ผลของยาต้านจุลชีพเอนโรฟลอกซาซินและในพลาสม่าปลานิล

ปลานิล เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายขยายพันธุ์รวดเร็ว ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูงทำให้รูปแบบการเลี้ยงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นระบบการเลี้ยงเชิงพาณิชย์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามปรับปรุงสายพันธุ์ให้มีอัตราการเจริญเติบโตดีและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค  แม้ว่าที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญของการเพาะเลี้ยงปลานิลจะเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อจุลชีพ ซึ่งทำให้ปลานิลมีอัตราการป่วย และตายสูง การแก้ปัญหาทำได้โดยการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม แต่ก็ยังเกิดปัญหาเชื้อจุลชีพดื้อยาเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังพบปัญหาการตกค้างของยาในสัตว์น้ำอื่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค

image001

ยากลุ่มควิโนโลนเป็นยาต้านจุลชีพที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี ยากลุ่มนี้มีการใช้และขึ้นทะเบียนเป็นยาสัตว์น้ำโดยอยู่ภายใต้การควบควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ออกโซลินิคแอซิค เอนโรฟลอกซาซิน ซาราฟลอกซาซิน เป็นต้น ยาเอนโรฟลอกซาซินเป็นยาในกลุ่มนี้ที่รับอนุญาตให้ใช้และมีการศึกษากันอย่างแพร่หลายทั้งใน ปลา กุ้ง และปลาหมึกเพราะยาสามารถละลายได้ดีในไขมัน ทำให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีและยังสามารถกระจายตัวไปยังเนื้อเยื้อส่วนต่างๆ ได้ดี  นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์วงกว้างต่อเชื้อจุลชีพแกรมบวกและ แกรมลบตลอดจนเชื้อจุลชีพบางชนิดที่ดื้อต่อยาได้

image002

อาจารย์ สพ.ญ. อุสุมา เจิมนาค จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์หรือผลของยาเอนโรฟลอกซาซินและเมตาบอไลต์ในพลาสมา ปลานิลภายหลังจากการใช้ยาทางหลอดเลือดดำในขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ความเข้มข้นของยาเอนโรฟลอกซาซินในพลาสมาถูกวิเคราะห์ด้วยวิธีโครมาโทกราฟี่ของเหลวสมรรถนะสูง (HPLC) ซึ่งตรวจพบความเข้มข้นของยาเอนโรฟลอกซาซินและไซโปรฟลอกซิซินต่ำสุดในพลาสม่าได้ 0.013 และ 0.026 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ พบว่า ภายหลังการให้ยาเอนโรฟลอกซาซินทางหลอดเลือดดำ มีค่าปริมาตรกระจายตัวของยาเข้าสู่เนื้อ ค่าครึ่งชีวิตของการขับออกของยา และค่าการขจัดยาออกนอกร่างกาย เท่ากับ 10.26 ลิตรต่อกิโลกรัม 4.77 วัน และ 0.06 ลิตรต่อชั่วโมงต่อกิโลกรัม ตามลำดับ พบว่ายาเอนโรฟลอกซาซินมีการเปลี่ยนแปลงรูปยา เป็นไซโปรฟลอกซาซินในอัตราที่ต่ำ จากผลการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่าว่ายาเอนโรฟลอกซาซินคงอยู่ในรูปของยาตั้งต้นที่ความเข้มข้นสูงเป็นระยะเวลานานในพลาสมาของปลานิล ข้อมูลพื้นฐานของยาเอนโรฟลอกซาซินที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญซึ่งนำมาใช้ประกอบการใช้ยาในการรักษาการติดเชื้อจุลชีพในปลานิลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม และยังใช้เป็นแนวทางการกำหนดระยะปลอดยาเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย 

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ อาจารย์ สพ. ญ. อุสุมา เจิมนาค ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์: 0-2942-8751-9 ต่อ 6501, 0-2579-7537

 

ที่มา :  อาจารย์ สพ. ญ. อุสุมา เจิมนาค

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

เรื่องโดย   : นายณัฐพร พันธุ์ยาง

rdinpp@ku.ac.th

ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สวพ.มก.

โทร. 02-561 1474