กำจัดเห็บ หมัด เหา ในสัตว์เลี้ยงให้ตรงจุด ด้วยสมุนไพรไทย

ผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพร กำจัดเห็บ หมัด เหา สำหรับสุนัข และแมวอย่างได้ผล

โรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เนื่องจากสามารถติดต่อกันทำให้โรคแพร่กระจายได้จากการสัมผัส ทำให้สัตว์มีอาการคัน เกา และเกิดผิวหนังอักเสบเป็นแผล นอกจากนั้นยังมีความเข้าใจผิดในการดูแลรักษา ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด อาการป่วยไม่หาย  เสียค่าใช้จ่ายสูง เสียดุลการค้านำยาเข้าจากต่างประเทศมาใช้รักษาที่ปลายเหตุ

คณะนักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ ได้เริ่มทำการวิจัยการใช้สมุนไพรทางสัตวแพทย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยสามารถค้นคว้าวิจัยจนพบสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บโคได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาวิธีสกัดแบบง่ายๆเพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรสามารถผลิตใช้ได้เอง ได้ทำการศึกษาวิธีสกัดและสารออกฤทธิ์รวมทั้งสูตรส่วนผสมต่างๆ จากพืชอย่างต่อเนื่องมากกว่า 16 ชนิด เช่น เมล็ดน้อยหน่า เมล็ดมันแกว ทองพันชั่ง ตะไคร้ มังคุด มะขาม เพื่อแก้ปัญหาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง สุนัข และแมว  ใช้เวลาค้นคว้าวิจัยมากกว่า 17 ปี จนได้สารสกัดธรรมชาติจากพืชที่มีฤทธิ์ในการกำจัดพยาธิภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาต่อยอดจนเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติจากพืชในหลายรูปแบบ เช่น สเปรย์ แชมพู ครีมต่างๆ และเปิดเป็นคลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ให้บริการรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549  โดยเน้นรักษา ป้องกันและการให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงสัตว์ให้แก้ปัญหาให้ถูกจุดที่ต้นเหตุ  เช่น ต้องรู้วงจรชีวิตของเห็บ หมัด เหา ต้องจัดการกับเชื้อที่อยู่บนตัวสัตว์ และควบคุมไม่ให้ติดต่อใหม่อีก การกิน หยด ฉีดยา บนตัวสัตว์ โดยไม่ได้กำจัดเห็บหมัดที่บริเวณพื้นที่นอนของสัตว์ จะไม่สามารถแก้ปัญหาเห็บ หมัด ในสัตว์เลี้ยงได้ พร้อมทั้งแนะนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากผลการวิจัยที่มีประสิทธิภาพแทนการใช้ยาเคมีนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น

ตลอดระยะเวลาดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ คลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประจำปี 2557 ประเภทนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)

จากผลงานวิจัยการใช้สารสกัดจากสมุนไพรทางสัตวแพทย์ รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ จากคลินิกสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์เป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ เช่น ผลิตภัณฑ์ เคยู เอ็กโต (KU Exto) ผลิตภัณฑ์สารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่า มีประสิทธิภาพในการกำจัดเห็บ หมัด เหา สำหรับสัตว์เลี้ยง มีทั้งในรูปสเปรย์ฉีดพ่น และแชมพูอาบน้ำ ทั้งนี้การใช้ผลิตภัณฑ์อย่างได้ผลจำต้องทำความเข้าใจวงจรชีวิตของเห็บ หมัด เหา อย่างถูกต้องด้วย

เห็บสุนัข เป็นปรสิตตัวร้ายของน้องหมาแสนรักของเรา  ขาเห็บมีสีน้ำตาลแดง จึงเรียก Brown dog ticks  สายพันธุ์ที่พบได้มากที่สุดในสุนัขเลี้ยงในประเทศไทยคือ Rhipicephalus sanguineus  รูปร่างของเห็บจะแตกต่างกันขึ้นกับช่วงชีวิต ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ไข่เห็บ (Egg) เห็บตัวอ่อน (Larva หรือ Seed ticks) มี 6 ขา เห็บตัวกลางวัย (Nymph) มี 8 ขา และตัวเต็มวัย (Adult) มี 8 ขา ส่วนหัวจะเห็นไม่ชัดเจน แต่จะเห็นส่วนที่เป็นปากยื่นออกมาทางตอนหน้าตัว เห็บจะใช้ส่วนปากของมันแทงผิวหนังของสุนัขและฝังปากของมันเข้าในชั้นใต้ผิวหนังเพื่อเกาะบนผิวหนัง แล้วดูดกินเลือดเป็นอาหาร เห็บตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย จะใช้เวลาเกาะดูดกินเลือดอยู่บนตัวสุนัข ประมาณ 3-7 วัน วงจรชีวิตของเห็บสุนัขจะมีการขึ้นลงหรือเข้าออกตัวสัตว์หลายครั้ง ในขณะเห็บเกาะดูดเลือดนั้นเห็บจะปล่อยน้ำลายเข้าทางผิวหนัง ในน้ำลายเห็บมีสารทำให้เส้นเลือดขยายตัว สารให้ผิวหนังชา สารต้านการอักเสบ สารต้านการหยุดไหลของเลือด สารกดภูมิต้านทานและสารต้านการแพ้ เห็บจึงดูดกินเลือดได้นานโดยสุนัขจะไม่รู้สึกคัน จึงไม่เกา  เมื่อเห็บดูดกินเลือดสุนัขจนอิ่มพอ ก็จะหดปากปล่อยตัวลงพื้นในขณะที่สุนัขนอนหลับสนิท โดยเห็บจะรู้ว่าสุนัขนอนหลับเนื่องจากเมื่อสุนัขหลับอุณหภูมิตัวสุนัขจะเย็นลง และสุนัขมักจะมีที่นอนประจำของมัน  เมื่อตัวสุนัขเย็นลง เห็บจะหดปาก ปล่อยตัวลงพื้น คลานไปยังขอบ ซอกมุม เพื่อหลบซ่อนตัวเพื่อลอกคราบเปลี่ยนวัย จากเห็บตัวอ่อน กลายเป็นตัวเห็บกลางวัย หรือเห็บเต็มวัย ตามลำดับ โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์  แล้วจะคลานกลับขึ้นตัวสุนัขใหม่อีกเมื่อสุนัขกลับมานอนที่เดิม ส่วนเห็บตัวเต็มวัยตัวเมียที่ดูดเลือดจนตัวเปล่งและมีไข่ด้วย เมื่อสุนัขนอนและมีอุณหภูมิตัวเย็นลง เห็บที่มีไข่นั้นจะหดปากปล่อยตัวลงพื้นเช่นกัน จากนั้นจะคลานไปหลบยังขอบซอกมุมเพื่อออกไข่ประมาณ 2,000 ฟองต่อตัว ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วตัวเมียนี้ก็จะแห้งตาย ไข่ที่วางไว้นี้จะใช้เวลา 3 สัปดาห์ ฟักออกมาเป็นตัวอ่อน เมื่อสุนัขมานอนที่เดิมๆ เห็บที่พื้นก็จะคลานขึ้นตัวสุนัขอีก เห็บหนึ่งตัว จึงขึ้นและลงจากตัวสุนัข 3 ครั้ง

ดังนั้นการกำจัดเห็บให้ตรงจุดนั้น ต้องฉีดพ่นด้วย เคยู เอ็กโต (KU Exto) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดน้อยหน่า สามารถฆ่าเห็บได้ทุกวัย ตั้งแต่ระยะเป็นไข่เห็บ เห็บตัวอ่อน เห็บตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย โดยต้องพ่นตามขอบ ซอก มุมพื้น เป็นเส้นรอบวงสี่ด้านบริเวณที่สุนัขมานอนหลับ เห็บส่วนที่อยู่บนพื้นนี้จะมีอยู่ประมาณ 95 %   ให้ฉีดพ่นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 สัปดาห์  จะทำให้เห็บที่อยู่บนพื้นบริเวณที่ฉีดพ่นตายทั้งหมด ก็จะไม่มีเห็บที่จะขึ้นบนตัวสุนัขใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง หรือสาม  แต่หากสุนัขออกไปติดเห็บมาจากบริเวณอื่นอีก ก็ต้องฉีดพ่นสเปรย์ เคยู เอ็กโต (KU Exto)ตามขอบ ซอก มุม พื้นที่สุนัขนอนอีก  เห็บที่เหลืออีก 5 % จะเป็นเห็บส่วนที่อยู่บนตัวสุนัข ให้ฉีดพ่นด้วย เคยู เอ็กโต วอเตอร์เบส (KU Exto Waterbase) รวมทั้งอาบน้ำสุนัขด้วยเคยู เอ็กโต แชมพู (KU Exto Shampoo) สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เห็บที่ติดมาใหม่จะถูกฆ่าตายด้วยสมุนไพรที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุนัขหรือเจ้าของผู้ใช้ แต่สามารถกำจัดเห็บได้ทุกวัย เพื่อให้เห็บตายก่อนที่จะปล่อยตัวลงพื้นที่นอนประจำของสุนัข เพื่อลอกคราบหรือวางไข่ได้อีก

ส่วนหมัด ให้ใช้ สเปรย์เคยู เอ็กโต (KU Exto spray ) ฉีดพ่นที่พื้นนอนของสุนัข แมว สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ เนื่องจากระยะไข่ ตัวอ่อน และระยะดักแด้ของหมัดนั้น จะอยู่ที่พื้นที่นอนประจำของสุนัข แมว และใช้สเปรย์เคยู เอ็กโต วอเตอร์เบส (KU Exto Waterbase spray) ฉีดพ่นบนตัวสุนัข แมวด้วย เพื่อฆ่าหมัดตัวเต็มวัยบนตัวสัตว์ ดังนั้นจึงต้องฉีดพ่นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้เลยระยะเวลาที่ไข่จะฟักจนเจริญเป็นหมัดตัวเต็มวัยหมด   

 

ส่วนเหานั้น  พบว่า ทุกระยะของวงจรชีวิตของเหาทั้งไข่ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะอยู่บนตัวสัตว์  จึงให้ใช้สเปรย์ เคยู เอ็กโต วอเตอร์เบส (KU Exto Waterbase) ฉีดพ่นฆ่าเหาทุกระยะบนตัวสุนัข แมว หรืออาบน้ำด้วยด้วยเคยู เอ็กโต แชมพู (KU Exto Shampoo) สัปดาห์ละ 2 ครั้งติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์ให้เลยระยะเวลาวงจรชีวิตของเหา

คลินิกสมุนไพรสัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เปิดให้บริการรักษาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง สัปดาห์ละ 4 วันคือ วันอังคาร วันพุธ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 14.30 น.  สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ทางหมายเลข 081 944 5865

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

           ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์ จึงสมานญาติ

คลินิกสมุนไพร โรงพยาบาลสัตว์

คณะสัตวแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่อง/สื่อเผยแพร่  :        ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                            สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

โทร. 02 561 1474

e-mail : rdiwan@ku.ac.th

รศ.ดร.น.สพ.ณรงค์ จึงสมานญาติ