สร้างมูลค่าจากผลิตขนุน

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=zIwoLz4cF2g[/youtube]

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันที่ 11  เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรื่อง “สร้างมูลค่าจากผลิตขนุน”

บทวิทยุโดย  หทัยรัตน์  ศรีสุภะ

………………………………………………………………………………………………………………………………………….

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีค่ะ คุณผู้ฟังทุกท่านค่ะ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ค่ะ รายการนี้ผลิตโดย  ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย  สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีดิฉัน…………………..เป็นผู้ดำเนินรายการค่ะ

คุณผู้ฟังค่ะ  ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่อุดมไปด้วย พืชผลทางการเกษตรมากมาย หลายหลากชนิดให้เราได้เลือกบริโภค  ทั้งพืชผลที่เป็นพืชเศรษฐกิจมีการปลูกเพื่อเป็นสินค้าส่งออก และ ก็มีผลไม้ที่เป็นการปลูกเพื่อขายทั่วไปในบ้านเรา หาทานได้ไม่ยากนัก และก็รวมถึงสิ้นค้าแปรรูปอีกนานาชนิด  อย่างผลไม้ที่จะมาพูดถึงกันในวันนี้เป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักดี สมัยก่อนนิยมปลูกกันไว้ในบ้าน เพราะเชื่อว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นสิริมงคลแก่คนในบ้าน คนโบราณเชื่อว่าขนุนเป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล คือให้ความเป็นสิริมงคลเหมือนชื่อ และจะส่งผลให้ผู้ปลูกมีบุญหนุนนำชีวิตจึงมีแต่ความสุข รุ่งโรจน์ ผู้ปลูกขนุนจะมีผู้ช่วยเหลือเกื้อหนุนจะทำการสิ่งใดก็มีคนสนับสนุนผลักดันให้ก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จหากจะทำมาค้าขายก็จะร่ำรวย เพราะมีคนอุดหนุนจุนเจือไม่ขาด ไม่ว่าจะทำกิจใด ชีวิตก็จะรุ่งเรือง มีเงินมีทองหนุนเนื่องตลอดไป เลยน่ะค่ะ และเคล็ดลับในการปลูกขนุนนั้น คนโบราณเชื่อกันว่า  การปลูกขนุนเพื่อความเป็นสิริมงคลนั้น ควรให้ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ลงมือ ส่วนวันที่เหมาะแก่การปลูกคือวันจันทร์และวันพฤหัสบดีและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะปลูกต้นขนุนไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้าน  และนี่ก็เป็นเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นน้ำจิ้มก่อน  แต่ว่าวันนี้ดิฉันไม่ได้จะมาพูดถึงแต่เรื่องของความเชื่อในการนิยมปลูกขนุน หรือว่าจะคุยกันถึงเรื่องเนื้อขนุนสีเหลืองสวยๆหวานๆอร่อยๆอย่างเดียวนะค่ะ เพราะนั่นธรรมดาไปค่ะ สำหรับคุณผู้ฟังรายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ต้องพิเศษกว่านั้นค่ะ ว่าแต่จะมีความพิเศษสักแค่ไหน อดใจไว้ก่อนนะค่ะช่วงหน้ารับรองรองว่าได้ทราบกันอย่างแน่นอนค่ะ …..

 -เพลงคั่นรายการ –

 

          ค่ะกลับมาอีกช่วงหนึ่งและน่ะค่ะคุณผู้ฟัง   อย่างที่ได้บอกไปช่วงที่แล้วว่า เรื่องที่เราจะนำมาพูดคุยกันในวันนี้เป็นเรื่องของขนุน  แต่ว่าไม่ได้จะมาพูดถึงการปลูกเพื่อให้เป็นต้นไม้สิริมงคลแก่บ้านของคุณผู้ฟังหรอกน่ะค่ะ  เพราะว่าขนุนมีประโยชน์มากมายกว่านั้นค่ะ  ขนุนนั้นเป็น ต้นไม้ที่คนไทยเรารู้จักดี เพราะขนุนนั้นสามารถนำมาทำประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ใช้เป็นยา ใช้รับประทานก็แสนอร่อย และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ชาวเหนือใช้ใบขนุนร่วมกับใบพุทรา ใบพิกุล นำมาซ้อนกันแล้วนำไปไว้ใน ยุ้งข้าวตอนเอาข้าวขึ้นยุ้งใหม่ๆ เชื่อกันว่าจะทำให้หนุนนำและส่งผลให้มีข้าวกินตลอดปีและตลอดไป  ขนุน … จัดเป็นผลไม้ไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ในรสชาติ และมีกลิ่นอันหอมหวาน ขนุน มีชื่อเรียกอื่นๆ ที่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อย่างเช่น  ขหนุน หมักมี้ ขะนู นากอ โนน บักมี่ ขนุน หน่อย หมากกลาง ชื่อสามัญคือ Jack Fruit Tree (แจ็คฟรุ๊สทรี) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 8-15 เมตร มียางขาวทั้งต้นไม้เนื้ออ่อนแก่นสีเหลือง ใบรูปร่างกลมรี เหนียวและหนา ดอกตัวเมียและตัวผู้อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้มีกลิ่นหอม ผลเป็นผลรวมผลกลมและยาวขนาดใหญ่ หนัก 10-60 กิโลกรัม ในหนึ่งผลใหญ่จะมีผลย่อยหลายผล หรือ เรียกว่า ยวง เมล็ดกลมรีเนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ถ้าสุกมีกลิ่นหอมเปลือกหุ้มเมล็ดสามารถรับประทานได้

ส่วนที่ใช้บริโภค ได้แก่ส่วนของ ยอดอ่อน ใบอ่อน ผลอ่อน ดอกตัวผู้อ่อน ซัง ส่วนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปลูกได้ทั่วไปในดินที่มีการระบายน้ำดี และการปรุงอาหารก็สามารถนำ  ดอก ตัวผู้อ่อนรับประทานกับน้ำพริก ยอดอ่อนใบอ่อน รับประทานสดกับส้มตำ เมี่ยงและลวกร่วมกับน้ำพริก ยอดอ่อนและซังปรุงเป็นแกง ผลขนุนอ่อนต้มให้สุกรับประทานกับน้ำพริก ปรุงเป็นซุปขนุน หรือแกงขนุน ยอดขนุนรสฝาดอมเปรี้ยว ผลอ่อน รสมันหวาน สรรพคุณ รสฝาดสามารถรักษาอาการท้องเสียได้

นอกจากนี้ขนุนยังนำ มาแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ขนุนแผ่น ขนุนกวน ขนุนเชื่อม ขนุนทอด หรือแม้แต่ข้าวเหนียวขนุน และอื่น ๆ อีกมากมายค่ะ  ขนุนกินได้ตั้งแต่เริ่มออกยอด จนกระทั่งเป็นผลใหญ่ระดับหนึ่ง ก็สามารถเอามาแกงป่า ซุป แกง ต้ม ตามแต่ละความชอบได้เลยค่ะ เมื่อสุก ก็สามารถทานเป็นของหวานได้อีกต่างหาก แล้วคุณผู้ฟังทราบไหมค่ะว่า ที่สำคัญผลสุกของขนุน สามารถใช้แทนยาระบายได้ดีมากอีกด้วยค่ะ แล้วส่วนอื่นๆจะมีประโยชน์สรรพคุณในด้านไหนกันบ้าง ลองฟังดูนะค่ะ…

 

ประโยชน์จากขนุน

ใบ  รสฝาด สามารถรักษาหนองเรื้อรังและใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกแผล ใบของต้นขนุนตากแห้ง สามารถใช้ห้ามเลือดและเป็นยาสมานแผลได้

ราก  รสหวานอมขม แก้ท้องร่วง แก้ไข้ แก้ธาตุน้ำกำเริบ โลหิตพิการ ฝาดสมานบำรุงกำลัง และบำรุงโลหิต

แก่นและราก  รสหวานอมขม บำรุงโลหิต แก้กามโรค ขับพยาธิ ระงับประสาท และแก้โรคลมชัก

ยาง  รสจืด ฝาดเฝื่อน แก้อักเสบบวม แผลมีหนองเรื้อรัง แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ขับพยาธิ แก้ปวดและขับน้ำนม

หุ้มเมล็ด  รสหวานมัน หอม บำรุงกำลังและชูหัวใจให้ชุ่มชื่น

ในเมล็ด  รสหวานมัน บำรุงน้ำนม ขับน้ำนม และบำรุงกำลัง

ขนุนอ่อน มีใยในอาหารสูงมาก ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปก็จะเป็นการช่วยทำความสะอาดลำไส้ได้อย่างดีเลยค่ะ  และยังช่วยการรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้อีกด้วย

ส่วนเม็ดขนุนนั้น  สำหรับสตรีหลังคลอดแล้ว เม็ดขนุนมีสรรพคุณในการช่วยเพิ่มน้ำหนักได้ดีเลยน่ะค่ะ

เห็นไหมค่ะว่าขนุนสารพัดประโยชน์จริงๆ ทั้งเป็นอาหาร ทั้งทำยา  นอกจากจะกินแบบสดๆไม่ผ่านการแปรรูปหรือจะผ่านการแปรรูปแล้ว ขนุนก็ยังคงความอร่อยได้เสมอเลยน่ะค่ะ   ในช่วงฤดูที่ผลผลิตของขนุนมีปริมาณมากโดยเฉพาะช่วงกลางฤดูมักมีปัญหาราคาตกต่ำ จึงมีการแปรรูขนุนให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกขนุน และเป็นทางเลือกในการเสริมรายได้ให้แก่เกษตรและกลุ่มแม่บ้านผลิตภัณฑ์แปรรูปขนุน ได้อีกทางหนึ่งค่ะ

 

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

     จากการแปรรูปขนุน ให้มีความหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นแล้วนั้น ทางคณะผู้วิจัย คือ รศ.ดร.สงวนศรี เจริญเหรียญ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้ค้นคว้าและทำการวิจัยเพื่อที่จะแปรรูปเมล็ดขนุนซึ่ง เป็นส่วนที่คนมักจะไม่ค่อยนิยมนำมาบริโภคกัน จะเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการแปรรูปขนุน ถ้าสามารถนำเศษเหลือ (เมล็ดขนุน) มาใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น  จะทำให้ต้นทุนการผลิตขนุนทอดกรอบและขนุนอบแห้งลดลง  สามารถแข่งกับต่างประเทศได้ดีขึ้น  และทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  ซึ่งสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชน  และยังช่วยลดภาระในการกำจัดวัสดุเหลือทิ้ง  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในชุมชนด้วย

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ผู้วิจัยมีความสนใจที่จะพัฒนาการแปรรูปเมล็ดขนุนให้สามารถนำมาเป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้านั่นเองค่ะ  และวิธีการแปรรูปเมล็ดขนุนที่ทางผู้วิจัยให้สนความใจนั้นก็คือ การปรับปรุงคุณสมบัติโดยการดัดแปลงให้มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับแป้ง/สตาร์ชมันฝรั่ง หรือแป้ง/สตาร์ชข้าวโพด ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศไทย  จากการศึกษาพบว่าปริมาณเมล็ดขนุนที่เหลือจากกระบวนการแปรรูปจะมีปริมาณอยู่ที่ 1,000 – 24,000 กก.ต่อปี เลยน่ะค่ะ และทางคณะผู้วิจัยจึงได้ติดต่อขอรับเมล็ดขนุนพันธุ์ทองสุดใจจากกลุ่มแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่จังหวัดราชบุรี มาใช้ในการศึกษาทดลอง โดยนำเมล็ดขนุนที่รับมา  นำมาล้างทำความสะอาด ปล่อยให้สะเด็ดน้ำจนแห้ง แล้วนำบรรจุถุงพลาสติกถุงละ 1 ก.ก. เก็บไว้ที่อุณหภูมิ -18 oซ  จากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการสกัดแป้งจากเมล็ดขนุนต่อไปค่ะ โดยวิธีการที่นำเมล็ดขนุนมาสกัดเป็นแป้ง มีกระบวนการอยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกันดังนี้น่ะค่ะ

 

 

วิธีที่ 1 แช่เมล็ดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์และหั่นหยาบ

นำเมล็ดขนุนมาล้าง ปอกเปลือกสีขาวออกจากนั้นนำมาแช่ ในสารละลาย โซเดียมไฮดรอกไซด์ 5% เป็นเวลา 2 นาที เพื่อให้เนื้อสีน้ำตาลหลุดออก  จากนั้นนำเมล็ดขนุนมาหั่นเป็นแผ่นบางๆและอบแห้งด้วยตู้อบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 45oซ จนมีความชื้นต่ำกว่า 13% นำแผ่นเมล็ดขนุนอบแห้งเข้าเครื่อง Hammer Mill (แฮมเมอร์ มิว)  แล้วร่อนผ่านตะแกรง เก็บในถุงพลาสติก PE และเก็บในกล่องพลาสติกจนกว่าจะมีการนำใช้

วิธีที่ 2 แช่เมล็ดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์และกรดซิตริกและหั่นละเอียด

นำเมล็ดขนุนมาล้างทำความสะอาดทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ แยกเยื่อสีขาวชั้นนอก จากนั้นแช่เมล็ดขนุนในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ 5% เป็นเวลา 2 นาที และแช่กรดซิตริก 5% เป็นเวลา  2 นาที  นำเมล็ดขนุนมาล้างน้ำสะอาด แยกเยื่อสีน้ำตาลออก นำเมล็ดขนุนที่แยกเยื่อสีน้ำตาลเข้าเครื่องฝาน แล้วก็เข้าเครื่องทำฝอยอีกที  จากนั้นอบด้วยตู้อบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 45o ซ. จนมีความชื้นต่ำกว่า 13% นำเมล็ดขนุนฝอยที่อบแห้งแล้ว เข้าเครื่อง Hammer Mill  (แฮมเมอร์ มิว)  แล้วร่อนผ่านตะแกรง  เก็บในถุงพลาสติก PE และเก็บในกล่องพลาสติกจนกว่าจะมีการนำใช้

วิธีที่ 3 แช่เมล็ดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์และกรดซิตริกและตีปั่นแบบเปียก

นำเมล็ดขนุนพันธุ์ศรีบรรจงปอกเปลือกสีน้ำตาลของเมล็ดขนุน โดยแช่ในสารละลาย

โซเดียมไฮดรอกไซด์ 5% เป็นเวลา 2 นาที และแช่ในกรดซิตริก 5% เป็นเวลา 2 นาที จากนั้นนำมาล้างน้ำ 3 ครั้ง และนำเมล็ดไปปั่นผสมกับน้ำด้วยอัตราส่วน 1:3 กรองผ่านผ้าขาวบาง  หนา 2 ชั้น  ทิ้งให้ตกตะกอน  จากนั้นรินน้ำออกแล้วนำตะกอนที่ได้  อบด้วยตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ  45oซ จนมีความชื้นต่ำกว่า 13% นำแผ่นตะกอนแป้งเข้าเครื่อง Hammer Mill  (แฮมเมอร์ มิว)  แล้วร่อนผ่านตะแกรง เก็บในถุงพลาสติก PE และเก็บในกล่องพลาสติกจนกว่าจะมีการนำใช้

ซึ่งการสกัดแป้งจากเมล็ดขนุนทั้ง 3 วิธีนี้ ยังจะต้องมีการตรวจหาสิ่งแปลกปลอมในแป้งเมล็ดขนุนอีก วิธีนี้ใช้เพื่อคัดเลือกวิธีการสกัดแป้งจากเมล็ดขนุนที่ให้คุณภาพดี โดยดัดแปลงจากวิธี มอก. โดยนำเมล็ดขนุนชั่งตัวอย่างแป้งเมล็ดขนุน 10 กรัม ใส่ลงในบีกเกอร์ ขนาด 250 มิลลิลิตร เติมน้ำ 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร คนให้กระจายทั่วกัน ดมกลิ่น  จากนั้นกรองผ่านตะแกรง   ตรวจหาสิ่งแปลกปลอมที่ค้างบนตะแกรง และที่ตกตะกอนในภาชนะที่รองรับน้ำแป้ง ที่กรองผ่านตะแกรงแล้ว แล้วขั้นตอนสุดท้ายก็ชั่งน้ำหนักแป้งที่ค้างบนตะแกรงอีกทีหนึ่งค่ะ

 

-เพลงคั่นรายการ-

 

คุณผู้ฟังค่ะ   การที่จะนำเมล็ดขนุนมาสกัดเป็นแป้งนั้น ก็ต้องมีการคัดเลือกพันธุ์ขนุนกันด้วยน่ะค่ะ ซึ่งพันธุ์ขนุนที่นิยมนำมาใช้กันมากที่สุดมักจะเป็น พันธุ์ทองสุดใจ ทองประเสริฐและศรีบรรจง  เนื่องจากขนุนทั้ง 3 พันธุ์นี้  จะเป็นที่นิยมนำมาแปรรูปกันและจะมีเมล็ดขนุนเหลือทิ้งจากโรงงานเป็นจำนวนมาก อย่างที่ดิฉันได้บอกไปข้างต้นแล้วว่า  จะมีปริมาณเมล็ดขนุนเหลือทิ้งประมาณ  1,000 – 24,000 กก.ต่อปี และจะมีการแปรรูปตลอดปีช่วงเวลาที่มีการผลิตมากคือเดือน ธันวาคม – พฤษภาคม และเมื่อสักครู่เราก็ได้พูดถึงเรื่องของการหาสิ่งแปลกปลอมในแป้งเมล็ดขนุนที่ผ่านการสกัดทั้ง 3 วิธี  พบว่าทั้ง 3 วิธีให้แป้งที่ไม่พบสิ่งแปลกปลอมและมีกลิ่นปกติแต่วิธีแช่เมล็ดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์และกรดซิตริกและตีปั่นแบบเปียก  จะมีเศษแป้งติดค้างบนตะแกรงมากที่สุด  รองลงมาคือวิธีแช่เมล็ดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์และหั่นหยาบ  แต่การที่มีเศษแป้งติดค้างบนตะแกรงมากแสดงว่าวิธีดังกล่าวผลิตผงแป้งได้ไม่ละเอียดและสม่ำเสมอเท่าวิธีแช่เมล็ดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์และกรดซิตริกและหั่นละเอียด

ซึ่งเมื่อพิจารณาความยากง่ายในการแยกเยื่อสีน้ำตาล  ผลผลิต เวลาในการเตรียมและการค้างของผงแป้งบนตะแกรง จึงเห็นว่าวิธีที่ 1 ซึ่งได้แก่ วิธีแช่เมล็ดด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์และกรดซิตริกและหั่นละเอียด เป็นวิธีที่เหมาะสมในการสกัดแป้งจากเมล็ดขนุนมากที่สุดค่ะ  ส่วนวิธีการสกัดแป้งเมล็ดขนุนนั้น การใช้สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ละลายสิ่งเจือปนและการกรองผ่านตะแกรง  ทำให้ได้แป้งที่บริสุทธิ์  จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และสมบัติทางเคมีกายภาพ  ได้แก่ การศึกษาลักษณะและขนาดของเม็ดสตาร์ช  อุณหภูมิในการเกิดเจลาติไนเซชัน  การพองตัว  สมบัติด้านความหนืด พบว่าแป้งและสตาร์ชเมล็ดขนุนมีลักษณะใกล้เคียงกับสตาร์ชข้าวโพดมากกว่าสตาร์ชมันฝรั่งค่ะ

คุณผู้ฟังค่ะ  ผลไม้บ้านเราก็มีอยู่หลากหลายชนิด ให้คนไทยได้เลือกรับประทานกันน่ะค่ะ และผลไม้ชนิดต่างๆ ก็มีประโยชน์ที่สามารถนำมาใช้หากเรารู้จักวิธีการและรู้จักนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าของสิ่งเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด อย่าง เมล็ดขนุนที่สามารถนำมาทำเป็นแป้งขนุนได้ยังไงล่ะค่ะ และเมล็ดของผลไม้ในบ้านเราหลายชนิดก็มีแป้งอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น อย่างเช่น เมล็ดขนุน  เมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดเงาะ และเมล็ดทุเรียน ว่าชนิดไหนจะให้ปริมาณแป้งมากกว่ากัน โดยเริ่มจากการนำเมล็ดผลไม้ทั้ง 3 ชนิด ต้มสุก แล้วบดละเอียดอย่างละ 1 กรัม มาทำปฏิกิริยากับสารละลายไอโอดีน 1% จำนวน 5 หยด ผลที่ได้คือ เมล็ดขนุน มีแป้งมากที่สุดคือ 16.25%  ขณะที่เมล็ดเงาะได้แป้ง 3.78%  เมล็ดทุเรียนได้แป้ง 4.02% และการวัดปริมาณน้ำตาลพบว่า  เมล็ดขนุนมีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบอยู่ มากที่สุด คือ 15.13 เปอร์เซ็นต์บริกซ์     คุณผู้ฟังค่ะ  งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้นน่ะค่ะ ถ้าหากเรารู้จักนำสิ่งใกล้ตัวที่ดูเหมือนไร้ค่ามาลองแปรรูป   เราก็จะได้สินค้าตัวใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับเราได้อีก อย่างเมล็ดเงาะ เมล็ดทุเรียน และเมล็ดขนุน ที่ผลจากการวิจัยพบว่าในเมล็ดของผลไม้ทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถสกัดเป็นแป้งได้  ไม่แน่น่ะค่ะ ในอนาคตเราก็อาจจะมีแป้งที่ทำจากผลไม้หลายๆชนิดที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยของเรา  ทำให้เรามีตัวเลือกของสินค้าที่จะส่งออกเพิ่มขึ้น   เป็นการสร้างรายได้   เป็นการสร้างอาชีพ  และทำให้ผู้บริโภคอย่างเรามีตัวเลือกที่มากขึ้นอีกด้วยค่ะ

 

สัปดาห์หน้า ดิฉัน จะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆมาฝาก คุณผู้ฟังอีก  อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ได้ในวัน เวลาเดียวกันนี้

หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วค่ะ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีค่ะ…….