รายการวิทยุ เรื่อง ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 1/อำนาจ สุวรรณฤทธิ์
บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ที่ 21 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2558
เรื่อง ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 1
บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา
………………………………………………………………..
-เพลงประจำรายการ-
สวัสดีคะ คุณผู้ฟังทุกท่านคะ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้คะ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมี ดิฉัน……………………………….รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการคะ
สวัสดีคะคุณผู้ฟังทุกท่าน ดิฉัน ………………………ผู้ดำเนินรายการ วันนี้ดิฉันมีผลงานวิจัย เป็นความรู้ในเรื่องของปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมมาฝากคะ เป็นผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ท่านเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาคปฐพีวิทยา คณะเกษตร มก. ประธานสภาข้าราชการ มก. รองอธิการบดี มก. และอุปนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย เกษียณอายุราชการในตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ 11 หลังเกษียณอายุราชการจึงได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ และกับการวิจัยในครั้งนี้ ท่านจึงได้ค้นคว้ารวบรวมข้อมูลผลการวิจัยในเรื่อง “ปุ๋ยกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม” มีเนื้อหาย่อยที่น่าสนใจ คือชนิดและสมบัติปุ๋ย หลักการพิจารณาการใช้ปุ๋ย ประสิทธิภาพของปุ๋ยแต่ละชนิด การเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการใช้ปุ๋ย ข้อดีข้อด้อย และข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยของแต่ละชนิดในแง่การเกษตรและในแง่ของสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงสารอีเอ็มและน้ำหมักชีวภาพ และข้อมูลที่นำเสนอส่วนใหญ่ก็มาจากผลงานวิจัยในประเทศไทยคะคุณผู้ฟัง ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะค่ะ
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังค่ะ มาทำความรู้จักกับปุ๋ยกันก่อนนะค่ะ ปุ๋ยเป็นปัจจัยการเกษตรที่สำคัญชนิดหนึ่งคะ แต่อย่างไรก็ตามการปลูกพืชในดินแต่ละแห่งอาจจะไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเสมอไป เพราะในดินที่มีแร่ธาตุอาหารพืชครบถ้วนทุกชนิดและในปริมาณที่พอเหมาะแล้วการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืช ซึ่งเรียกตามภาษาทางการเกษตรว่าการใส่ปุ๋ยนั้น จะไม่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่ากรณีที่กล่าวมานี้ การใส่ปุ๋ยให้แก่พืชเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยไม่ทำให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นหรือการใช้ปุ๋ยนั้นขาดทุน นอกจากนี้ในกรณีที่พืชได้รับธาตุอาหารมากเกนไปจนธาตุอาหารชนิดนั้นเกิดเป็นพิษต่อพืชโดยตรง หรือการที่พืชได้รับธาตุอาหารบางชนิดมากเกินไปอาจทำให้ความสมดุลระหว่างธาตุอาหารชนิดต่างๆเสียไป ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่น้อยลงได้คะ ดังนั้นน่ะค่ะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ย ประเภทและสมบัติของปุ๋ย และดิฉันจะกล่าวถึงความหมายของคำบางคำที่ใช้เกี่ยวกับปุ๋ย ประเภทและสมบัติของปุ๋ยที่ใช้กันโดยทั่วไปว่าเป็นปุ๋ยแต่ได้รับความสนใจ การนำมาใช้เป็นปุ๋ย ซึ่งได้แก่น้ำหมักชีวภาพ และสารอีเอ็ม เพื่อประกอบความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยและสารเหล่านี้นั้นเองคะ
มาฟังความหมายของคำว่า “ปุ๋ย” กันนะค่ะ
ปุ๋ย หมายถึงวัสดุหรือสารที่ใส่ลงไปในดิน ใส่ในวัสดุปลูกพืช พ่นบนส่วนเหนือดินของพืช หรือใส่ในต้นไม้ มีความต้องการให้พืชได้รับแร่ธาตุอาหาร อย่างเช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมเพิ่มขึ้น เพื่อให้พืชได้รับธาตุอาหารดังกล่าวในปริมาณที่เพียงพอและสมดุลตามที่พืชต้องการ และได้ให้ผลผลิตสูงขึ้นหรือมีคุณภาพตามที่ต้องการ ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า ปุ๋ยหมายถึงสารอินทรีย์ หรืออนินทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือจะทำขึ้นมาเองก็ตาม สำหรับใช้เป็นธาตุอาหารแก่พืชไม่ว่าจะโดยวิธีการใด หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเพื่อที่จะบำรุงความเติบโตของพืชต่อไป
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังคะ เราจะมาฟังการจำแนกปุ๋ยกันว่ามีกี่ชนิดด้วยกัน
ปุ๋ยจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน นั้นคือ ปุ๋ยอนินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอนินทรีย์ หมายถึงปุ๋ยที่เป็นสารอนินทรีย์แบ่งออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือปุ๋ยอนินทรีย์ธรรมชาติ และปุ๋ยอนินทรีย์สังเคราะห์ ปุ๋ยอนินทรีย์ธรรมชาติหมายถึง ปุ๋ยที่มีส่วนประกอบของสารอนินทรีย์เช่นหินฟอสเฟตบดและแร่ซิลไวท์ (ปุ๋ยโพแทสเซียม) เป็นต้น ส่วนปุ๋ยอนินทรีย์สังเคราะห์หมายถึง ปุ๋ยอนินทรีย์ที่มนุษย์เราทำขึ้นเองโดยวิธีทางเคมี เช่นปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟต และปุ๋ยทริเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต เป็นต้น เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์สังเคราะห์ได้มาจากการผลิตโดยวิธีเคมี จึงถูกจัดว่าเป็นปุ๋ยเคมี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปุ๋ยอนินทรีย์อาจจะเป็นปุ๋ยเคมีสังเคราะห์หรือปุ๋ยธรรมชาติก็ได้
มาต่อกันที่ปุ๋ยอินทรีย์คะ เป็นปุ๋ยที่มีส่วนประกอบของสารอินทรีย์ แบ่งออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติและปุ๋ยอินทรีย์สังเคราะห์ ปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติคือปุ๋ยที่มีส่วนประกอบของสารอินทรีย์ที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิต ที่รู้จักกันดีมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยพืชสด นอกจากนี้ยังรวมไปถึง ซากพืช ซากสัตว์ ของเหลือทิ้งและผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมตะกอนน้ำทิ้งและของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากครัวเรือนซึ่งหากถูกนำมมาใช้เป็นปุ๋ยก็ถูกจัดว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพราะมีสารอินทรีย์เป็นส่วนประกอบในอัตราที่สูง ส่วนปุ๋ยอินทรีย์สังเคราะห์หมายถึงปุ๋ยที่ส่วนประกอบเป็นสารอินทรีย์ ได้มาจากการสังเคราะห์โดยวิธีทางเคมี คือ ปุ๋ยยูเรีย จะถูกจัดว่าเป็นปุ๋ยเคมีชนิดหนึ่ง
ส่วนปุ๋ยชีวภาพ เป็นวัสดุมีจุลินทรีย์เป็นตัวออกฤทธิ์ ในการก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ทำให้พืชได้รับธาตุอาหารมากขึ้น ปุ๋ยชีวภาพที่แนะนำให้ใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้แก่ปุ๋ยที่มีเชื้อแบคทีเรียบางชนิดเชื้อราบางชนิด และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินบางชนิดเป็นตัวออกฤทธิ์
คุณผู้ฟังคะ จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ว่า ความจริงแล้วปุ๋ยเคมีอาจจะเป็นสารอนินทรีย์หรือสารอินทรีย์ก็ได้ และปุ๋นอินทรีย์อาจเป็นสารที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสารที่มนุษย์ทำขึ้นมาก็ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นการเข้าใจที่ตรงกันของข้อมูลเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ โดยปุ๋ยเคมีในที่นี้จะหมายถึงปุ๋ยที่มนุษย์ทำขึ้นด้วยวิธีการทางเคมี ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรืออนินทรีย์ก็ตาม ปุ๋ยอินทรีย์หมายถึงปุ๋ยที่มีส่วนประกอบหลักเป็นสารอินทรีย์ที่ได้มาด้วยวิธีที่ไม่ใช่วิธีทางเคมี และปุ๋ยชีวภาพมีความหมายตามที่กล่าวมาแล้วนั้นเองคะ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะค่ะ
-เพลงคั่นรายการ-
ต่อกันในเรื่อง “การบอกปริมาณธาตุอาหารพืชในปุ๋ย ” ปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยเป็นสิ่งหนึ่งที่มีผลต่อประสิทธิภาพของปุ๋ยในการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืช ปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหารอยู่มากจะสามารถช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืช ปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหารอยู่มากจะสามารถช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชได้มาก การบอกปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยนิยมบอกดังนี้ครับ ในปุ๋ยเคมี ในพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 กำหนดให้บอกปริมาณธาตุปุ๋ยขั้นต่ำที่สุดที่มีอยู่ในปุ๋ย โดยบอกเป็นร้อยละหรือเปอร์เซนต์โดยน้ำหนักของไนโตรเจนทั้งหมด ปริมาณฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ต่อพืช โดยคิดเป็นน้ำหนักฟอสฟอรัสเปรตอกไซด์ ที่มีฟอสฟอรัสเท่ากับฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ในปุ๋ยนั้น และโพแทสเซียมที่ละลายน้ำได้ที่อยู่ในปุ๋ย โดยคิดเป็นน้ำหนักโพแทช ที่มีน้ำหนักโพแทสเซียมเท่ากับโพแทสเซียมที่ละลายน้ำในปุ๋ยนั้น หากนั้นตัวเลขบอกปริมาณธาตุอาหารดังกล่าวมาเขียนเรียงลำดับก่อนหลังตามลำดับข้างต้นโดยมียัติภังค์ ขั้นระหว่างตัวเลขสำหรับแต่ละธาตุ ก็จะได้สูตรปุ๋ย หรือเกรดปุ๋ย ตัวอย่างเช่น ปุ๋นเคมีสูตร15-20-10 ซึ่งหมายความว่าปุ๋ยนั้นมีปริมาณธาตุอาหารดังนี้
ไนโตรเจนทั้งหมด ร้อยละ 15 โดนน้ำหนัก
ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ ร้อยละ 20 โดยน้ำหนัก
โพแทชที่ละลายน้ำ ร้อยละ 10 โดยน้ำหนัก
คุณผู้ฟังคะ การบอกปริมาณปุ๋ยที่ให้แก่พืช นิยมบอกเป็น 2 แบบ คือ (1) บอกสูตรปุ๋ยและปริมาณสูตรนั้น เช่น ใช้ปุ๋ยสูตร 15-20-10 อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ และ(2)บอกปริมาณธาตุอาหารแต่ละชนิดที่ใส่แต่แทนที่จะบอกด้วยข้อความยืดยาว “ใส่ไนโตรเจนทั้งหมด 15 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ 20 กิโลกรัมต่อไร่ และโพแทชที่ละลายน้ำ 10 กิโลกรัมต่อไร่” ก็จะบอกให้กระชับลงว่า ใส่ปุ๋ยในอัตรา 15-20-10 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ช่วงนนี้พักกันก่อนนะค่ะ
-เพลงคั่นรายการ-
มาต่อกันในเรื่อง “ผลตกค้างของปุ๋ยต่อความเป็นกรด – ด่างของดิน”
คุณผู้ฟังคะ ปุ๋ยบางชนิดเมื่อใส่ลงไปในดินแล้วทำให้ดินเป็นกรด บางชนิดทำให้ดินเป็นด่าง และบางชนิดไม่มีผลต่อความเป็นกรด – ด่างของดิน หรือเรียกว่ามีผลตกค้างเป็นกลาง ดังนั้นน่ะค่ะ ในการใช้ปุ๋ยจึงควรเลือกปุ๋ยให้เหมาะสมกับดิน หากดินมีความเป็นกรดด่างเหมาะสมกับพืชอยู่แล้ว พีเอชของดินที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสมบัติของดินและชนิดของพืช แต่มักจะอยู่ในช่วงกรดอย่างอ่อนถึงด่างอย่างอ่อน ก็ควรใช้ปุ๋ยที่ไม่ทำให้ดินเป็นกรดหรือเป็นด่าง หากดินเป็นกรดจัดอยู่แล้วก็ควรใช้ปุ๋ยที่ทำให้ดินเป็นด่าง และถ้าหากดินเป็นด่างอยู่แล้วก็ควรเลือกปุ๋ยที่ทำให้ดินเป็นกรด การเลือกปุ๋ยตามแนวดังกล่าวนี้นอกจากจะทำให้ดินเป็นกรดหรือด่างมากขึ้นแล้วยังทำให้ดินเป็นกรดหรือเป็นด่างน้อยลงอีกด้วย มาฟังตัวอย่างปุ๋ยไนโตรเจนประเภทต่างๆดังกล่าว พร้อมกับสมมูลกรดหรือสมมูลด่างของปุ๋ย ซึ่งหมายถึงค่าเทียบความเป็นกรดหรือเป็นด่างที่เกิดขึ้นจากปุ๋ยนั้นกับปริมาณของแคลเซี่ยมคาร์บอเนต ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟตมีสมมูลกรดเท่ากับ 110 กิโลกรัมของแคลเซียมคาร์บอเนตต่อปุ๋ย 100 กิโลกรัมหมายความว่า ปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟต 100 กิโลกรัมทำให้เกิดกรดในปริมาณที่ต้องใช้แคลเซียมคาร์บอเนต 110 กิโลกรัม จึงจะทำลายกรดนั้นได้หมด และปุ๋ยแคลเซียมไนเตรทมีสมมูลด่างเท่ากับ 203 กิโลกรัม ของแคลเซียมคาร์บอเนต หมายความว่าปุ๋ยนี้ 100 กิโลกรัมทำให้เกิดด่างได้เทียบเท่ากับแคลเซียมคาร์บอเนต 203 กิโลกรัม นั่นเองคะ
สุดท้ายนี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป เกษตรกรและนักวิชาการ ให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับผลของปุ๋ยแต่ละชนิดในแง่ของการเกษตรและแง่ของสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถตัดสินใจอย่างถูกต้องว่าควรจะใช้ปุ๋ยชนิดใดจึงจะเหมาะสมทั้งในแง่ต้นทุนการผลิตพืชและในแง่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคะ
คุณผู้ฟังคะ สัปดาห์หน้าดิฉันจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถาม ได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วคะ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีคะ