รายการวิทยุ เรื่อง วิตามินอีจากสบู่ดำ/บงกชรัตน์ ปิติยนต์
บทวิทยุ รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 18 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2558
เรื่อง วิตามินอีจากสบู่ดำ
บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา
…………………………………………………………………………………
-เพลงประจำรายการ-
สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
คุณผู้ฟังครับ ในปัจจุบันน้ำมันปิโตรเลี่ยมได้มีราคาสูงขึ้น และปริมาณการใช้ของประชากรโลกก็เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากการเพิ่มของประชากร และการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ด้วยเหตุผลที่น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นเป็นลำดับ จึงได้มีความพยายามหาพลังงานทดแทนน้ำมันมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพลังงานหมุนเวียนที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น น้ำมันพืชเป็นพลังงานหมุนเวียน ชนิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจและจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนน้ำมัน ซึ่งพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันพืชนั้นมีอยู่หลายชนิดครับ อย่างเช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เมล็ดสบู่ดำ ละหุ่ง งา และรำข้าว ซึ่งในต่างประเทศมีการนำน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเมล็ดเรพ (Rape Seed Oil) น้ำมันทานตะวัน และน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว มาทดลองใช้งานในเครื่องยนต์ดีเซล แต่ว่าในงานวิจัยที่กระผมจะนำมาเล่าให้คุณผู้ฟังได้ฟังกันในวันนี้เป็นงานวิจัย ที่ไม่ใช่เพียงแค่นำเสนอการใช้ประโยชน์จากน้ำมันที่สกัดเท่านั้น แต่ยังได้ใช้ประโยชน์จากวิตามินอีที่มีอยู่ในน้ำมันนั่นด้วยครับ
ซึ่งพืชที่จะนำมาวิจัยในงานชิ้นนี้นั่นก็คือสบู่ดำ นั่นเองครับสบู่ดำเป็นพืชพลังงานที่ปลูกง่ายซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับยางพารา มันสำปะหลังและละหุ่ง เมล็ดมีสัดส่วนการให้น้ำมันประมาณร้อยละ 25-30 เนื่องจากปัจจุบันน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นและจะน้ำมันดีเซลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปและมีแนวโน้มของราคาสูงขึ้น การใช้น้ำมันจากสบู่ดำเป็นไบโอดีเซลจึงเป็นพลังงานทางเลือกทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับความสนใจเนื่องจากเป็นพลังงานทดแทนที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตร หากพื้นที่ปลูกสบู่ดำขยายได้ตามเป้าหมายสบู่ดำจะเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง ประโยชน์ของสบู่ดำนอกจากนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลแล้ว น้ำยางบริเวณก้านใบยังสามารถนำมาใช้รักษาหูดและโรคปากเปื่อยได้อีกด้วยครับ และส่วนต่างๆของต้นสบู่ดำที่เป็นส่วนของ เปลือก ลำต้น ใบ กาก สามารถนำไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษ ไม้อัดและทำปุ๋ย นอกจากนี้แล้วยังมีการคาดว่าเมล็ดสบู่ดำน่าจะมีสารที่มีคุณสมบัติทางชีวภาพอื่นๆที่สำคัญทางเกษตรกรรม เภสัชกรรม และเครื่องสำอาง เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ หรือสารแอนติออกซิแดนท์ สารแอนติออกซิแดนท์ครับ ซึ่งพบตามธรรมชาติในพืชและสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพมนุษย์นั่นคือ วิตามินอี และวิตามินอีนี้เองที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสามารถหยุดปฏิกิริยาเปอร์ออกซิเดชัน ให้ผลในการป้องกันไม่ให้เซลล์ถูกทำลายจากอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายด้วยครับ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เท่ากับช่วยชะลอความชราภาพของผิวหนังได้อีกด้วยนะครับ สำหรับตอนนี้เดี๋ยวเราพักกันสักครู่ครับ
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับ พืชที่เรานำมาสกัดน้ำมันมักพบวิตามินอีผสมอยู่ด้วย โดยน้ำมันทานตะวันมีปริมาณโทโคฟิรอลในปริมาณสูงกว่าน้ำมันถั่วลิสง ข้าวโพด รำข้าว ละหุ่ง แต่ต่ำกว่าถั่วเหลือง กระบวนการสกัดวิตามินอีโดยทั่วไปจะใช้ตัวทำละลาย ซึ่งต้องใช้ปริมาณตัวทำละลายมาก ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา โดยเฉพาะปัญหาของเสียอันตรายจากกระบวนการผลิต เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยและข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและปริมาณวิตามินอีในเมล็ดสบู่ดำ งานวิจัยนี้จึงต้องการศึกษาวิตามินอีจากเมล็ดสบู่ดำสายพันธุ์ต่างๆโดยการนำหลักการเทคโนโลยีสะอาดมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการสกัดวิตามินอี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการสกัด และเป็นการลดปริมาณของเสีย แถมยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดของเสีย เพราะใช้รีเอเจนต์ในการสกัดปริมาณน้อยลง แต่ประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตนั่นจะสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเป็นไปตามกฎหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนผู้ที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและนำประโยชน์ที่จะได้จากการสกัดพืชสบู่ดำมาใช้นั้น ก็คือ รศ.ดร.บงกชรัตน์ ปิติยนต์ และคณะ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้ทำการสกัดวิตามินอีจากเมล็ดสบู่ดำสายพันธุ์จากกำแพงแสน สายพันธุ์จากโคราช สายพันธุ์จากแพร่ และสายพันธุ์จากชัยนาท ซึ่งปลูกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า ปริมาณวิตามินอี มีแนวโน้มในปริมาณเพิ่มขึ้นทุกช่วงสภาวะการสกัด โดยสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดวิตามินอี คือ ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกับเอทานอลเหนือจุดวิกฤต ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิ 60 องศา ความดัน 6000 พีเอสไอ สามารถสกัดปริมาณวิตามินอีรวมได้สูงสุดในเมล็ดสบู่ดำสายพันธุ์จากกำแพงแสน
ส่วนลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสบู่ดำ
สบู่ดำ เป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 2 – 7 เมตร มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี เช่นเดียวกับยางพารา สบู่แดง ปัตตาเวีย มะละกอฝรั่ง หนุมานนั่งแท่น โป๊ยเซียน มันสำปะหลัง มะยม มะขามป้อม ผักหวานบ้าน เป็นต้น
ลำต้น มีเปลือกลำต้นเรียบ มีสีเทา-น้ำตาล ลำต้นเกลี้ยง อวบน้ำ เป็นไม้เนื้ออ่อน ไม่มีแก่น หักง่าย มีน้ำยางสีขาวใส และยังมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายได้อีกด้วยครับ
ใบ เป็นใบเดี่ยวรูปไข่ กว้างหรือค่อนข้างกลม จัดเรียงแบบสลับ โคนใบเว้ารูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือหยักเว้า 3-5 หยัก สามารถแก้พิษตานซาง ถอนพิษที่ทำให้ตัวร้อน แก้ปากและลิ้นเปื่อยพุพอง
ดอก ประกอบด้วยดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในช่อดอกเดียวกัน ดอกทั้ง 2 ชนิด มีกลีบรอง และกลีบดอก อย่างละ 5 กลีบ ดอกตัวผู้มีเกสรเรียงเป็นวง 2 วง วงละ 5 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่ ก้านเกสรตัวเมียมี 6 แฉก ดอกมีขนาดเล็กสีเขียวแกมเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกเป็นช่อที่ซอกใบหรือปลายยอด ในช่อดอกเดียวกันมีดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย ดอกแต่ละช่อบานไม่พร้อมกัน มีช่อดอกประมาณ 15-30 ช่อต่อต้น แต่ละช่อดอกมีดอกย่อย 70-120 ดอก แต่จะติดผลเพียง 8-14 ผล
ผล ผลที่เกิดจากช่อดอกเดียวกันจะสุกแก่ไม่พร้อมกัน ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีเหลืองคล้ายลูกจันทน์ ผลมีลักษณะกลมรีเล็กน้อย ผลมีขนาดปานกลาง กว้าง 2 – 3 เซนติเมตร ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตรผลมี 3 พูๆ ละ 1 เมล็ด เมื่อสุกแก่ผลจะปริแตก ผลสด 1 กิโลกรัม มีจำนวน 85-90 ผล
เมล็ด รูปกลมรี เปลือกนอกสีดำ เนื้อในสีขาว มีสารพิษ เมล็ดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร น้ำหนัก 100 เมล็ด ประมาณ 70 กรัม เมล็ด 1 กิโลกรัม มีประมาณ 1,300-1,500 เมล็ด ส่วนสรรพคุณทางยาของเมล็ดนั้นก็สามารถแก้อาการปวดข้อ โรคผิวหนังและเป็นยาระบายอย่างแรง ………. เดี๋ยวช่วงหน้ากลับมาฟังกันต่อครับ
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับ ถ้าจะพูดถึงในส่วนของ ความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการปลูกสบู่ดำ ราคาเมล็ดสบู่ดำที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่ลงทุนปลูกสบู่ดำในประเทศไทย ควรจะได้รับไม่ควรต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท (ในกรณีกล้าพันธุ์ราคา 3 บาท ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าไร่ละ 800 กิโลกรัมต่อปี และมีต้นทุนการผลิตที่ 2,500 บาทต่อไร่) และควรจะปรับราคาเมล็ดสบู่ดำสูงขึ้นหากมีต้นทุนการผลิตมากกว่า 2,500 บาท เพื่อความคุ้มทุนในการปลูกสบู่ดำ หากผู้ซื้อเมล็ดสบู่ดำต้องการให้ราคาเมล็ดสบู่ดำถูกกว่านี้ ก็ต้องมีเทคโนโลยีการผลิตที่ให้ผลผลิตสูงกว่า (800 กก./ไร่/ปี) และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า แต่อย่างไรก็ตามควรมีการวิเคราะห์แผนธุรกิจให้ชัดเจนว่าสบู่ดำเป็นพืชที่เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้ปลูกในเชิงการค้าหรือไม่ หากจะทำการส่งเสริมเพื่อพัฒนาไปสู่ระดับอุสาหกรรม จำเป็นต้องศึกษาต้นทุนการผลิตอย่างละเอียด เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับต้นทุนผันแปรที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงงานในการเพาะปลูก การดูแลรักษา ตัดแต่งกิ่ง ให้น้ำ-ปุ๋ย และค่าแรงในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้นนอกจากความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวแล้ว ส่วนกากเมล็ดสบู่ดำมีสารพิษตกค้างอยู่ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการใช้เป็นอาหารสัตว์ และมีรายงานว่าต้นสบู่ดำเป็นแหล่งอาศัยของแมลงหวี่ขาวจำเป็น ต้องระมัดระวังในการนำเข้าสายพันธุ์สบู่ดำจากต่างประเทศ ซึ่งในส่วนต่างๆเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญควรนำมาพิจารณาประกอบความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ด้วยนะครับ การเพิ่มผลผลิตเมล็ดต่อไร่ เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูก และเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน ทั้งในระดับเศรษฐกิจพอเพียง ที่อาจขยายผลไปสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมในอนาคต ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักของการปรับปรุงพันธุ์สบู่ดำในอนาคต คือการยกระดับผลผลิตสบู่ดำให้สูงขึ้น และอย่างที่ได้บอกไปว่างานวิจัยชิ้นนี้จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการนำประโยชน์จากวิตามินอีที่ได้จากการสกัดน้ำมันสบู่ดำออกมาใช้ประโยชน์ การสกัดวิตามินอีทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ปฏิกิริยาเคมี การสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ตัวทำละลายปริมาณสูง เกิดของเสียมากจากกระบวนการผลิตเสียค่าใช้จ่ายในการบำบัดของเสีย จึงมีแนวคิดในการลดของเสียจากกระบวนการผลิตเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
เทคโนโลยีสะอาด เป็นกลยุทธ์ในการปรับปรุง ผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการ อย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดการทรัพยากร อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เปลี่ยนเป็นของเสียน้อยที่สุดหรือไม่มีเลยหลักการของเทคโนโลยีสะอาดคือ การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด แบ่งได้เป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ การลดมลพิษที่แหล่งกำเนิดได้แก่การเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต และการนำกลับมาใช้ใหม่ เทคโนโลยีสะอาดจึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้สามารถรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรม และก็ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตไปพร้อมๆ กัน ส่วนในด้านประโยชน์ของเทคโนโลยีสะอาดนั้นก็ คือ กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และมีการนำวัสดุและของเสียกลับมาใช้ใหม่ การนำพลังงานความร้อนส่วนเกิน หรือที่เหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ ลดของเสียจากกระบวนการผลิต และประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำบัดของเสีย ลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต เพราะใช้วัตถุดิบปริมาณน้อยลง แต่ประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตได้สูงขึ้น เพิ่มผลการผลิตและเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ประหยัดพลังงาน การนำเทคโนโลยีสะอาดมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการสกัด โดยเทคนิคการสกัดด้วยของไหลที่สภาวะเหนือจุดวิกฤต ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ และอุตสาหกรรมเคมี จนได้มีการนำเทคนิคนี้ไปใช้ในงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ งานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม งานวิจัยในด้านการสกัดกลิ่นหอมและสารธรรมชาติ สำหรับตอนนี้เดี๋ยวเราพักกันสักครู่ครับ
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกษตร สิ่งทอและอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ ในขณะเดียวกันการผลิตสินค้าในระดับหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ได้รับการส่งเสริมและการตอบสนองจากประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์หลายประเภทโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินอีได้รับความสนใจและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ซึ่งวิตามินอีที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศ สบู่ดำเป็นพืชน้ำมันและเป็นพืชพลังงาน ซึงโดยทั่วไปพืชน้ำมันจะมีวิตามินอีการศึกษาปริมาณวิตามินอีของสบู่ดำจะทำให้ทราบข้อมูลของชนิดและปริมาณโทโคฟีรอล เพื่อใช้ประเมินแนวทางการนำไปใช้ประโยชน์รวมทั้งความสามารถในการรักษาสภาพความเสถียรของน้ำมันสบู่ดำ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสะอาดในการสกัด
และจากการวิจัยครั้งนี้ ทางคณะผู้ทำการวิจัยก็ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารงานวิจัยต่างๆ และข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับสบู่ดำเพื่อนำข้อมูลมาประกอบในเก็บรวบรวมตัวอย่างเมล็ดสบู่ดำสายพันธุ์ต่างๆ ในภาคสนาม ซึ่งจะสามารถแยกความแตกต่างของพันธุ์จากลักษณะผลได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
(1) กลุ่มที่มีผลทรงกลม
(2) กลุ่มมีผลทรงกลมหรือผลยาวกว่าพวกแรกเล็กน้อย แต่มีเปลือกผลหนากว่า และ
(3) กลุ่มมีผลทรงกลมแต่มีขนาดผลเล็กกว่า 2 กลุ่มแรก และจากผลการวิจัยต่างๆ ที่กล่าวมาก็พบความแตกต่างทางพันธุกรรม ในลักษณะการเกษตรและการให้ผลผลิตของสบู่ดำ
วิธีการสกัดแยกน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำที่นิยมทำกันมากคือ ใช้วิธีการบีบอัด จะได้น้ำมันประมาณ 25-30% มีน้ำมันตกค้างในกาก 10-15% หรืออาจใช้เครื่องอัดแบบไฮโดรลิค หรือเครื่องอัดแบบสกรู จะได้น้ำมันประมาณการแยกด้วยวิธีนี้จะได้น้ำมันปริมาณมากหรือน้อยขึ้นกับแรงอัดที่ใช้ ถ้าใช้แรงอัดสูงจะได้น้ำมันมาก แต่น้ำมันที่ได้จะมีคุณภาพลดลง เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นจะไปเร่งปฏิกิริยาเคมีบางอย่าง ทำให้น้ำมันเสื่อมเสียได้เร็วขึ้น ดังนั้นการบีบอัดอาจทำได้ 2 แบบ คือ การบีบอัดโดยใช้แรงดันสูง เพื่อให้ได้น้ำมันมาก หรือการบีบด้วยแรงดันต่ำก่อน แล้วจึงสกัดน้ำมันที่เหลือในกากต่อด้วยสารทำละลาย
แต่ทางคณะผู้ทำการวิจัย ก็ได้ศึกษาความแตกต่างของสบู่ดำในระดับดีเอ็นเอ 18 ตัวอย่าง ที่เก็บรวบรวมจากภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้ พบว่า สามารถแบ่งกลุ่มสบู่ดำทางพันธุกรรม ได้ 5 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีความแตกต่างไปจากกลุ่มอื่นมากคือสบู่ดำที่รวบรวมจาก จ.เชียงใหม่ ดังนั้นการจับคู่ผสมเพื่อสร้างความแปรปรวนทางพันธุกรรมสำหรับการคัดเลือกพันธุ์สบู่ดำให้ ประสบผลสำเร็จในอนาคต จึงควรเป็นคู่ผสมที่มีความแตกต่างทางพันธุกรรมที่มาจากต่างกลุ่มกันโดยการผสมพันธุ์ตามด้วยการคัดเลือกรุ่นลูก … เดี๋ยวพักกันสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับ ปัจจุบันสบู่ดำเป็นพืชน้ำมันที่นำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาแพงขึ้น และสบู่ดำยังมีการนำมาใช้ประโยชน์อีกมาก เช่น สบู่ดำทั้งลำต้น ใบ และผลใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ ลำต้นยังใช้ทำเยื้อกระดาษ ใบใช้เลี้ยงไหม หรือทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และน้ำมันสบู่ดำยังประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัว 21.28 เปอร์เซ็นต์ และกรดไขมันไม่อิ่มตัว 78.71 เปอร์เซ็นต์ สบู่ดำนำมาสกัดน้ำมันทั้งเมล็ดทั้งเปลือกมีน้ำมัน ร้อยละ 34.96 และสกัดน้ำมันโดยการแยกเมล็ดแยกเปลือกมีน้ำมัน ร้อยละ 54.67
ส่วนที่สำคัญของสบู่ดำคือส่วนของเมล็ดครับ ซึ่งมีน้ำมันที่สามารถนำไปแปรรูปและผสมกับน้ำมันดีเซลเป็นไบโอดีเซล หรือใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลกับเครื่องยนต์ดีเซลได้ทุกประเภท และสามารถใช้น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดโดยตรงกับเครื่องยนต์ทางด้านการเกษตรได้อย่างดี แต่คุณประโยชน์ของสบู่ดำก็ไม่ได้มีเพียงแค่การสกัดและใช้ประโยชน์จากน้ำมันที่ได้เท่านั้นนะครับ เพราะสบู่ดำยังมีการนำมาใช้ประโยชน์อีกหลายๆด้าน อย่างเช่น
การนำมาใช้เป็นอาหารของคน ก็จะใช้ส่วนของใบอ่อนหรือยอดอ่อนเมื่อนำไปนึ่งด้วยไอน้ำร้อนแล้วสามารถนำมารับประทานได้อย่างปลอดภัย หรือเมล็ดสบู่ดำจากบางพื้นที่ของประเทศแม็กซิโกเมื่อนำมาต้มและคั่วด้วยความร้อนสามารถนำไปรับประทานได้เช่นกันครับ
การใช้เป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากกากสบู่ดำ มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ประกอบด้วยสารพิษมากมาย ฉะนั้นจึงต้องนำกากสบู่ดำมาผ่านกระบวนการกำจัดสารพิษก่อนนำไปเลี้ยงสัตว์โดยการใช้ความร้อนร่วมกับการสกัดด้วยสารเคมี หรือการหมักกากน้ำมันสบู่ดำด้วยเชื้อรา หรือแม้กระทั้งยารักษาโรค ส่วนต่างๆของสบู่ดำก็นำมาใช้ได้เกือบทุกส่วนเลยล่ะครับคุณผู้ฟัง
สัปดาห์หน้า กระผม จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆมาฝาก คุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 18.30 – 18.55 น.
หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ…….
…………………………………………………………………………………