กระดาษกรองน้ำมันจากฟางข้าว

นักวิจัยมก.พัฒนากระดาษกรองน้ำมันพืช ผลิตจากฟางข้าว ใช้กรองเศษกากตะกอนพืชที่ผ่านกระบวนการบีบน้ำมัน แยกสิ่งเจือปนออกจากน้ำมัน คุณภาพได้มาตรฐาน มีต้นทุนต่ำกว่ากระดาษที่นำเข้าจากต่างประเทศ และสามารถผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้

การผลิตน้ำมันพืชด้วยการสกัดแบบบีบเย็น เป็นวิธีที่สามารถรักษาคุณภาพของสารอาหารไว้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์มากกว่าการกลั่นที่ใช้ความร้อน ทำให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพดีที่สุด เหมาะสำหรับการผลิตน้ำมันเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่กระบวนการบีบอัดมักจะมีกากตะกอนตกค้างอยู่ในน้ำมัน จำเป็นต้องแยกกากตะกอนออกโดยการกรองด้วยกระดาษกรอง(Filter Paper) แม้จะกรองได้ช้า แต่ก็เป็นวิธีที่ทำให้ได้น้ำมันที่มีคุณภาพที่สุด มีความใส สะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีกากติดมากับน้ำมัน ปัจจุบันกระดาษกรองที่ใช้กันอยู่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง

นายวุฒินันท์ คงทัด นางสาวสุธีรา วิทยากาญจน์ และนายชัยพร สามพุ่มพวง นักวิจัยจากฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการพัฒนากระดาษกรองน้ำมันพืชจากฟางข้าว ให้มีคุณสมบัติใช้กรองเศษพืชที่ผ่านกระบวนการบีบน้ำมัน เพื่อแยกสิ่งปนเปื้อนออกจากน้ำมันพืชในกระบวนการผลิต โดยการเคลือบด้วยสารละลายกลูโคแมนแนนและไคโตซาน

การทดลองใช้ฟางข้าวคละพันธุ์ และเปลือกปอสาเกรดเอ เป็นวัตถุดิบหลัก ทำการศึกษาหาสภาวะและกระบวนการที่เหมาะสมของการต้มเยื่อ ฟอกเยื่อ ตีเยื่อ หาอัตราส่วนการผสมเยื่อฟางข้าวและเยื่อปอสาที่เหมาะสม  หาอัตราส่วนสารที่ใช้เคลือบและความเข้มข้นที่เหมาะสม ศึกษาคุณภาพของกระดาษกรอง ทดสอบสมบัติเชิงกลและการไหลผ่านกระดาษกรองฟางข้าว รวมทั้งศึกษาต้นทุนการผลิตเบื้องต้น

จากผลการศึกษาวิจัยจึงได้กระดาษพิเศษจากฟางข้าว ที่มีคุณสมบัติใช้กรองเศษกากตะกอนพืชที่ผ่านกระบวนการบีบน้ำมัน แยกสิ่งเจือปนออกจากน้ำมัน โดยการเคลือบด้วยสารละลายไคโตซาน ได้กระดาษกรองที่สามารถซับน้ำมันเฉลี่ย 240 % และซับน้ำได้  200% ของน้ำหนักกระดาษแห้ง  อัตราการไหลผ่านกระดาษกรองของน้ำมันพืชเฉลี่ย 0.40 มล./นาที

ผลการพัฒนากระดาษกรองน้ำมันพืชผลิตจากจากฟางข้าวและปอสา เพื่อให้มีคุณสมบัติใช้กรองเศษพืชที่เกิดจากกระบวนการบีบน้ำมันเพื่อแยกสิ่งเจือปนออกไปจากน้ำมัน พบว่า ฟางข้าวสามารถนำมาใช้ผลิตกระดาษกรองน้ำมันพืชได้ และผลการทดลอบใช้กระดาษกรองน้ำมันพืชจากฟางข้าว พบว่า มีคุณสมบัติที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค กระดาษกรองที่ได้มีคุณภาพใกล้เคียงกับกระดาษกรองที่มีจำหน่ายและโรงงานบีบน้ำมันใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนต้นทุนการผลิตเบื้องต้นพบว่ามีต้นทุนต่ำกว่ากระดาษกรองที่มีจำหน่ายค่อนข้างมาก ดังนั้นการพัฒนากระดาษกรองน้ำมันพืชที่ผลิตจากฟางข้าวจึงมีศักยภาพผลิตจำหน่ายได้ทั้งแบบหัตถกรรม หรือการผลิตเชิงพาณิชย์ในระดับชุมชน (OTOP) และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก (SME) ถึงขนาดใหญ่  การผลิตกระดาษกรองน้ำมันจากฟางข้าวนี้จะช่วยลดการนำเข้ากระดาษกรองจากต่างประเทศ และเป็นการใช้วัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ให้เกิดประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

นายวุฒินันท์ คงทัด

ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.

หัวหน้าโครงการ : นายวุฒินันท์ คงทัด

ฝ่ายเทคโนโลยีชีวมวลและพลังงานชีวภาพ

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียบเรียง/สื่อเผยแพร่ : วันเพ็ญ นภาทิวาอำนวย

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th