TILAVAC : วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลาทับทิม

ปลาปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัยด้วย “TILAVAC” วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลาทับทิมสาเหตุของโรคตายเดือนในปลานิลและปลาทับทิม

ปลานิลและปลาทับทิม เป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญของไทย ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในรูปแบบธุรกิจมีทั้งการเลี้ยงในบ่อดินและในกระชัง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาประสบปัญหาการตายของปลาที่รุนแรง คือปัญหาเรื่องการเกิดโรค ที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ปลาลอยตายจำนวนมาก และยังไม่มียาหรือสารเคมีเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรคได้อย่างสิ้นเชิง

ผศ.น.สพ.ดร.วิน สุุรเชษฐพงษ์ และทีมวิจัยจากภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค้นพบเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ที่ไขปัญหาสาเหตุของโรคตายเดือนในปลานิลและปลาทับทิมเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและเอเชีย  โรคตายเดือนในปลานิลและปลาทับทิม(Tilapia One Month Mortality Syndrome : TOMMS) ทำให้ปลาตายรุนแรงในช่วงหนึ่งเดือนแรกที่นำลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อหรือในกระชัง มีอัตราการตายของปลาสูงตั้งแต่ 20 – 100% เป็นเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องมาอย่างน้อย 5 ปี โดยไม่ทราบสาเหตุ  เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้างแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและมูลค่าทางเศรษฐกิจการตลาด

ผศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ และทีมวิจัย ได้นำตัวอย่างปลาที่มีอาการตายเดือนมาตรวจวิเคราะห์เชื้อไวรัส พบว่าลักษณะเชื้อไวรัสที่พบในปลาทับทิมตายเดือนในประเทศไทย คล้ายคลึงกับ RNA ไวรัสในปลานิล ที่ชื่อว่า Tilapia Lake Virus : TiLV ซึ่งมีอาการตายเดือนที่พบครั้งแรกที่ประเทศอิสราเอล และมีการพบในลาตินอเมริกาที่ประเทศเอกวาดอร์ และโคลัมเบีย ซึ่งเชื้อไวรัส TiLV นี้สามารถถ่ายทอดไปสู่ปลาปกติที่เลี้ยงอยู่ร่วมกัน โดยได้ทำการทดลองฉีดเชื้อไวรัส TiLV ในปลาทับทิม พบว่าปลาจะมีอาการว่ายน้ำแยกกลุ่ม กินอาหารลดลง หรืออยู่นิ่งกองรวมกันที่ก้นตู้ ส่วนผลการทดลองในปลานิลที่ฉีดเชื้อไวรัสนี้ พบว่าะมีอาการตกเลือด และมีรอยจ้ำเลือด 

เชื้อไวรัสอุบัติใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคตายเดือนในปลานิลและปลาทับทิม ยังไม่มียารักษาที่จำพาะ การใช้ยาปฏิชีวนะจะไม่ช่วยในการลดความเสียหาย แต่กลับเป็นการเพิ่มต้นทุนการเลี้ยง และเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ดังนั้น วัคซีนจึงเป็นทางออกสำคัญในการป้องกันโรค  

 ผศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ และทีมวิจัย จึงได้ศึกษาวิจัยและพัฒนา TILAVAC ให้เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลาทับทิม เป็นวัคซีนต้นแบบทั้งเชื้อเป็นและเชื้อตาย ผลิตจากเชื้อไวรัสที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย  วัคซีนที่พัฒนาขึ้นนี้ มีทังแบบให้โดยการฉีดและโดยการแช่ในน้ำ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันปลา ทำให้เพิ่มอัตราการรอดตาย และลดอัตราป่วยจากเชื้อไวรัสอุบัติใหม่  ลดการใช้ยาและสารเคมีที่ไม่จำเป็น  ลดการนำเข้ายาและสารเคมีจากต่างประเทศ ช่วยลดค่าใช้จ่ายต้นทุนการเลี้ยงปลา   เป็นการลดปัญหาเชื้อดื้อยา ขณะเดียวกันเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

“TILAVAC”  วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลาทับทิม ได้ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา ปี 2559 เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นคำขอสิทธิบัตร 1 เรื่อง และอนุสิทธิบัตรอีก 3 เรื่อง

“TILAVAC”  วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ในปลานิลและปลาทับทิม ได้รับรางวัลสุดยอดนวัตกรรมประเภทบุคลากร และรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรม มก. ปี 2559 ด้านวิทยาศาสตร์อาหารและสุขภาพ ประเภทบุคลากรจูเนียร์ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 และร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560 ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน เมื่อวันที่ 27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา

ขอขอบคุณที่ท่านเข้ามาอ่านบทความวิจัยนี้ และขอความกรุณาสละเวลาตอบแบบสอบถามการให้บริการข้อมูล เพื่อการปรับปรุงต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง  

คลิกที่นี่เพื่อตอบแบบสอบถาม> https://goo.gl/forms/hcBXc1080pJmdUmF3

 

  ที่มาข้อมูล : นิทรรศการผลงานนวัตกรรม งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2560

ศาสตร์แห่งแผ่นดิน ทำกินตามคำพ่อสอน  27 ม.ค – 4 ก.พ. 2560

เจ้าของผลงาน  :  ผศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ และทีมวิจัย

                             ภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน

                            คณะสัตวแพทยศาสตร์

                           มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สื่อเผยแพร่  :     ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

                           สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

                         โทร. 02 561 1474

                         e-mail : rdiwan@ku.ac.th

ผศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์