การผลิตไซลิทอลจากวัสดุเหลือทิ้งการเกษตร
ไซลิทอลเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่มีความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลทราย แต่ไม่ทำให้ฟันผุเพราะไม่ส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์ในช่องปาก ดูดซึมในร่างกายได้ช้า และการใช้ไซลิทอลในร่างกายไม่ขึ้นกับสารอินซูลิน จึงไม่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงสามารถบริโภคไซลิทอลได้ และด้วยกระแสรักษ์สุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน แนวโน้มความต้องการไซลิทอลเป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตจะใช้ไซลิทอลในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ในอาหารควบคุมน้ำหนัก หมากฝรั่ง และขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ
ราคาของไซลิทอลแพงกว่าน้ำตาลกว่า 10 เท่า แต่แนวโน้มความต้องการมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมี การศึกษาเพื่อหาวิธีลดต้นทุนการผลิตไซลิทอล รศ.ดร.สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงทำการวิจัยการผลิตไซลิทอลจากการนำชานอ้อยและซังข้าวโพด ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งของภาคเกษตรกรรมและโรงงานน้ำตาล มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการเตรียมน้ำตาลไซโลสเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในกระบวนการหมักด้วยยีสต์สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตไซลิทอล เนื่องจากชานอ้อยและซังข้าวโพด จัดเป็นวัสดุลิกโนเซลลูโลสที่มีองค์ประกอบของน้ำตาลไซโลสซึ่งเป็นซับสเตรตในการผลิตไซลิทอลประมาณ 20% ของน้ำหนักแห้ง
ผลการวิจัยทำให้ได้กรรมวิธีและสภาวะที่เหมาะสมในการเตรียมไฮโดรไลเสตให้ได้ปริมาณ น้ำตาลไซโลสจากชานอ้อยและซังข้าวโพดที่มีความเข้มข้นและ ปริมาณผลผลิตสูงและมีต้นทุนไม่แพง รวมถึงกรรมวิธีผลิตไซลิทอลจากไฮโดรไลเสตด้วยกระบวนการหมักด้วยยีสต์ที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ Candida magnoliae TISTR 5663 โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการกำจัดสารยับยั้งการหมักที่มีอยู่ในไฮโดรไลเสต จึงสามารถลดต้นทุน และลดการสูญเสียน้ำตาลจากขั้นตอนของการกำจัดสารยับยั้งในไฮโดรไลเสต เมื่อทำบริสุทธิ์น้ำหมักไซลิทอลและทำให้สารละลายไซลิทอลเข้มข้นแล้ว จะได้ผลิตภัณฑ์น้ำเชื่อมไซลิทอลเข้มข้น หรือเมื่อผ่านการตกผลึกเป็นของแข็งจะได้น้ำตาลไซลิทอล
จากกรรมวิธีต้นแบบของงานวิจัยในการผลิตไซลิทอลจากชานอ้อยและซังข้าวโพด นับเป็นการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่มีศักยภาพในการผลิตสูงจากการที่ประเทศไทยมีแหล่งวัตถุดิบอยู่มาก ขณะเดียวกันผลจากการวิจัยสามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีสำเร็จรูปที่พร้อมถ่ายโอนสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นผู้ผลิตไซลิทอล ช่วยลดการนำเข้าไซลิทอลจากต่างประเทศ และช่วยลดราคาต้นทุนในการผลิตให้สามารถแข่งขันด้านราคานำเข้าจากต่างประเทศได้ และเป็นไปได้ที่ไทยจะสามารถเป็นผู้ส่งออกไซลิทอลในอนาคต