พลังงานไฮโดรเจนทางชีวภาพ (Biohydrogen)
พลังงานไฮโดรเจน ( H2) เป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพในอนาคต ให้ค่าความร้อนสูงมาก ที่สำคัญคือเป็นพลังงานสะอาด โดยเมื่อเผาไหม้แล้วให้เพียงน้ำออกมา ไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์จึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ
ลักษณะโคโลนีของRubrivivax gelatinosus SB24 เพาะเลี้ยงภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจนและมีแสง ที่ความเข้มแสง1,000 ลักส์ อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส
รศ.ดร.เลอลักษณ์ จิตรดอน อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยการผลิตพลังงานไฮโดรเจนทางชีววิธีจากแบคทีเรียกลุ่ม purple non-sulfur สายพันธุ์Rubrivivax gelatinosus SB24 โดยศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางสรีรวิทยาของแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับกลไกการผลิตก๊าซไฮโดรเจน กลไกการสังเคราะห์แสง และกลไกการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
ลักษณะของสารสกัดรงควัตถุโดยใช้สารสกัด HCl: acetone ใช้เซลล์แบคทีเรียสังเคราะห์แสง
Rubrivivax gelatinosus SB24 เซลล์แห้ง (ก) และเซลล์เปียก (ข) ที่เพาะเลี้ยงภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจน แบบมีแสง
Profile ของ maximum absorption ของรงควัตถุ ที่สกัดโดยใช้ HCl : acetone จากเซลแบคทีเรีย
สังเคราะห์แสงที่เลี้ยงที่ความเข้มแสง 5,000 ลักส์ เมื่อใช้สารสกัดเข้มข้น และ สารสกัดเจือจาง 5 เท่า เพื่ออ่านปริมาตร
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่จะควบคุมประสิทธิภาพการสร้างก๊าซไฮโดรเจนได้ ต้องเพาะเลี้ยงแบคทีเรียนี้ในสภาวะมีแสง ไม่มีออกซิเจน อิทธิพลของความเข้มแสงที่ระดับต่างๆ โดยเมื่อความเข้มแสงเพิ่มขึ้น เซลล์แบคทีเรีย จะผลิตไฮโดรเจนได้สูงและมีรงควัตถุทั้งชนิดคาโรทีนอยด์ และแบคเทอริโอคลอโรฟิลด์ สะสมในเซลล์มากขึ้น แต่การเจริญและปริมาณเซลล์กลับลดลง เซลล์จะเจริญได้ดีที่สุดที่ความเข้มแสงต่ำ 1,000 ลักส์ แต่จะผลิตไฮโดรเจนได้น้อยมาก และที่ความเข้มแสง 5,000 ลักส์ มีประสิทธิภาพการผลิตไฮโดรเจนสะสมสูงสุด และสามารถผลิตต่อเนื่องได้ถึง 12 วัน ซึ่งงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ากลไกการผลิตก๊าซไฮโดรเจนและกลไกการสังเคราะห์แสงมีความสัมพันธ์กันโดยตรง นั่นคือ ประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงของเซลล์แบคทีเรียเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฮโดรเจน แต่ความเข้มแสงที่เพิ่มขึ้นกลับทำให้การเจริญของเซลล์ลดลง นอกจากนั้นยังพบว่า กลไกการผลิตไฮโดรเจน อาศัยพลังงานจากกระบวนการสังเคราะห์แสงมากกว่าพลังงานที่ได้จากการหมัก หากขับเคลื่อนเซลล์ให้เกิดกระบวนการหมัก ในสภาวะที่แสงน้อย จะได้พลังงานที่นำไปสร้างเซลล์ให้เจริญ หากขับเคลื่อนเซลล์ให้เกิดกระบวนการสังเคราะห์แสง เซลล์จะมีประสิทธิภาพผลิตไฮโดรเจนได้สูงขึ้น
คำตอบที่สำคัญในการควบคุมประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฮโดรเจนทางชีวภาพคือจุดสมดุลที่เซลล์มีการเจริญได้เหมาะสมที่สุด ได้เซลล์ที่ผลิตไฮโดรเจนสูงสุดโดยกำกับความเข้มแสงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ที่มาข้อมูล : โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มก.หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.เลอลักษณ์ จิตรดอน
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียง : ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. โทร. 02 561 1474 e-mail : rdiwan@ku.ac.th |
|
รศ.ดร.เลอลักษณ์ จิตรดอน |