พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา แก่ “รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์” ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิศวกรรมศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา แก่ รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ โดยโปรดเกล้าให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แทนพระองค์ เพื่อเข้ารับพระราชทานเหรียญดังกล่าวในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทั้งนี้เหรียญดุษฎีมาลา เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า เหรียญแพรแถบ เป็นเหรียญบำเหน็จความชอบในราชการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2425 อันเป็นมหามงคลสมัยครบรอบ 100 ปีที่หนึ่ง นับแต่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี และทรงตั้งราชวงศ์จักรียั่งยืนมานานจนถึงสมัยของพระองค์ท่าน (วิกิเพียเดีย) โดยตามระเบียบระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ข้อที่ 4 กำหนดว่า “ผู้ซึ่งจะได้รับการพิจารณาขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา จะต้องมีผลงานประการใดประการหนึ่งดังต่อไปนี้”

  1. คิดค้นความรู้ระบบ กรรมวิธีหรือประดิษฐ์ สิ่งใหม่เป็นผลสำเร็จ
  2. ปรับปรุงความรู้ระบบ กรรมวิธี หรือสิ่งประดิษฐ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก
  3. ได้แสดงให้เป็นที่ปรากฏว่า มีฝีมือและชื่อเสียงยอดเยี่ยมในทางศิลปวิทยา

โดยการรับพระราชทานฯจะพิจรณาตามสาขาของวิชา 10 สาขา หรือร่วมกัน โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาขอพระราชทานทั้ง 10 สาขาดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ขอพระราชทาน ทั้งนี้ในรัชกาลปัจจุบันมีผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาในสาขาวิศวกรรม (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503) จำนวน 10 ท่าน โดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ เป็นท่านที่ 11 ซึ่งเป็นเหรียญประจำปี พ.ศ. 2557 โดยมีผู้ได้รับพระราชทานทั้งหมด 5 สาขาวิชาได้แก่

  1.  สาขามนุษย์ศาสตร์: ศ.กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์
  2. สาขาวิทยาศาสตร์: ศ.ดร.อมเรศ ภูมิรัตน
  3. สาขาวิศวกรรมศาสตร์: รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์
  4. สาขาแพทยศาสตร์: พล.ท นพ. ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์
  5. สาขาดนตรี: ศ. เกียรติคุณ นพ. พูนพิศ อมาตยกุล

SuttisakSoraram

โดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญฯในสาขาวิศวกรรมนั้น สังกัดภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญงานด้านวิศวกรรมปฐพี ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมดิน ฐานราก ธรณีภัย ดินถล่ม แผ่นดินไหว วิศวกรรมเขื่อน การป้องกันตลิ่งแม่น้ำ เป็นต้น โดยเป็นผู้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านต่าง ๆ บางส่วนดังต่อไปนี้

  1. การป้องกันและลดผลกระทบจากดินถล่ม ผลงานบางส่วนที่สำคัญได้แก่
    a. พัฒนาระบบเตือนภัยดินถล่มล่วงหน้าในลักษณะของแผนที่เตือนภัยทุกช่วงเวลา (AP Model) โดยเป็นระบบแรกในภูมิภาคที่สามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้ถึง 3 วัน และสามารถนำไปใช้ในการเตือนภัยจริงในทางปฏิบัติได้โดยปัจจุบันนำไปใช้โดยกรมทรัพยากรธรณี
    b. พัฒนากล่องเตือนภัยดินถล่มประจำบ้าน ซึ่งเป็นกล่องเตือนภัยแบบไร้สายที่ติดตั้งประจำบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม เป็นการคิดรูปแบบการรับข้อมูลการเตือนภัยแบบใหม่ทดแทนการใช้เสาสัญญาณที่อาจจะมีปัญหาในขณะฝนตกหนัก และมีราคาสูง ปัจจุบันระบบดังกล่าวได้ถูกนำไปติดตั้งในหลายหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงสูงโดยกรมทรัพยากรธรณี และมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก
    c. พัฒนาระบบการเตือนภัยดินถล่มภายใต้ฐานชุมชน โดยพัฒนาระบบการเตือนภัยที่สามารถให้หน่วยงานรัฐและชุมชนสามารถร่วมกันเตือนภัยภายใต้ข้อมูลต่างระดับกัน โดยไม่จำเป็นต้องรอหรือพึ่งข้อมูลกันในสภาวะวิกฤติ
    d. เป็นผู้พัฒนา และนำความรู้ทางวิศวกรรมปฐพีซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สามารถอธิบายหรือทำนายพฤติกรรมดินถล่มได้ไปใช้ และถ่ายทอดให้กับหน่วยงานราชการและองกรณ์ที่รับผิดชอบในงานด้านดินถล่มต่างๆ ผ่านทางการทำโครงการร่วมกัน ทำให้เกิดการเชื่อมประสานทางองค์ความรู้ทางวิชาการ ได้แก่ กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สถาบันพัฒนาองกรณ์ชุมชน Asian Disaster Preparedness Center, Myanmar Engineering Society, UNDP in Lao PDR
  2. งานศึกษาด้านธรณีวิศวกรรมแผ่นดินไหว ผลงานบางส่วนที่สำคัญได้แก่
    a. การประเมินผลกระทบของแผ่นดินไหวต่อชั้นดินในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
    b. การศึกษาวิธีในการลดผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานจากพฤติกรรมทรายเหลวเนื่องจากแผ่นดินไหว
    c. การพัฒนาบ้านต้านทานแผ่นดินไหวสำหรับผู้มีรายได้น้อย
  3. งานด้านวิศวกรรมความปลอดภัยเขื่อน
    a. การประเมินความมั่นคงของเขื่อนต่อแรงกระทำแผ่นดินไหว โดยได้ดำเนินการศึกษาและพัฒนาวิธีในการสำรวจและประเมินมาอย่างต่อเนื่อง และได้ทำการประเมินเขื่อนถมขนาดใหญ่ทุกเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวอาทิเช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนสิริกิติ เขื่อนรัชชประภา เป็นต้น รวมทั้งเขื่อนของกรมชลประทานอีกหลายเขื่อน ทั้งที่สร้างไปแล้วและกำลังพัฒนาโครงการ
    b. เป็นหัวหน้าคณะในการดำเนินการศึกษาเพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ หรือซ่อมแซมเขื่อนขนาดใหญ่หลาย ๆ เขื่อนได้แก่ เขื่อนลำปาว เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนลำตะคองตอนบน เขื่อนแม่มาว เป็นต้น โดยความรู้จากการดำเนินการดังกล่าวได้นำมาเขียนเป็นหนังสือ วิศวกรรมความปลอดภัยเขื่อน
  4. งานช่วยเหลือสังคม โดยเป็นที่ประจักษ์ถึงการเข้าไปช่วยเหลือทางวิชาการแก่หน่วยงานต่าง ๆ หรือการให้ความรู้กับสื่อมวลชนในยามที่เกิดวิกฤติภัยที่เกี่ยวข้องกับธรณีภัย น้ำท่วม และงานวิศวกรรมต่างๆ โดยดำเนินการในหลากหลายสถานะตามแต่ความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเกิดหลุมยุบที่ถนนพระรามที่ 4 การเข้าไปช่วยเหลือหน่วยงานต่าง ๆ ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2557 การร่วมกับสื่อมวลชนให้ความรู้ประชาชนระหว่างเหตุการณ์น้ำท่วมปี พ.ศ. 2554 การเข้าไปช่วย และให้ข้อคิดเห็นแก่ประชาชนในกรณีตลิ่งแม่น้ำพิบัติหลากหลายเหตุการณ์ การให้ความรู้ประชาชนด้านการป้องกันดินถล่มผ่านรายการโทรทัศน์ในหลายโอกาส เป็นต้น ทั้งนี้กิจกรรมต่าง ๆ ดังกล่าวได้แสดงได้ตามตำแหน่งในองกรณ์ต่าง ๆ ที่รับหน้าที่ดังตัวอย่างบางส่วนดังนี้
    – อุปนายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    – President, Thai Geotechnical Society
    – Chairman, Disaster mitigation committee, ASEAN Federation of Engineering Organization
    – กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
    – กรรมการคณะกรรมการขุดดิน และถมดิน
    – ประธานมูลนิธิมดชนะภัย
    – ฯลฯ

10256571_1089990597685168_2237581575476291021_o

 

แหล่งที่มา : วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย , https://www.facebook.com/EngineeringInstituteofThailand/posts/1089999741017587