ดร.ดาลัด ศิริวัน นักวิจัย มก. ได้รับรางวัลทุนวิจัย BRAND’S Health Research Awards 2017
นักวิจัย มก. ได้รับรางวัลทุนวิจัย BRAND’S Health Research Awards 2017
เพื่อศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และสมบัติต้านโรคอัลไซเมอร์จากสารสกัดผลไม้ไทย
ดร.ดาลัด ศิริวัน นักวิจัยชำนาญการ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (คนแรกแถวนั่งด้านซ้าย) ได้รับประทานรางวัลทุนวิจัย BRAND’S Health Research Awards 2017 จาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ และได้รับเงินสนับสนุนทุนวิจัยเป็นเงินจำนวน 135,000 บาท จากผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และสมบัติต้านโรคอัลไซเมอร์จากสารสกัดผลไม้ไทย จำนวน 10 ชนิด โดยใช้วิธีทางเอนไซม์การเพาะเลี้ยงเซลล์ และแมลงหวี่ดัดแปลงพันธุกรรม” จัดโดยมูลนิธิเซเรบอสเพื่อการวิจัยสุขภาพของคนไทย และ บริษัท แบรนด์ ซันโทรี่ ประเทศไทย จำกัด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยทางโภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้องแก่แพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ พยาบาล นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทั่วไป ซึ่งทุนดังกล่าวจะไม่มีข้อผูกพันใดๆทั้งสิ้น เมื่อวันที่16 พฤศจิกายน 2560 ในงานประชุมวิชาการด้านโภชนาการ แบรนด์ เฮลธ์ คอนเฟอร์เรนซ์ 2017 “อาหาร โภชนาการ และการส่งเสริมสุขภาพสำหรับสังคมผู้สูงอายุยุค 4.0” ณ อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดที่พบมากที่สุด ราว 60 – 80 เปอร์เซ็นต์ของโรคสมองเสื่อมชนิดอื่น คาดว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยกว่า 50 ล้านคน สำหรับในประเทศไทย พบผู้ป่วยประมาณ 600,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญของระบบสาธารณสุขในไทย ซึ่งต้องเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโรคนี้ ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงมีความสนใจในการศึกษาฤทธิ์ต้านโรคอัลไซเมอร์จากสารสกัดใหม่ๆ ซึ่งพบมากในพืช ผัก และผลไม้ ซึ่งงานวิจัยที่เกี่ยวกับประโยชน์เชิงสุขภาพของผลไม้ไทยนั้นมีจำนวนมาก ส่วนมากจะเป็นการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และฤทธิ์ต้านโรคอ้วน อย่างไรก็ตามงานศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้านโรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ของผลไม้ไทยยังมีน้อยมาก ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงเน้นไปที่การศึกษา สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านโรคอัลไซเมอร์ โดยศึกษากลไกการยับยั้งโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์และเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายสารสื่อประสาท ตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบจะเลือกมาจากผลไม้ไทย 10 ชนิด ที่เคยทำการวิจัยแล้วและเป็นผลไม้ที่คนไทยนิยมบริโภค ได้แก่ มะม่วงแก้ว มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ฝรั่งพันธุ์กิมจู ฝรั่งพันธุ์ขี้นก สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย สับประรดพันธุ์ภูแล ทุเรียนพันธุ์ชะนี ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มะละกอพันธุ์แขกดำ และ มะละกอพันธุ์แขกนวล ซึ่งสมมุติฐานของผู้วิจัยคือ เมื่อผลไม้ไทยมีฤทธิ์ป้องกันมะเร็งได้ ก็น่าจะมีฤทธิ์ต้านอัลไซเมอร์ได้ เพราะจากการศึกษางานวิจัยในต่างประเทศพบว่า สารที่มีฤทธิ์ป้องกันอัลไซเมอร์ได้ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับที่ป้องกันมะเร็งได้ ผลการศึกษาจากโครงการนี้จะเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัยต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นสำหรับผู้สูงอายุ หรือผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพชนิดอื่นๆ และนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตรภายในประเทศ
ที่มา : งานประชาสัมพันธ์ มก., 25 ธันวาคม 2560