รักษาโรคผิวหนังขี้เรื้อนในสุนัข แมว ด้วยสมุนไพรไทย

ผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากตัวไรขี้เรื้อนในสุนัข และแมวอย่างได้ผล

โรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เนื่องจากสามารถติดต่อกันทำให้โรคแพร่กระจายได้จากการสัมผัส ทำให้สัตว์มีอาการคัน เกา และเกิดผิวหนังอักเสบเป็นแผล นอกจากนั้นยังมีความเข้าใจผิดในการดูแลรักษา ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด อาการป่วยไม่หาย  เสียค่าใช้จ่ายสูง เสียดุลการค้านำยาเข้าจากต่างประเทศมาใช้รักษาที่ปลายเหตุ

คณะนักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ ได้เริ่มทำการวิจัยการใช้สมุนไพรทางสัตวแพทย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยสามารถค้นคว้าวิจัยจนพบสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บโคได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาวิธีสกัดแบบง่ายๆเพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรสามารถผลิตใช้ได้เอง ได้ทำการศึกษาวิธีสกัดและสารออกฤทธิ์รวมทั้งสูตรส่วนผสมต่างๆ จากพืชอย่างต่อเนื่องมากกว่า 16 ชนิด เช่น เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดมันแกว ทองพันชั่ง ตะไคร้ มังคุด มะขาม เพื่อแก้ปัญหาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง สุนัข และแมว ใช้เวลาค้นคว้าวิจัยมากกว่า 17 ปี จนได้สารสกัดธรรมชาติจากพืชที่มีฤทธิ์ในการกำจัดพยาธิภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาต่อยอดจนเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติจากพืชในหลายรูปแบบ เช่น สเปรย์ แชมพู ครีมต่างๆ และเปิดเป็นคลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ให้บริการรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549  โดยเน้นรักษา ป้องกันและการให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ให้แก้ปัญาหาให้ถูกจุดที่ต้นเหตุ 

จากผลงานวิจัยการใช้สารสกัดจากสมุนไพรทางสัตวแพทย์ รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ จากคลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น ผลิตภัณฑ์รักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากตัวไรขี้เรื้อนในสุนัข และแมวจากสมุนไพรตะไคร้หอม   ทองพันชั่ง น้ำมันผิวส้ม น้ำมันผิวมะกรูด จนได้เป็นผลิตภัณฑ์ ดีโม สครับ (DemoScrub) ผลิตภัณฑ์ ดีโม ครีม (Demo Cream) และโลชั่น เคยู มิติไซด์ (KU Miticide)  ทั้งนี้การใช้ผลิตภัณฑ์อย่างได้ผลจำต้องทำความเข้าใจวงจรชีวิตของตัวไรขี้เรื้อนนี้อย่างถูกต้องด้วย

สุนัข แมว ที่เป็นขี้เรื้อน พบว่าเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากตัวไรขี้เรื้อนที่พบบ่อยมี 3 ชนิด คือ

1) ตัวไรขี้เรื้อนแห้ง จะขุดผิวหนังชั้นนอกของสุนัข แมวเป็นท่อวางไข่  โดยจะเห็น เซลล์ผิวหนังชั้นนอกที่ถูกตัวไรขุดขึ้นมาจะหลุดออกมา แห้งเกาะจับกันเป็นแผ่นรังแคติดขน เมื่อสุนัขคันเกา รังแคและขนจะร่วงหมด จนเห็นผิวหนังขอบใบหูไม่มีขน  เห็นผิวหนังถลอกและน้ำเหลืองแห้งเป็นสีน้ำตาลเข้ม  ส่วนแรกๆที่ไปสัมผัสกับสุนัขที่มีตัวไร ทำให้ตัวไรติดผิวหนังบริเวณนั้นก่อน เช่น ปลายหู ปลายหาง ซึ่งเป็นที่บริเวณผิวหนังบางและเย็นกว่าหนังส่วนอื่นๆ ด้วย   เมื่อจับปลายใบหูบี้ ตัวไรจะมุดหนีลงรู ทำให้สุนัขคัน ยกขาหลังเกาตัว   ถ้าละเลยทิ้งไว้นาน ตัวไรจะผสมพันธุ์ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นทวีคูณ ขุดท่อวางไข่กระจายทั้งตัว และเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจะเข้าผิวหนังที่สุนัขเกาถลอก ทำให้ผิวหนังอักเสบแดง ถ้าทิ้งไว้นานจะกระจายทั้งตัว ตัวมีกลิ่นเหม็นสาบ

2) ตัวไรขี้เรื้อนเปียก มี 2 พวก

2.1) ตัวไรขี้เรื้อนเปียกชั้นลึกหรือไรขี้เรื้อนขุมขน เป็นพวกที่มุดลงไปวางไข่ที่โคนรากขนและต่อมไขมัน ในผิวหนังชั้นใน และนำเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังติดตัวไรลงไปด้วย ทำให้รากขนและต่อมไขมันอักเสบเป็นตุ่มคล้ายหัวสิว มักจะเกิดที่หัว ดั้งจมูก และแก้มก่อน เพราะสุนัขของเราไปให้สุนัขที่เป็นขี้เรื้อนเปียกเอาขาลูบหัวมา หรือเอาจมูกไปดมๆ หน้าสัมผัสกัน หรือถ้าสุนัขของเราไปขี่เล่นกับสุนัขที่เป็นขี้เรื้อนเปียกมา ก็จะติดตัวไรที่ใต้ท้องหน้าอกก่อน (เป็นตุ่มขน  อักเสบเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่ติดตัวไรลงไปที่รากขน ดังรูปล่างซ้ายนี้)  และตัวไรขี้เรื้อนเปียกชนิดนี้ ชอบวางไข่ตรงบริเวณที่ผิวหนังชั้นในหนาเช่นที่ส่วนหัว แก้ม คาง คอ  ซึ่งตัวไรที่ติดมาแรกๆ นั้นยังมีจำนวนน้อย ก็มุดลงผิวหนังข้างขนจำนวนน้อย จึงเห็นผิวหนังเป็นแค่จุดตุ่มขนอักเสบแดงเหมือนหัวสิว สุนัขจะมีอาการคัน และเกาในขณะที่ตัวไรมุดลงผิวหนัง แล้วตัวไรจะวางไข่เพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณ กระจายเป็นทั้งตัว  และจะเกามากจนเลือดออก หนังเป็นแผลตอนที่ไข่ฟักออกเป็นไรตัวอ่อน ซึ่งไข่ที่วางไว้ครบ 3 สัปดาห์จะฟักออกตอนสุนัขนอนหลับสนิทตัวเย็น ช่วงเวลาราวๆ ตีสาม ตีสี่  ไรตัวอ่อนที่ฟักออกมา จะกัดผิวหนังชั้นในโดนปลายประสาทที่รากขน ทำให้สุนัขเจ็บรุนแรงมาก จนต้องเกาให้โดนตัวไรที่กัดปลายประสาทอยู่นั้นตายจึงจะหายคัน  ดังนั้นต้องเกาถึงรากขนเพื่อให้โดนตัวไร เลือดจึงออก ทำให้ตอนเช้าเราเห็นผิวหนังสุนัขบวมอักเสบ มีเลือด น้ำเหลือง แห้งติดผิวหนัง นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อพาสุนัขไปตัดขนที่ร้าน อาจจะติดตัวไรจากปัตตาเรี่ยนที่ตัดขนสุนัขตัวก่อนที่มีตัวไร แล้วมาตัดขนสุนัขของเรา ซึ่งถ้ามีตัวไรติดมา ให้เจ้าของสังเกตว่า สุนัขของเราเการุนแรงหลังจากไปตัดขนมาสักพัก

  2.2 ตัวไรขี้เรื้อนเปียกชั้นผิว เป็นพวกที่มุดลงไปวางไข่ที่ผิวหนังชั้นนอก หรือที่ต่อมไขมัน  นำเชื้อแบคทีเรียติดตัวลงไปถึงต่อมไขมัน ทำให้ผิวหนังแดงเป็นปื้น แต่ไม่นูนเห่อหนา และมีคราบไคลไขมันละเอียดๆบนหนัง (แต่ไม่เป็นเหมือนผงเหมือนกรณีสุนัขเป็นโรคผิวหนังจากเชื้อยีสต์) ถ้าเป็นนานขนจะร่วงเป็นหย่อมๆ บนบริเวณที่หนังแดง 

3) ตัวไรชิคเกอร์ ที่ติดมาจากพืช จะกัดผิวหนังเป็นแผลหลุมเล็กๆ ขยายกว้างเป็นวงเกือบกลม ตามแก้ม หัว คอ ลำตัว

การรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากตัวไรทั้ง 3 ชนิด

         1.ตัดขนสุนัข แมวให้ติดหนัง เพื่อจะได้พ่นหรือทายาให้โดนตัวไรที่อยู่บนผิวหนังให้ตายได้ทั่วถึงทันที ไม่ให้ตัวไรรู้ตัวมุดหนีลงหนัง
           2.พ่นผิวหนังสุนัขโดยตรงด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ดีโม สครับ (DemoScrub)ให้ทั่วตัวเร็วๆทันที ขณะตัวแห้ง (พ่นฟอกแห้ง ห้ามใช้น้ำราดตัวสุนัข ก่อนพ่น เพื่อไม่ให้ตัวไรรู้ตัว) ห้ามพ่นเป็นหย่อมๆ หรือเป็นเส้นห่างๆ เพราะตัวไรที่โดนพ่นเฉียดๆ จะคลานหนีเข้ารูผิวหนังที่ตัวไรขี้เรื้อนแห้งขุดไว้ หรือตัวไรขี้เรื้อนเปียกหนีมุดลงข้างเส้นขนได้ และให้ถูฟอก 3-4 นาทีทำความสะอาดหนัง แล้วล้างฟอกออกด้วยน้ำเปล่า เช็ดตัวให้แห้ง โดยห้ามใช้แชมพูอื่นอีกครั้ง ให้ทำเช่นนี้ติดต่อกัน วันเว้นวัน

          3. ทาหนังที่หน้าและที่สุนัขเกาด้วยผลิตภัณฑ์ ดีโม ครีม (Demo Cream) และเช็ดผิวหนังที่ไม่เป็นแผลให้ทั่วตัวโดยใช้ผ้ากอสแผ่นซ้อนกัน 3 แผ่น ชุบโลชั่น เคยู มีติไซต์ (KU Miticide) ทำวันละ 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้ง เช้า-เย็น (ห้ามใช้สำลีเพราะสำลีมีหน้าสัมผัสน้อย และไม่มีตารางเก็บตัวไรและเชื้อออกจากผิวหนัง)
          4. ทำตามขั้นตอน 2 และ 3 ติดต่อกัน อย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป จนสุนัขไม่มีอาการเกาผิวหนัง และผิวหนังเรียบปกติ จึงจะทำเว้นห่างเหลือสัปดาห์ละ 2 ครั้งได้ จนผิวหนังปกติต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน
          5. ห้ามปล่อยสุนัขไปเล่นกับสุนัขอื่นที่เป็นขี้เรื้อนอีก เพราะจะไปติดตัวไรมาใหม่ ก็จะเป็นใหม่อีก หรือ การนำสุนัขไปตัดขนที่ร้าน ต้องใช้โลชั่น KU miticide เช็ดกรรไกรก่อนตัดขนแต่ละตัว เพื่อฆ่าตัวไรขี้เรื้อนที่อาจติดมาจากสุนัขที่จะมาตัดขนตัวก่อนหน้าด้วย

ตลอดระยะเวลาดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ คลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี 2557 ประเภทนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)

คลินิกสมุนไพรสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เปิดให้บริการรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง สัปดาห์ละ 4 วันคือ วันอังคาร วันพุธ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 14.30 น.  สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ทางหมายเลข 081 944 5865

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :  นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  :    รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ

คลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์

คณะสัตวแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                                สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ