การใช้ปลิงทะเลบำบัดสารอินทรีย์ในดินตะกอนจากการเลี้ยงหอยแมลงภู่
บริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทยมีการทำฟาร์มเลี้ยงหอยแมลงภู่กันเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือก ซึ่งสถานีวิจัยประมงศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ริเริ่มส่งเสริมอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรที่ทำฟาร์มหอยแมลงภู่ในแถบชายฝั่งทะเลจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง พื้นที่เลี้ยงหอยมีแนวโน้มขยายเพิ่มมากขึ้น บางพื้นที่ก็มีการเลี้ยงอย่างต่อเนื่องในที่เดิมๆมานานหลายปี สิ่งที่พบคือมีปริมาณตะกอนจากสิ่งมีชีวิตจำนวนมากบริเวณใต้แพเลี้ยงหอยอันเนื่องมาจากการกินอาหารของหอย ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องคุณภาพดินตะกอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพของดินตะกอนที่อยู่ใต้แพหอยและบริเวณใกล้เคียง มีการสะสมปริมาณสารอินทรีย์ต่างๆ สภาพดินตะกอนเสื่อมโทรม และบางพื้นที่ลักษณะอนุภาคของดินตะกอนมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์หน้าดินซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญ
นายอลงกต อินทรชาติ นักวิจัยชำนาญการ ประจำสถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาการใช้ชีวภาพบำบัดดินตะกอนที่เสื่อมโทรม โดยการใช้ปลิงทะเลชนิดที่เหมาะสมมาเลี้ยงควบคู่การเลี้ยงหอยแมลงภู่ เพื่อให้ปลิงทะเลนำสารอินทรีย์ที่เกิดจากกิจกรรมการเลี้ยงหอยไปใช้เพื่อการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นกระบวนการบำบัดสารอินทรีย์ในดินตะกอนไปในตัว ใช้วิธีการศึกษาความสัมพันธ์ของการถ่ายทอดทางห่วงโซ่อาหารของปริมาณไอโซโทปของคาร์บอนและไนโตรเจนว่าปลิงทะเลสามารถนำสารอินทรีย์ที่เกิดจากกิจกรรมการเลี้ยงหอยแมลงภู่ไปใช้ในการเจริญเติบโตได้จริง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานหาคำตอบว่าการเลี้ยงหอยแมลงภู่มีผลกระทบต่อคุณภาพดินตะกอนมากน้อยอย่างไร เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการจัดการพื้นที่สำหรับการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือก ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาคุณภาพดินตะกอนด้วยวิธีไอโซโทปเสถียรในบริเวณนี้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการทำการประมงแบบผสมผสานโดยการเลี้ยงหอยแมลงภู่ควบคู่กับการเลี้ยงปลิงทะเลไปพร้อมกัน
ในต่างประเทศมีรายงานความสำเร็จในการหาวิธีลดผลกระทบจากกิจกรรมการทำฟาร์ม และแก้ปัญหาด้านนิเวศวิทยาด้วยการประมงแบบผสมผสาน มีตัวอย่างจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการนำปลิงทะเลมาเลี้ยงแบบผสมผสานร่วมกับปลาแซลมอน ปลิงทะเลมีอัตราการเพิ่มการเจริญเติบโตที่สูงขึ้น และมีความสามารถในการทำความสะอาดสิ่งเกาะติดกระชังเลี้ยง ปลิงทะเลเจริญเติบโตได้ดีในการเลี้ยงร่วมกับหอยเป๋าฮื้อ หรือเลี้ยงร่วมกับกุ้งในบ่อดิน สามารถลดปริมาณสารอินทรีย์จากการเลี้ยงหอยเชลล์ด้วยการเลี้ยงปลิงทะเลร่วมกับการเลี้ยงหอยเชลล์ในโคมตาข่าย เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าปลิงทะเลมีความสามารถในการกินตะกอนที่เกิดจากกิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีกรรมวิธีเปลี่ยนสภาพตะกอนจำนวนมากให้เป็นอาหารที่มีมูลค่าขึ้น มีการเอาของเสียที่ผลิตออกมาใช้ในกระบวนการเจริญเติบโตหรือนำของเสียบางส่วนออกจากกระบวนการเลี้ยงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม
การวิจัยนี้ใช้ปลิงทะเลสีดำชนิด Holuthuria atra เพื่อใช้ศึกษาศักยภาพในการเลี้ยงร่วมกับการเลี้ยงหอยแมลงภู่ เพื่อบำบัดดินตะกอนที่เกิดจากกิจกรรมการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือกบริเวณอ่าวศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทำการศึกษาเบื้องต้นจากความสัมพันธ์ของการถ่ายทอดทางห่วงโซ่อาหารของปริมาณไอโซโทปของคาร์บอนและไนโตรเจนว่าปลิงทะเลสามารถนำสารอินทรีย์ที่เกิดจากกิจกรรมการเลี้ยงหอยแมลงภู่ไปใช้ในการเจริญเติบโตได้จริง โดยทำการศึกษาดินตะกอนจากบริเวณพื้นที่ที่มีการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือกมาเป็นระยะเวลาจำนวนปีที่แตกต่างกัน จำนวน 3 สถานี ประกอบด้วย บริเวณพื้นที่ใต้แพหอยที่มีการเลี้ยงหอยแมลงภู่มานาน มากกว่า 15 ปี บริเวณพื้นที่ใต้แพหอยที่มีการเลี้ยงหอยแมลงภู่มาระยะเวลา 8-10 ปี บริเวณพื้นที่ใต้แพหอยที่มีการเลี้ยงหอยแมลงภู่มาระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี และบริเวณพื้นที่ที่ไม่มีการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือกจำนวน 1 สถานี ตรวจสอบปริมาณสารอินทรีย์ก่อนและหลังจากใช้ปลิงดำบำบัด โดยการตรวจวัดค่าไอโซโทปเสถียรของไนโตรเจนแล้วนำไปหาค่าลำดับของการถ่ายทอดทางห่วงโซ่อาหาร จากการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าปลิงดำเป็นผู้บริโภคในลำดับที่ 1 และจากค่าไอโซโทปเสถียรของคาร์บอนและไนโตรเจนของขี้ปลิงดำและเนื้อปลิงดำที่ได้นั้นบอกได้ว่าปลิงดำมีการนำสารอินทรีย์ในดินตะกอนไปใช้ในการเจริญเติบโต แต่เมื่อพิจารณาค่าไอโซโทปเสถียรของคาร์บอนและไนโตรเจนในดินตะกอน เนื้อปลิงดำ และขี้ปลิงดำ จะมีแนวโน้มไปทางค่าของดินตะกอน ซึ่งบอกได้ว่าค่าสารอินทรีย์มาจากขี้หอยและบางส่วนมาจากขี้ของปลิงดำเอง จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่าดินตะกอนหลังใช้ปลิงดำบำบัดกับปริมาณไอโซโทปเสถียรของคาร์บอนมีความสัมพันธ์กันทางสถิติ ตลอดจนพื้นที่ที่ใช้ทดลองกับปริมาณสารอินทรีย์มีความสัมพันธ์กันทางสถิติ และพื้นที่ที่ใช้ทดลองกับปริมาณไอโซโทปเสถียรของคาร์บอนและไนโตรเจนของดินตะกอนมีความสัมพันธ์กันทางสถิติด้วย
ผลการศึกษาเบื้องต้นของการวิจัยในครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่าการเจริญเติบโตของปลิงดำใช้สารอินทรีย์จากกิจกรรมการเลี้ยงหอยแมลงภู่ ดังนั้นการเลี้ยงปลิงดำร่วมกับการเลี้ยงหอยแมลงภู่ สามารถลดสารอาหารและของเสียที่ออกจากระบบ และลดความต้องการในการให้อาหารภายในระบบการเพาะเลี้ยงด้วย และเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตอย่างมีศักยภาพ รวมทั้งเป็นการริเริ่มการศึกษาคุณภาพดินตะกอนในเชิงไอโซโทปเสถียรในบริเวณอ่าวศรีราชานี้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญและเป็นพื้นที่ต้นแบบของการศึกษาในบริเวณอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามการนำปลิงดำมาบำบัดดินตะกอนอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาการเลี้ยงหอยแมลงภู่เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารอินทรีย์และการถ่ายทอดทางห่วงโซ่อาหารควรดำเนินต่อไป เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาแหล่งที่มาของสารอินทรีย์เนื่องจากปริมาณสารอินทรีย์ที่ทำให้ดินตะกอนเสื่อมโทรมนั้นอาจไม่ได้มาจากการเลี้ยงหอยแมลงภู่เพียงแหล่งเดียวเท่านั้น โดยอาจมาจากชุมชนบนแผ่นดินอีกแหล่งหนึ่งก็เป็นได้ ดังนั้นควรมีการศึกษาแหล่งกำเนิดของสารอินทรีย์เพื่อข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญและนำไปใช้ประโยชน์บริเวณพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งศึกษาการแพร่กระจายดินตะกอนว่าปกคลุมเฉพาะในพื้นที่ที่เลี้ยงหรือแพร่กระจายไปที่บริเวณอื่นๆด้วย
ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก. หัวหน้าโครงการ : นายอลงกต อินทรชาติ สถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwan@ku.ac.th
นายอลงกต อินทรชาติ