บล็อกซีเมนต์ขาวผสมฟางข้าวเสริมลำไผ่
จากภูมิปัญญาพื้นบ้านในการก่อสร้างผนังอาคารในอดีต พัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูป บล็อกซีเมนต์ขาวผสมฟางข้าวเสริมลำไผ่ ใช้ก่อสร้างผนังอาคารได้ทั้งภายในและภายนอก สวยงาม และยังสามารถช่วยลดความร้อนเข้าสู่อาคารด้วย
จากภูมิปัญญาพื้นบ้านในการก่อสร้างผนังอาคารในอดีตซึ่งใช้วิธีสร้างผนังจากโครงไม้ไผ่แล้วฉาบผิวด้วยดิน โดยวัสดุประสานอาจผสมแกลบหรือฟางข้าวเพื่อกันผนังแตกร้าวเมื่อดินแห้ง การฉาบผนังด้วยเทคนิคนี้ พบว่าสามารถช่วยลดอุณหภูมิในอาคารบ้านเรือน และสามารถป้องกันความชื้นได้และผนังมีความคงทนมีอายุใช้งานได้ยาวนาน วิธีการเช่นนี้ในปัจจุบันยังสามารถพบได้ในบางท้องถิ่น เช่น ที่หลวงพระบางในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมทั้งบางพื้นที่แถบอีสานของไทย แต่กระบวนการก่อสร้างผนังวิธีนี้ต้องใช่เวลานาน คุณสมบัติเชิงกายภาพไม่คงที่ มีน้ำหนักมาก ไม่สะดวกในการขนย้าย และมีข้อจำกัดในเรื่องมาตรฐานการผลิตขึ้นกับความชำนาญของช่างพื้นถิ่น เป็นเหตุให้วัสดุการก่อสร้างประเภทนี้ไม่นิยมและเริ่มสูญหายไป
ดร.โสภา วิศิษฏ์ศักดิ์ นางสาววริษา สายะพันธ์ และศ.ดร.โจเซฟ เคดารี จากภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีแนวคิดที่จะอนุรักษ์ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในอดีตนี้ไว้ แต่นำมาต่อยอดพัฒนาด้วยเทคนิคสมัยใหม่ให้มีความเหมาะสมและสะดวกต่อการใช้งานในปัจจุบัน จึงนำมาสู่นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างบล็อกคอนกรีตสำเร็จรูป “บล็อกซีเมนต์ขาวผสมฟางข้าวเสริมลำไผ่”
บล็อกซีเมนต์ขาวผสมฟางข้าวเสริมลำไผ่ เป็นวัสดุก่อสร้างผนังอาคารสำเร็จรูปตามมาตรฐานกระทรวงอุตสาหกรรม มอก.58-2533 ประเภททคอนกรีตบล็อกไม่รับน้ำหนัก ขนาดความยาว 39 ซม. สูง 19 ซม. และหนา 7 ซม. โดยมีส่วนผสมของวัสดุจากธรรมชาติ คือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ ฟางข้าวและไม้ไผ่ โดยประยุกต์ใช้ไม้ไผ่ทั้งลำเพื่อช่วยเสริมการรับแรงตามแนวตั้ง ช่วยลดน้ำหนัก ลดปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์และทราย สามารถใช้ก่อสร้างผนังอาคารทั้งภายในและภายนอก มีลักษณะของพื้นผิวสวยงามตามธรรมชาติคล้ายหินอ่อน สามารถโชว์พื้นผิวโดยไม่จำเป็นต้องฉาบปูน ทาสี มีคุณสมบัติช่วยในการลดความร้อนเข้าสู่อาคาร ซึ่งส่งผลต่อการลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ
จากการทดสอบในสภาวะแวดล้อมตามสภาพอากาศจริง ระหว่าง บล็อกซีเมนต์ขาวผสมฟางข้าวเสริมลำไผ่ คอนกรีตบล็อกทั่วไป และคอนกรีตมวลเบา ทดสอบเปรียบเทียบค่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย เป็นเวลา 3 วัน พบว่า บล็อกซีเมนต์ขาวผสมฟางข้าวเสริมลำไผ่ มีประสิทธิภาพในการช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคารได้ดีกว่าคอนกรีตบล็อกทั่วไป และมีประสิทธิภาพในการช่วยลดความร้อนภายในอาคารใกล้เคียวกับอิฐมวลเบา
วัสดุทดสอบ | คอนกรีตบล็อกทั่วไป | บล็อกซีเมนต์ขาวผสมฟางข้าวเสริมลำไผ่ | คอนกรีตมวลเบา | อุณหภูมิภายนอก |
องศาเซลเซียส | 38.25 | 35.63 | 35.26 | 33.02 |
วิธีผลิต
1.ผสมปูนซีเมนต์ขาว ฟางข้าว ทราย และน้ำสะอาดให้เข้ากัน
2.ใส่ส่วนผสมลงในแม่แบบ สูง 2 ซฒ.
3.บรรจุลำไม้ไผ่ 6 ลำ ขนาดความสูง 13 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-4 ซม.
4.ใส่ส่วนผสมให้เต็มแม่แบบ
5.รอบล็อกแข็งตัว 2-3 วันแล้วจึงแกะแม่แบบ และบ่มไว้ในร่มประมาณ 28 วัน
บล็อกซีเมนต์ขาวผสมฟางข้าวเสริมลำไผ่ เป็นผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่ได้รับรางวัล เหรียญเงินและรางวัลพิเศษ Silver Medal Special award จาก “The 1st World Invention Innovation Contest 2015” จัดโดย KOREA invention News (KINEWS) กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้
ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม—> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3
ที่มาข้อมูล : นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560
ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน 27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560 เจ้าของผลงาน : ดร.โสภา วิศิษฏ์ศักดิ์ นางสาววริษา สายะพันธ์ และศ.ดร.โจเซฟ เคดารี ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สื่อเผยแพร่ : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |
|
ดร.โสภา วิศิษฏ์ศักดิ์ |