรา 200 กรัม/น้ำ 1 ลิตร, (4) สบู่ดำที่อัตรา 300 กรัม/น้ำ 1 ลิตร, และ(5) สบู่ดำที่อัตรา 400 กรัม/น้ำ 1 ลิตร

การใส่สบู่ดำลงในแปลง ดำเนินการในลักษณะการราด ด้วยสารแขวนลอยของผงบดเมล็ดสบู่ดำ และน้ำ ในอัตราปริมาณสารแขวนลอย 5 ลิตรต่อแปลงขนาด 1×1 ตารางเมตร ดำเนินการราดสารแขวนลอยเมล็ดสบู่ดำ 3 ครั้งคือ ครั้งที่ 1 เมื่อย้ายกล้าลงปลูก ครั้งที่ 2 หลังจากย้ายกล้าลงปลูกแล้ว 1 เดือน และ ครั้งที่ 3 หลังจากย้ายกล้าลงปลูกแล้ว 2 เดือน

ผลการทดสอบ พบว่า ผลผลิตของพริกสายพันธุ์หัวเรือเพิ่มขึ้น ในแปลงที่มีการใช้สารแขวนลอยเมล็ดสบู่ดำในทุกอัตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อัตรา 400 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร มีผลผลิตที่สูงขึ้นมากกว่า 73 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้สบู่ดำ ในทั้งสองพื้นที่การทดลอง  นอกจากนี้เมื่อทำการเปรียบเทียบจำนวนตัวอ่อนระยะที่สองของไส้เดือนฝอยรากปมที่อยู่ในดิน ดัชนีการเกิดปมของไส้เดือนฝอย และจำนวนไข่ของไส้เดือนฝอยที่สร้างต่อราก 1 กรัมของทั้งสองแปลง พบว่า มีค่าลดลง  ในแปลงทีมีการใช้สบู่ดำโดยเฉลี่ยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

การราดสารสกัดของเมล็ดสบู่ดำในการทดลองครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อต้นพริกแต่อย่างใด  ดังนั้นการนำสารสกัดจากเมล็ดสบู่ดำมาใช้ในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมในพริกนั้นเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดความเสียหายและการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมที่เข้าทำลายพริกพันธุ์หัวเรือที่ปลูกในสภาพตามธรรมชาติได้ และเป็นวิธีการที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากสบู่ดำเป็นพื้นท้องถิ่นที่พบทั่วไปในประเทศไทย

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ที่มาข้อมูล   : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร.บัญชา ชิณศรี

ภาควิชาโรคพืช

คณะเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th