อาจารย์/นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย

รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Awards)
โดย มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย

จำนวนรางวัลมี 2 รางวัล สำหรับบุคคล คณะบุคคลหรือหน่วยงาน

แต่ละรางวัลมีมูลค่า 400,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณ

1. รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ประเภทบุคคล    ศาสตราจารย์ ดร. โมไนย ไกรฤกษ์  (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)

ประเภทสถาบัน  ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ก่อตั้งมาพร้อมกับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 เปิดสอนในหลักสูตรสาขาพืชไร่เป็นแห่งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ซึ่งเน้นองค์ความรู้ตั้งแต่หลักการพื้นฐานถึงทฤษฎีขั้นสูงในการสอนและวิจัยพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว ปาล์มน้ำมัน อ้อย ยางพารา พืชอาหารสัตว์ พืชพลังงาน และพืชวงศ์ถั่ว หลักสูตรที่เปิดสอนประกอบด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ทันสมัยและใช้ประโยชน์ได้จริง ภาควิชาพืชไร่นาส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตพืชผ่านการศึกษาและค้นคว้าวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช สรีรวิทยาและการผลิตพืช วิทยาการวัชพืช วิทยาการเมล็ดพันธุ์และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว รวมถึงอุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตร เพื่อความยั่งยืนด้านอาหารและพลังานของไทย

ภาควิชาพืชไร่นาได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์และออกพันธุ์ใหม่ของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลายชนิดมาอย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับใช้เป็นพันธุ์ปลูกหรือใช้เป็นฐานพันธุกรรมของการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ตัวอย่างเช่น ช้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์สุวรรณ 1 มันสำปะหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 1 และ 2 นอกจากนี้ภาควิชาพืชไร่นาเป็นหน่วยงานเดียวของประเทศที่มีความร่วมมือกับ International Rice Genome Sequencing Project (IRGSP) ในการหาลำดับเบสจีโนมข้าว และยังได้ค้นพบยีนความหอมของข้าวขาวดอกมะลิ 105 บัณฑิตจากภาควิชาพืชไร่นาได้ออกรับใช้สังคมในด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นผู้นำหรือผู้บริหารด้านการเษตรและการศึกษาในภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่องคมนตรี อธิบดีกรม ผู้อำนวยการศูนย์/สถาบัน และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทด้านการเกษตรชั้นนำในประเทศและภูมิภาคเอเชีย บัณฑิตของภาควิชาพืชไร่นาได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อย่างมีนัยสำคัญ

2. ทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  (Science and Technology Research Grants)

ทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยในปีพุทธศักราช 2559 นี้ ได้มอบทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสิ้น 20 ทุน โดยมีโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับรางวัล 4 โครงการ ได้แก่

สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จำนวน 2 โครงการ

ชื่อโครงการ : ปฏิสัมพันธ์ระดับโมเลกุลระหว่างแอคติโนมัยสีทเอนโดไฟด์กับข้าว เพื่อส่งเสริมการเจริญและลดความเครียดของข้าวในสภาวะเค็ม
ชื่อนักวิจัย : รศ. อรินทิพย์ ธรรมชัยพิเนต
หน่วยงาน : ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายละเอียด

 

 ชื่อโครงการ : การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างสารทุติยภูมิในกล้วยไม้ว่านเพชรหึง (Grammatophyllum speciosum Blume) ที่เลี้ยงในระบบ Temporary Immersion Bioreactor
ชื่อนักวิจัย : ดร. วรรณสิริ วรรณรัตน์
หน่วยงาน : ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรม ฝ่ายนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีชีวภาพ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายละเอียด

สาขาเคมี จำนวน 1 โครงการ

 ชื่อโครงการ : การวิศวกรรมนาโนบอดีผ่านเข้าเซลล์ที่ยับยั้งไทโรซีนไคเนสของ ErbB-2 ด้วยการผสมผสานเทคนิคชีวเคมีคอมพิวเตอร์และการทดลองในห้องปฏิบัติการ
ชื่อนักวิจัย : รศ.ดร. เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล
หน่วยงาน : ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายละเอียด

สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 1 โครงการ

   ชื่อโครงการ : การออกแบบวงจรรักษาระดับแรงดันแบบแรงดันตกคร่อมต่ำและมีประสิทธิภาพสูงโดยไม่ใช้ตัวเก็บประจุภายนอกในระบบแผงวงจรรวมพลังงานต่ำ
ชื่อนักวิจัย : ผศ.ดร. วรดร วัฒนพานิช
หน่วยงาน :  ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายละเอียด