ระดับยาต้านจุลชีพและการตกค้างของยาในปลานิล

ปัจจุบันฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง และปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว แต่ปัญหาที่สำคัญของการเพาะเลี้ยงปลานิลก็ยังคงเป็นเรื่องของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อจุลชีพ ซึ่งทำให้ปลามีอัตราการป่วยและตายสูง และยังพบปัญหาเชื้อจุลชีพดื้อต่อยามากขึ้น รวมทั้งปัญหาการตกค้างของยาในสัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ดร.อักษร แสงเทียนชัย จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะทีมวิจัยประกอบด้วย  ผศ.ดร.กาญจนา อิ่มศิลป์ ผศ.ดร.อุสุมา เจิมนาค รศ.ดร.อำนาจ พัวพลเทพ  ผศ.ดร.ศรัญญา พัวพลเทพ นางสาวนฤมล กลางแก้ว นางสาวนภสร เผ่าชูศักดิ์  ได้ร่วมกันทำการศึกษาระดับยาปฏิชีวนะและการตกค้างของยาในปลานิลรวมทั้งระดับการสะสมในเนื้อเยื่อ เมื่อนำยามาใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในปลานิล และหาระดับยาที่เหมาะสมในการออกฤทธิ์ทางเภสัชจลนศาสตร์ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

โรคที่พบส่วนใหญ่ในปลานิลคือโรคติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อ Streptococcus iniae และ Aeromonas spp โดยนิยมใช้ยาเอนโรฟลอกซาซิน(enrofloxacin)เป็นยาต้านจุลชีพ เนื่องจากเป็นยาที่ออกฤทธ์ได้ดีและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในฟาร์มปลา ฟาร์มกุ้ง จึงได้ทำการทดลองให้ยาเอนโรฟลอกซาซิน 2 ทาง คือให้ยาทางหลอดเลือดดำในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยให้เพียงครั้งเดียว และการให้ยาผสมในอาหารปลาอัดเม็ดสำเร็จรูป ในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวัน โดยให้วันละครั้ง นานติดต่อกัน 5 วัน ทำการวิเคราะห์ด้วยวิธีทางจุลชีววิทยาถึงระดับความเข้มข้นของยาเอนโรฟลอกซาซินในพลาสม่า เนื้อและหนังปลา ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของยาในพลาสม่ากับเวลาภายหลังการให้ยา ศึกษาค่าปริมาตรการกระจายตัวของยาเข้าสู่เนื้อเยื่อ ค่าครึ่งชีวิตของการขับออกของยา และค่าการขจัดยาออกนอกร่างกาย

ในกลุ่มปลาที่ให้ยาเอนโรฟลอกซาซินทางหลอดเลือดดำ พบว่า ยามีการกระจายตัวไปยังเนื้อเยื่ออย่างรวดเร็วและใช้เวลานานในการขับออก โดยตรวจไม่พบความเข้มข้นของยาเอนโรฟลอกซาซินในเนื้อและหนังปลาภายหลังจากให้ยา 3 วัน

ในกลุ่มปลาที่ให้ยาเอนโรฟลอกซาซินผสมอาหาร พบว่าความเข้มข้นสูงสุดของยาเอนโรฟลอกซาซินในพลาสม่าหลังได้รับยาผสมอาหารนาน 24 ชั่วโมง และภายหลังหยุดยาไปแล้ว 2 วัน ความเข้มข้นของยาเอนโรฟลอกซาซินในเนื้อเยื่อและหนังอยู่ต่ำกว่าความเข้มข้นของยาที่ตรวจพบได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในการให้ยาผสมอาหารนั้น ยาสามารถอยู่ในตัวปลาได้นานเนื่องจากมีค่าครึ่งชีวิตของการขับออกนานถึง 8 วันโดยประมาณ โดยพบว่ายาสามารถกระจายไปยังส่วนต่างๆของปลา อาทิ เนื้อ และหนังปลาได้ เนื่องจากสามารถตรวจพบยาเอนโรฟลอกซาซินและซิโปรฟลอกซาซินได้ภายหลังหยุดการให้ยาผสมในอาหารไปแล้ว 5 วัน ดังนั้นหากมีการนำเอนโรฟลอกซาซินไปใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในสัตว์น้ำ รวมถึงปลานิล ควรมีระยะหยุดยามากกว่า 5 วัน เพื่อให้ยาและเมแทบอไลต์ของยาที่สะสมในเนื้อและหนังปลาถูกขับออกนอกร่างกายได้มากที่สุดเสียก่อน

ความเข้มข้น (ค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ของยาเอนโรฟลอกซาซินในเนื้อ (เส้นสัญลักษณ์สี่เหลี่ยม) และหนังปลา (สัญลักษณ์สามเหลี่ยม) ในหน่วยไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร หรือกรัม ภายหลังการให้ยาผสมอาหารในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้าหนักตัวต่อวัน โดยให้วันละครั้ง นานติดต่อกัน 5 วัน

 

จากผลการทดลองครั้งนี้ ทำให้สามารถทราบการกำหนดขนาดยาและระยะหยุดยาในปลานิลที่เหมาะสม โดยพบว่าการให้ยาเอนโรฟลอกซาซินผสมอาหารปลาอัดเม็ดสำเร็จรูป ในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันโดยให้วันละครั้ง นานติดต่อกัน 5 วันเป็นขนาดยาที่เหมาะสมและเพียงพอในการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อจุลชีพที่มีความไวต่อยานี้ในฟาร์มเพาะเลี้ยงปลานิล และต้องให้มีระยะหยุดการใช้ยาก่อนส่งจำหน่าย เนื่องจากยามีการแพร่กระจายไปยังตำแหน่งการออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว มีความเข้มข้นของยาคงอยู่ตลอดระยะเวลาการให้ยาโดยมีสัดส่วนระหว่างความเข้มข้นของยาสูงสุดต่อความเข้มข้นของยาต่ำสุดที่ให้ผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพ  มากกว่า 10 -12 เท่า ให้ผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพ มากกว่า 100 เท่า ทำให้ยาให้ผลในการรักษาดีมากขึ้น เป็นข้อมูลให้เกษตรกรในการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาปลาที่เป็นโรคติดเชื้อจุลชีพในปลานิลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งขนาดและวิธีการให้ยา รวมถึงระยะหยุดยาที่ปลอดภัย ไม่มีการตกค้างของยาในเนื้อปลาเพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะได้รับยาตกค้างต่อไป

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

ดร.อักษร แสงเทียนชัย

ที่มาข้อมูล :      โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

ดร.อักษร แสงเทียนชัย

ภาควิชาเภสัชวิทยา

คณะสัตวแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ :   วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th