สีของแสงไฟที่ใช้ล่อหมึกหอม
ปัจจุบันชาวประมงนิยมใช้เครื่องมือประมงประกอบแสงไฟในเวลากลางคืน เพื่อล่อสัตว์น้ำให้เข้าหาแสงไฟ มีข้อที่ถกเถียงกันทั้งในวงวิชาการและชาวประมงมาเป็นเวลานานว่า แสงสีใดที่มีประสิทธิภาพในการล่อหมึกได้ดีที่สุด ชาวประมงในแต่ละพื้นที่ ต่างก็ใช้ไฟแสงสีต่างกันในการล่อหมึกให้เข้ามารวมฝูงเพื่อง่ายต่อการจับหมึก ชาวประมงบางพื้นที่ใช้ไฟสีแดง แต่อีกพื้นที่กลับบอกว่าการใช้ไฟสีแดงไม่สามารถจับหมึกได้ดีเท่ากับการใช้ไฟสีเขียว
กล่องควบคุมการเปิดปิด หลอดไฟ LED
ตู้กระจกพร้อมโครงท่อพีวีซี
ผศ.ดร.จรวย สุขแสงจันทร์ ร่วมกับผศ.ดร.มณฑล อนงค์พรยศกุล และดร.กมลพันธ์ อวัยวานนท์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของแสงไฟสีต่างๆที่เรือประมงไดน์หมึกควรใช้ในการล่อหมึกหอม เพื่อทราบถึงสีของแสงไฟที่เหมาะสมในการทำประมงหมึกหอม
โดยทั่วไปชาวประมงนิยมใช้ลอบเป็นเครื่องมือในการจับหมึกหอม โดยลอบหมึกหอมจะถูกวางไว้กลางน้ำและนำเอาไข่หมึกหอมหรือถุงพลาสติกสีขาวผูกไว้บริเวณปากทางเข้าเพื่อดึงดูดให้หมึกหอมเข้าไปในลอบ ประเทศไทยมีการทำประมงโดยใช้แสงไฟล่อสัตว์น้ำมาเป็นเวลานาน ในอดีตประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงนิยมใช้ตะเกียงแก๊สอะแซสทิลีน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นตะเกียงอัดลมโดยใช้น้ำมันก๊าด หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ตะเกียงจ้าวพายุ ซึ่งมีกำลังส่องสว่างถึง 500 วัตต์ และในยุคต่อมาได้มีการนำเอาเครื่องปั่นไฟไปติดตั้งในเรือ และได้รับความนิยมใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การใช้แสงไฟประกอบในเครื่องมือประมงในเวลากลางคืนเพื่อล่อหมึกให้มารวมกลุ่มกันเป็นฝูงนั้น ยังไม่มีข้อสรุปว่าแสงสีใดให้ผลดีที่สุด
มีงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการเข้าหาแสงไฟและการมองเห็นของหมึก ระบุว่า หมึกเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงที่สุดในกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีระบบประสาทที่เจริญ ทำให้หมึกสามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี มีดวงตาที่มีประสิทธิภาพดีเทียบเท่ากับตาของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่ประกอบด้วย แก้วตา ม่านตา และจอรับภาพ โดยมีเฉพาะดวงตาของหมึกสายเท่านั้นที่มี กระจกตา ส่วนดวงตาของหมึกกล้วย หมึกกระดอง ฯลฯ จะไม่พบกระจกตา และดวงตาของหมึกพวกนี้จะสัมผัสกับน้ำทะเลโดยตรง รูม่านตาของหมึกแต่ละชนิดจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น หมึกสาย รูม่านตาเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม หมึกกระดอง รูม่านตาจะเป็นรูป W-shape หมึกกล้วย รูม่านตาจะมีลักษณะกลม เป็นต้น
สำหรับการศึกษาการใช้แสงไฟล่อหมึกหอมครั้งนี้ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของแสงสีต่างๆ โดยใช้หลอดไฟชนิด LED (Light-emitting diode)ที่ให้แสงต่างกัน 4 เฉดสี ได้แก่ สีน้ำเงิน สีเขียว สีแดง และสีขาว ทำการทดลองเป็น 2 ส่วน คือ การเข้าหาแสงของหมึกหอมภายในตู้กระจก ที่ติดตั้งหลอดไฟ LED ที่ด้านข้างของตู้ด้านละ 1 สี และ การเข้าลอบของหมึกหอมที่ติดตั้งหลอดไฟ LED สีต่างๆในบ่อทดลองโดยติดตั้งหลอดไฟ LED ลอบละ 1 สี และมีลอบที่ไม่ได้ติดตั้งหลอดไฟเลยเป็นลอบควบคุม
หมึกหอมในลอบหมึกที่ติดตั้งหลอดไฟ LED แสงสีเขียว
ผลการศึกษาการเข้าหาแสงไฟของหมึกหอมในตู้ทดลอง พบว่า จากจำนวนครั้งรวม 163 ครั้ง ที่หมึกหอมว่ายเข้าไปหาในแสงไฟทั้ง 4 สีนั้น หมึกหอมเข้าหาแสงสีน้ำเงินมากที่สุด 91 ครั้ง รองลงมาเป็นสีเขียว 34 ครั้ง สีขาว 31 ครั้ง และสีแดง 7 ครั้ง ตามลำดับ และการทดสอบความสัมพันธ์ทางสถิติ พบว่า เพศไม่มีผลต่อการเข้าหาแสงไฟจากหลอด LED และไม่มีผลต่อระยะเวลาที่เข้าไปอยู่ในแสงไฟแสงสีต่างๆด้วยเช่นกัน แต่จากการทดสอบทางสถิติพบว่า แสงสีแดงจากหลอด LED มีผลที่แตกต่างจากหลอดไฟ LED สีอื่นๆในทางลบ กล่าวคือหมึกหอมว่ายเข้าไปหาแสงสีแดงน้อยสุด
ส่วนผลการศึกษาการเข้าลอบของหมึกหอมที่ติดตั้งหลอดไฟ LED บริเวณปากลอบ พบว่า หมึกเข้าลอบที่ติดตั้งหลอดไฟ LED สีเขียวมากที่สุด รองลงมาเป็นลอบควบคุมซึ่งไม่ได้ติดหลอดไฟเลย และลอบที่ติดตั้งหลอดไฟ LED สีขาวและสีน้ำเงิน ตามลำดับโดยลอบที่ติดตั้งหลอดไฟ LED สีแดงมีหมึกหอมเข้าน้อยที่สุด และเมื่อนำค่าที่ได้มาทดสอบทางสถิติ พบว่า ค่าความสัมพันธ์ระหว่าง เพศต่อสีของหลอดไฟ LED เพศต่อระยะเวลาการเข้าลอบ และระยะเวลาการเข้าลอบต่อสีของหลอดไฟ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ผลการศึกษาครั้งนี้ กล่าวได้ว่า แสงสีแดงมีความสามารถดึงดูดหมึกหอมในจำนวนครั้งที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสีอื่นๆ อย่างไรก็ตามการทดลองครั้งนี้เป็นการดำเนินการในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นเพื่อเป็นการยืนยันผลการศึกษาจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในภาคสนาม โดยนำเอาหลอดไฟ LED สีต่างๆ ไปติดตั้งกับลอบและทดสอบในพื้นที่ทำประมงจริงในธรรมชาติ พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำ เช่น ความขุ่นใส ความลึก ความเค็ม ฯลฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการยืนยันประสิทธิภาพของหลอดไฟ LED สีต่างๆและความเป็นไปได้ในการนำไปประยุกต์ใช้จริงต่อไป
![]() |
ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก. หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร.จรวย สุขแสงจันทร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
เรื่อง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
โทร. 02 561 1474
e-mail : rdiwan@ku.ac.th