แผ่นผนังภายในอาคารจากใบสัก

  

นักวิจัย มก.จดอนุสิทธิบัตร “แผ่นผนังภายในอาคารจากใบสัก”วัสดุบุผนังภายในอาคารจากธรรมชาติ 100 %

ใบสักเป็นผลผลิตจากสวนป่าที่มีอยู่มากกว่าเก้าแสนไร่ ในแต่ละปีจึงมีใบสักที่ได้จากช่วงเวลาของการผลัดใบเป็นปริมาณมหาศาล และเป็นวัวัตถุดิบเหลือใช้ที่หาได้ง่าย เนื่องจากสวนป่าสัก จะกระจายอยู่ในหลายๆพื้นที่ในประเทศไทย โดยจะพบได้มากในพื้นที่ทางภาคเหนือ

ดร.โสภา วิศิษฏ์ศักดิ์  อาจารย์ประจำภาควิชานวัตกรรมอาคาร  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และรศ.ดร.ทรงกลด จารุสมบัติ จากภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมด้วย น.ส.ภัสสร กลิ่นรอด  และProfessor Dr. Joseph Khedari จึงนำใบสักมาพัฒนาเป็นวัสดุบุผนังภายในที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียง ร่วมกับการใช้ยางบงที่ได้จากเปลือกต้นบงเป็นกาวประสาน เนื่องจากเป็นวัสดุธรรมชาติจึงมีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นวัสดุที่ปลอดจากสารเคมี และฟอมัลดีไฮด์ เป็นภูมิปัญญาในอดีตที่มีศักยภาพในการนำมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุประสานเพื่อการป้องกันการเข้าทำลายของแมลงต่างๆในรูปแบบใหม่

 

แผ่นผนังภายในอาคารจากใบสัก ใช้เป็นวัสดุบุผนังภายในอาคารเพื่อใช้ในการตกแต่งให้เกิดความสวยงาม ทดแทนการใช้ไม้ มีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ และมีประสิทธิภาพช่วยลดความร้อนจากภายนอกที่จะเข้าสู่ภายในอาคาร และช่วยลดเสียงรบกวน เหมาะสำหรับอาคารต่างๆและบ้านพักอาศัย โดยสามารถยึดติดกับผนังเดิมหรือทำเป็นโครงคร่าว สำหรับเป็นผนังกั้นห้อง เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติ

 

วิธีการผลิต

  1. เตรียมวัสดุโดยนำใบสักแห้งที่เตรียมไว้มาล้างทำความสะอาด
  2. การลดความชื้น อาจใช้วิธีได้แก่ การผึ่งแดด หรือ การอบด้วยเตาอบ
  3. นำใบสักไปทำการบดโดยเข้าเครื่องบดวัสดุ
  4. ผสมน้ำสะอาดเข้ากับผงยางบง ผสมกันจนกระทั่งมีความหนืด
  5. ผสมใบสักที่บดแล้วลงไปคลุกเคล้าให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน
  6. ขึ้นรูปเป็นแผ่นโดยวิธีการอัดร้อน ที่อุณหภูมิระหว่าง 100-120 องศาเซลเซียส
  7. นำแผ่นวัสดุที่ได้ มาพักบนตะแกรงที่ระบายอากาศได้ เพื่อปรับสภาพให้วัสดุเซ็ทตัว เป็นเวลา 24 ชม.
ใบสัก ยางบง น้ำ

 

                                                                                  

คุณสมบัติ

1. เป็นวัสดุธรรมชาติ 100 % ไม่มีสารเคมี หรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

2. สารแทรกในใบสักและเปลือกยางบงมีคุณสมบัติในการช่วยรักษาวัสดุจากการกัดกินของปลวก มด และมอดได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

3. มีความสวยงามของใบสัก มีเฉดสีธรรมชาติ มีลวดลายโดดเด่น และให้ความรู้สึกเสมือยไม้จริง

4. มีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนต่ำกว่าวัสดุยิบซัมบอร์ด และปาร์ติเกิลบอร์ด จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อนได้ดี

5. มีคุณสมบัติช่วยดูดซับเสียงได้

6. มีต้นทุนของวัสดุและการผลิตต่ำ เนื่องจากใช้วัสดุเหลือทิ้ง อุปกรณืและเทคโนโลยีในการผลิตที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน

7.น้ำหนักเบา ติดตั้งได้สะดวก

8. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายธรรมชาติ

แผ่นผนังภายในอาคารจากใบสัก ได้รับรางวัล GOLD MEDAL และ SPECIAL AWARD จากการประกวด “The 1st World Invention Innovation Contest (WiC2015)”จัดโดย Korea Invention News(KINEWS) สาธารณรัฐเกาหลีใต้

แผ่นผนังภายในอาคารจากใบสัก ได้รับการจดอนุสิทธบัตรแล้ว และได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560 ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน เมื่อวันที่ 27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

ที่มาข้อมูล :      นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  : ดร.โสภา วิศิษฏ์ศักดิ์

                             ภาควิชานวัตกรรมอาคาร

                             คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

                            มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สื่อเผยแพร่  :     ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                            สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                           โทร. 02 561 1474

                           e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ดร.โสภา วิศิษฏ์ศักดิ์