รายการวิทยุ เรื่อง กระดาษจากแป้งข้าว/วุฒินันท์ คงทัด
บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ที่ 23 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558
เรื่อง กระดาษจากแป้งข้าว
บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา
………………………………………………………………………………………
-เพลงประจำรายการ-
สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก.แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมนายวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
วันนี้ผมมีกรรมวิธีการผลิตกระดาษสาจากแป้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวพันธุ์ต่างๆมาฝากกันนะครับ ซึ่งสามารถทำเองได้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตกระดาษด้วยมือทั้งในระดับเล็กและระดับกลาง สามารถใช้ประโยชน์จากแป้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวที่มีอยู่ในท้องถิ่นซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากเลยนะครับ ถ้าคุณผู้ฟังได้ทราบจะเห็นถึงความคุ้มค่าได้อย่างชัดเจนเลยแหละครับ กรรมวิธีการผลิตกระดาษสาที่กระผมจะแนะนำให้กับท่านผู้ฟังในวันนี้ มาจากผลงานวิจัยของคุณวุฒินันท์ คงทัด และคณะ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาการปรับปรุงคุณสมบัติเชิงกลของกระดาษสาที่ทำด้วยมือแบบไทยเมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยการนำเปลือกปอสามาขึ้นรูปทำเป็นแผ่นกระดาษ แล้วเคลือบด้วยกาวแป้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวพันธุ์ต่างๆ เพื่อคัดเลือกพันธุ์และความเข้มข้นของกาวที่มีความเหมาะสมที่จะช่วยทำให้กระดาษสามีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นมากกว่ากระดาษสาที่ไม่เคลือบและเป็นการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปอีกด้วยแหละครับ
คุณผู้ฟังทราบกันหรือไม่ครับว่า ประเทศไทยมีการผลิตกระดาษด้วยมือมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยใช้เปลือกไม้ เช่น เปลือกปอสา เปลือกข่อย และอื่นๆ เป็นวัตถุดิบ ทำให้กระดาษที่ได้มีคุณภาพไม่ดีมีการเสื่อมสภาพเร็ว ฉีกขาด เปื่อย และถูกทำลายได้ง่าย ต่อมานะครับ จึงได้มีการพัฒนากระดาษให้มีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานราชการเองได้เข้าไปส่งเสริมและแนะนำวิธีการคัดเลือกวัตถุดิบ การผลิตเยื่อ และการทำแผ่นกระดาษโดยเฉพาะการผลิตกระดาษสา เนื่องจากเป็นเยื่อที่ดีเหมาะต่อการทำกระดาษเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์หัตถกรรม เพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรหรือการนำมาใช้เป็นวัสดุประกอบในงานประดิษฐ์ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในครอบครัว ผลิตภัณฑ์จากกระดาษหัตถกรรมนี้ในแต่ละปีสามารถทำรายได้ให้กับประเทศปีละไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทเลยทีเดียวครับ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีตลาดส่งออกที่สำคัญ จะมีประเทศไหนบ้าง ช่วงหน้าเราจะกลับมาฟังกันนะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ กับผลิตภัณฑ์จากกระดาษหัตถกรรมที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยตัวคุณภาพ วัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่ดี จึงทำให้ประเทศไทยยังมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ตลาดเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ตลาดยุโรป เช่น เยอรมัน และฝรั่งเศส ตลาดสหรัฐอเมริกา และแคนาดา
ส่วนลักษณะของการผลิตกระดาษนั้น มี 3 รูปแบบด้วยกันครับ นั่นคือ การผลิตในระดับครัวเรือน ผู้ประกอบการขนาดกลาง และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ด้วยความที่รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของผลิตภัณฑ์จากกระดาษหัตถกรรม จึงได้สนับสนุนให้มีสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เกิดขึ้น ทำให้การผลิตกระดาษขยายตัวมากยิ่งขึ้นจนทำให้ขาดวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต และวัตถุดิบหลักดังกล่าวนั่นก็คือเปลือกปอสา ที่สามารถหาได้ภายในประเทศประมาณ 50% นอกจากนั้นก็จะนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนที่ข้างแพง ดังนั้นผู้ผลิตจึงหันมาใช้วัตถุดิบอื่น ๆ แทน อย่างเช่น ใบสับปะรด ชานอ้อย ฟางข้าว ผักตบชวา กก และอื่นๆนั้นเองแหละครับ นอกจากนี้ยังใช้เศษเยื่อจากเนื้อไม้ยูคาลิปตัส และสน จากโรงงานอุตสาหกรรมกระดาษมาผสมในกระดาษ การใช้เยื่อดังกล่าวมาผสมในกระดาษสา หรือทำกระดาษโดยตรงจะส่งผลให้กระดาษทีได้มีคุณภาพลดลงโดยเฉพาะความแข็งแรงของกระดาษนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การผลิตกระดาษธรรมดาๆอย่างเดียวแล้วหล่ะครับคุณผู้ฟัง ปัจจุบันเราถึงต้องมีการปรับปรุงให้กระดาษมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นสามารถทำได้โดยใช้สารเพิ่มความแข็งแรงลงผสมไปในแผ่นกระดาษ ซึ่งสารดังกล่าวส่วนใหญ่ที่ใช้คือ สารเพิ่มความเหนียวที่ได้จากแป้งดัดแปรต่าง ๆ เช่นจากแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวโพด และ แป้งสาลี ส่วนข้าวเป็นวัตถุดิบที่นำมาผลิตแป้งที่มีปริมาณมากในประเทศ เพื่อใช้ปริโภคมีทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว ข้าวแต่ละชนิดก็มีหลายพันธุ์เช่นตัวอย่างพันธุ์ข้าวเจ้าได้แก่ ขาวตาแห้ง 17 เหลืองประทิว 123 (รังสิต 80) เจ๊กเชย พลายงามปราจีนบุรี ปราจีนบุรี 2 เฉี้ยงพัทลุง เล็บนก ปัตตานี สังข์หยด ชัยนาท 1 ชัยนาท 2 ปทุมธานี 1 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 3 พิษณุโลก 2 กข 29 (ชัยนาท 80) กข 31 (ปทุมธานี 60 หรือ ปทุมซีอีโอ) กข 33 (หอมอุบล 80) หอมมะลิ 105 และ กข 15 ส่วนพันธุ์ข้าวเหนียวได้แก่ กข 6 กข 10 กข 12 (หนองคาย 80) สกลนคร และสันป่าตอง 1 จึงเป็นที่มาที่ไปของงานวิจัยของ คุณวุฒินันท์ คงทัด และคณะ ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำข้าวสารหรือแป้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียวมาทำเป็นกาวเคลือบกระดาษด้วยมือ เพื่อปรับปรุงสมบัติเชิงกลของกระดาษให้ดีขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวได้อีกทางหนึ่ง และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ผลิตกระดาษที่สามารถเตรียมกาวจากแป้งข้าวที่มีอยู่ในท้องถิ่นใช้เองได้ ทั้งนี้กลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตกระดาษรายย่อยจะได้ประโยชน์โดยตรงจากการวิจัยในครั้งนี้ และสามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมกระดาษขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคตครับ เมื่อคุณผู้ฟังได้ยินอย่างนี้แล้วเกิดอยากจะรู้กรรมวิธีการผลิตกันแล้วใช่ไหมหล่ะครับ อดใจรอกันสักครู่แล้วช่วงหน้าเรากลับมาฟังกันครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับเข้าสู่รายการจากแฟ้มงานวิจัยกันอีกครั้งนะครับ กับวิธีการทำกระดาษสาด้วยมือ ผลงานวิจัยของคุณวุฒินันท์ คงทัด และคณะ จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพของกระดาษสาและสนับสนุนให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มเกษตรกรรายย่อยสามารถทำเองสามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวอีกด้วย ขั้นตอนการทำเริ่มจากการต้มเยื่อปอสาเกรด A ด้วยสารโซเดียมไฮดรอกไซด์ความเข้มข้น 8% ของน้ำหนักเปลือกอบแห้ง อุณหภูมิ 100 oC เป็นเวลานาน 3 ชั่วโมงครับ แล้วฟอกเยื่อด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ความเข้มข้น 4% ของน้ำหนักเยื่ออบแห้ง จะได้เยื่อเฉลี่ย 56.76% ฟอกเยื่อด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ความเข้มข้น 4% ของน้ำหนักเยื่ออบแห้ง ทำแผ่นกระดาษด้วยมือแบบไทยน้ำหนักมาตรฐาน 70±5 g/m2(กรัมต่อตารางเมตร) ซึ่งมีน้ำหนักมาตรฐาน 73.40 g/m2 (กรัมต่อตารางเมตร) ความต้านทานแรงหักพับเฉลี่ย 35 ความต้านทานแรงดึงเฉลี่ย 15.12 N.m/g (นิวตันเมตรต่อกรัม) ความต้านทานแรงฉีกขาดเฉลี่ย 39.94 mN.m2/g (มิลลินิวตัน.ตารางเมตรต่อกรัม) ความเรียบเฉลี่ย 1.96 วินาที ความต้านทานแรงดันทะลุเฉลี่ย 1.94 kPa.m2/g(กิโลปาสกาล.ตารางเมตรต่อกรัม) และความขาวสว่างเฉลี่ย 70.91% หลังจากนั้นนำกระดาษที่เตรียมได้มาเคลือบด้วยกาวแป้งเจ้าข้าวพันธุ์ เสาไห้ ขาวตาแห้ง 17 ปทุมธานี 60 ชัยนาท ขาวดอกมะลิ 105 เหลืองประทิว 123 เหลืองอ่อน และข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 กข 6 (ลำปาง) เขี้ยวงู ที่ความเข้มข้น 0 2 4 6 และ 8% โดยปริมาตร แล้วทดสอบสมบัติเชิงกลของกระดาษตามวิธีมาตรฐานของ TAPPI ครับ
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับวิธีการทำไม่ยากเลยใช่ไหมครับ หากคุณฟังสนใจ อยากจะให้ได้ลองทำกันนะครับ และที่สำคัญเลยนะครับคุณผู้ฟัง การทำกระดาษสาด้วยวิธีดังกล่าวนั้น แล้วนำมาทดสอบสมบัติเชิงกลของกระดาษที่เคลือบด้วยกาวแป้งที่ระดับความเข้มข้นต่างๆพบว่า ความเข้มข้นของสารละลายกาวแป้งที่เหมาะสมคือ 2% โดยปริมาตรของสารละลาย จะช่วยทำให้กระดาษมีสมบัติเชิงกลเหมาะสมที่สุดกระดาษที่เคลือบที่น้ำหนักมาตรฐาน 83.31 g/m2 มีความต้านทานแรงหักพับเฉลี่ย 1,127 ความต้านทานแรงดึงเฉลี่ย 35.39 N.m/g ความต้านทานแรงฉีกขาดเฉลี่ย 50.52 mN.m2/g ความต้านทานแรงดันทะลุเฉลี่ย 3.58 kPa.m2/g ความเรียบเฉลี่ย 2.01 วินาที และ ความขาวสว่างเฉลี่ย 66.27% ครับ
และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพันธุ์ข้าวต่างๆนะครับ สมบัติเชิงกลของกระดาษสาที่เคลือบด้วยกาวแป้งข้าวพันธุ์ที่แตกต่างกันที่ความเข้มข้น 2% โดยปริมาตร พบว่า กระดาษสาที่เคลือบด้วยกาวแป้งข้าวเจ้าพันธุ์หอมปทุม (ปทุมธานี 60) มีสมบัติเชิงกลดีกว่ากระดาษสาที่เคลือบด้วยแป้งข้าวเจ้าพันธุ์เหลืองอ่อน พันธุ์เสาไห้ พันธุ์ขาวตาแห้ง 17 พันธุ์หอมปทุม (ปทุมธานี 60) พันธุ์ชัยนาท พันธุ์หอมมะลิ(ขาวดอกมะลิ 105) พันธุ์เหลืองประทิว123 พันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 พันธุ์กข 6 (ลำปาง) และพันธุ์เขี้ยวงู และถ้าหากกระดาษสาที่เคลือบด้วยกาวแป้งข้าวพันธุ์ที่แตกต่างกันที่ความเข้มข้น 4-6% โดยปริมาตร จะได้กระดาษที่มีความแข็งแรงมากกว่ากระดาษสาที่ไม่ได้เคลือบโดยเฉพาะปัจจัยความต้านทานแรงหักพับเพิ่มขึ้น 67.40 เท่า ความต้านทานแรงดึงเพิ่มขึ้น 2.43 เท่า และความต้านทานแรงดันทะลุเพิ่มขึ้น 1.85 เท่า แต่ความเรียบ ความต้านทานแรงฉีกขาดและความขาสว่างจะลดลงเล็กน้อยครับ แต่ถือว่าเป็นผลการทดลองที่ได้ผลดีครับคุณผู้ฟัง ทำให้กระดาษมีความเหมาะสมที่จะใช้กับงานหัตถอุตสาหกรรมได้ดีเลยที่เดียวหล่ะครับ นอกจากคุณผู้ฟังจะได้ทราบถึงวิธีการทำกระดาษสาแล้วนะครับ ยังทราบอีกว่าข้าวพันธุ์ไหนเหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาสมบัติเชิงกลของกระดาษสาอีกด้วย ช่วงนี้พักกันสักครู่นะครับ ช่วงหน้าผมจะกลับมาพร้อมกับคำแนะนำดีๆจากผู้วิจัยครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของรายการแล้วนะครับคุณผู้ฟัง การปรับปรุงสมบัติเชิงกลของกระดาษสาที่ทำด้วยมือโดยเคลือบด้วยกาวจากแป้งข้าวเจ้าพันธุ์เหลืองอ่อน เสาไห้ ขาวตาแห้ง 17 หอมปทุม (ปทุมธานี 60) ชัยนาท หอมมะลิ (ขาวดอกมะลิ 105) เหลืองประทิว 123 และข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 กข 6 (ลำปาง) เขี้ยวงู ปรากฏว่ากาวจากแป้งข้าวทุกพันธุ์สามารถนำมาเคลือบกระดาษสาได้ครับ ซึ่งกระดาษที่ผ่านการเคลือบจะมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น แต่กาวจากแป้งข้าวเจ้าพันธุ์หอมปทุม (ปทุมธานี 60) จะช่วยทำให้กระดาษสามีสมบัติเชิงกลที่ดีกว่าพันธุ์อื่น ๆ ที่ใช้ทดลองครับ สำหรับคำแนะนำดีๆ คุณผู้ฟังทราบหรือไม่ครับว่า เนื่องจากข้าวสารที่จำหน่ายอยู่ในตลาดมีชื่อเรียกที่ไม่ค่อยตรงกับชื่อที่ถูกต้องของกรมการข้าว ทำให้อาจจะมีปัญหาในการซื้อเพื่อให้ได้พันธุ์ที่ต้องการจริงๆ และปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสีข้าวสารในแต่ละพันธุ์ไม่แน่ใจว่าโรงสีมีการแยกพันธุ์ออกจากกันอย่างชัดเจนหรือไม่ ดังนั้นควรซื้อพันธุ์ข้าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือจากกรมการข้าวโดยตรงจะได้พันธุ์ข้าวตรงตามความต้องการ และได้กาวแป้งที่มีคุณภาพและสม่ำเสมอทุกครั้งที่ใช้งานครับ
สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ