มันสำปะหลัง : ความเป็นมาของมันสำปะหลังในประเทศไทย
แหล่งปลูกมันสำปะหลังดั้งเดิม
มันสำปะหลัง เป็นพืชดั้งเดิมของชาวพื้นเมืองในเขตร้อนของทวีปอเมริกาตอนกลาง และทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ โดยสันนิษฐานไว้ 3 แหล่ง คือ
- บริเวณอเมริกากลาง แถบประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เปรู โดยพบพันธุ์ป่า และเมล็ดมันสำปะหลังที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 4000 ปี
- ทางเหนือของอเมริกาใต้ แถบชายฝั่งทะเลคาริบเบียน ประเทศโคลัมเบีย และเวเนซูเวลา โดยพบหลักฐานทางโบราณคดี และพบพันธุ์ป่าขึ้นอยู่บ้าง
- ประเทศบราซิล โดยพบว่าในประเทศนี้พบมีพันธุ์ป่าของมันสำปะหลังจำนวนมาก
โดยพบว่าชาวพื้นเมืองของประเทศเหล่านี้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อใช้เป็นอาหาร จากหลักฐานทางโบราณคดี มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปหัวมันสำปะหลังที่ประเทศเปรู เครื่องปั้นนี้มีอายุประมาณ 2,500 ปี แสดงว่า มนุษย์เรานั้น รู้จักใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารมานานเกินกว่า 2,500 ปีมาแล้ว
ในสมัยโบราณก่อนที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส สำรวจพบทวีปอเมริกาในปี พ.ศ. 2035 ก็มีการปลูกมันสำปะหลังอยู่เฉพาะในเขตร้อนของทวีปอเมริกาเท่านั้น ส่วนในทวีปแอฟริกา และเอเชีย ยังไม่มีการปลูกมันสำปะหลัง เพราะยังไม่มีการติดต่อกัน ต่อมาจึงมีการนำมันสำปะหลังจากทวีปอเมริกาไปแพร่กระจายยังทวีปแอฟริกา และเอเชีย ตามลำดับ
เครื่องปั้นดินเผารูปหัวมันสำปะหลัง ที่พบในประเทศเปรู
เส้นทางการแพร่กระจายมันสำปะหลังของโลกตามประวัติศาสตร์เชื่อว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินเรือมาพบแผ่นดินของทวีปอเมริกา บริเวณแถบเกาะ Hispaniola ของหมู่เกาะ West Indies โดยชนพื้นเมืองชาว Arawak ได้ช่วยเหลือเขาและลูกเรือรอดชีวิตมาด้วยแพนเค้กคล้ายขนมปัง แต่ทำมาจากมันสำปะหลัง จากหลักฐานเชื่อกันว่าชนพื้นเมืองที่อาศัยในทวีปอเมริกาใต้ใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารมาประมาณ 5,000 ปีแล้ว
ประมาณกลางศตวรรษที่ ๑๖ มันสำปะหลังเริ่มแพร่กระจายจากถิ่นกำเนิดไปยังส่วนต่างๆของโลกในสมัยที่มีการล่าอาณานิคม โดยชาวโปรตุเกสได้ นำมันสำปะหลังจากประเทศบราซิลในทวีปอเมริกาใต้เข้าสู่ทวีปแอฟริกา โดยใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารในเรือค้าทาส
คริสต์ศตรวรรษที่ 17 มีการนำมันสำปะหลัง มาปลูกครั้งแรกในทวีปเอเชีย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยนักเดินเรือชาวสเปนได้นำมาจากประเทศเม็กซิโก และชาวดัทช์ได้นำมันสำปะหลังจากสุรินัมเข้ามาปลูกที่เกาะชวาในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้มีหลักฐานว่า เมื่อ พ.ศ. 2337 ได้มีการนำมันสำปะหลังจากแอฟริกามาปลูกที่ ศรีลังกาและอินเดียเพื่อใช้ในการทดลอง ทำให้มันสำปะหลังแพร่กระจายไปทั่วในเขตเอเชีย ดังนั้น มันสำปะหลัง จึงมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นหลายชื่อด้วยกัน ภาษาโปรตุเกส เรียก “mandioca” ภาษาฝรั่งเศส เรียก “manioc” ภาษาสเปน เรียก “yuca” และภาษาอังกฤษเรียก “cassava
การนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกในประเทศไทยเมื่อใดและอย่างไร แต่สันนิษฐานกันว่าคงจะเข้ามาในระยะเดียวกันกับการเข้าสู่ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ คือ ประมาณ พ.ศ. 2329-2383 คาดว่าคงมีผู้นำเข้ามาจากมาลายูเข้ามาปลูกทางภาคใต้ ราวพ.ศ. 2329 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะคำว่า สำปะหลัง คล้ายกับคำในภาษาชวาตะวันตก ซึ่งเรียกมันสำปะหลังว่า สัมเปอ (Sampue) ซึ่งมีความหมายเหมือนคำ ในภาษามาเลย์ ซึ่งแปลว่า พืชที่มีรากขยายใหญ่
ก่อนสงครามโลกครั้งที่2 จากรายงานเรื่องการปลูกมันสำปะหลังเพื่อใช้ทำแป้งในจังหวัดสงขลา ในวารสารกสิกร เมื่อ พ.ศ. 2480 ระบุว่า มีการปลูกมันสำปะหลังทางภาคใต้ของไทยที่จังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่หลายพันไร่เพื่อผลิตแป้งมันสำปะหลังส่งออกไปจำหน่ายยังสิงคโปร์และปีนังก่อนส่งมาจำหน่ายที่กรุงเทพอีกต่อหนึ่ง
ปี พ.ศ. 2480 มีความพยายามของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะหามันสำปะหลังพันธุ์ดีมาคัดเลือกพันธุ์ โดยนายทวน คมกฤส ได้นำเข้าพันธุ์มันสำปะหลังจากประเทศฟิลิปปินส์และมาเลเซีย มาปลูกเพื่อทำการศึกษาที่สถานีทดลองยางคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่ไม่พบรายงานผลการศึกษา
ปี พ.ศ.2505 มีการนำพันธุ์มันสำปะหลังจากอินโดนีเซียมาศึกษาที่สถานีกสิกรรมบางเขน
ปี พ.ศ. 2505-2507 มีการรวบรวมพันธุ์มันสำปะหลัง มาปลูกที่สถานีกสิกรรมในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยอง
ปี พ.ศ. 2508 มีการนำพันธุ์มันสำปะหลังมาจากหมู่เกาะ Virgin Island ในทะเลแคริบเบียน และพันธุ์มันสำปะหลังจากศูนย์เกษตรเขตร้อนนานาชาติ มาศึกษาและรวบรวมพันธุ์ไว้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง นำโดย ดร.อำพล เสนาณรงค์ คุณศิริพงษ์ บุญหลง คุณโสภณ สินธุประมา ดร.เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ คุณชาญ ถิรพร คุณนิยม จันทนาคม คุณสมศักดิ์ ทองศรี Yoshiki Umemura และ Kazuo Kawano
การปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยช่วงแรกที่ปลูกในภาคใต้นั้น เป็นมันสำปะหลังชนิดหวาน ใช้ทำขนม ต่อมาจึงนำเข้าพันธุ์ชนิดขมสำหรับปลูกส่งโรงงานในภายหลัง โดยปลูกเป็นพืชแซมระหว่างแถวต้นยางพาราขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลา มีโรงงานผลิตแป้งมันและโรงงานทำสาคูส่งออกไปยังปีนังและสิงคโปร์ แต่การปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าในภาคใต้นั้นค่อยๆ หมดไป เพราะการปลูกแซมในระหว่างแถวต้นยางพาราและพืชยืนต้นอื่นๆนั้น เมื่อปลูกได้ 4-5 ปี ต้นยางพาราก็โตคลุมพื้นที่หมด ไม่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้อีกต่อไป จึงได้ย้ายแหล่งปลูกไปยังภาคตะวันออกที่จังหวัดชลบุรี และระยอง
ประมาณปี พ.ศ. 2491 ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การปลูกมันสำปะหลังเริ่มแพร่หลาย เมื่อมีการปลูกเป็นการค้าในภาคตะวันออกในจังหวัดชลบุรีและระยอง เพราะในระยะนั้น ประเทศญี่ปุ่นขาดวัตถุดิบ และได้เริ่มสั่งซื้อแป้งมันสำปะหลังจากประเทศไทย ในขณะที่สภาพภูมิประเทศภาคตะวันออกของประเทศไทย คือ จังหวัดชลบุรีและระยอง มีสภาพพื้นที่เป็นที่ดอน ลักษณะเป็นเนินเขาลาดเอียง ดินเป็นดินทราย ไม่มีแม่น้ำใหญ่ที่จะทำการชลประทานได้ พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะแก่การทำนาและพืชไร่ชนิดอื่น แต่มันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโตได้ดี ชาวบ้านจึงเริ่มปลูกมันสำปะหลังกัน ปรากฏว่าการปลูกมันสำปะหลังให้ผลผลิตดี จนกลายเป็นอาชีพที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว นอกจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นลูกค้าประจำแล้ว ในเวลาต่อมาประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเพื่อนบ้านของไทย ก็ได้สั่งแป้งมันสำปะหลังจากไทย จึงทำให้โรงงานแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นและทันสมัยขึ้น ควบคู่ไปกับพื้นที่ปลูกที่ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ทำให้มีการปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าในระยะแรก แต่อุตสาหกรรมแป้งเพื่อส่งออกมิได้มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย เหมือนกับการส่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์
ประมาณปี พ.ศ. 2499 เริ่มมีการใช้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อการเลี้ยงสัตว์ โดยมีชาวเยอรมันทดลองนำเอาขี้แป้ง ซึ่งเป็นผลิตผลพลอยได้จากการทำแป้งมันสำปะหลังไปใช้เลี้ยงสัตว์ได้ผลเป็นที่พอใจคุ้มกับราคา แต่ขี้แป้งซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำแป้งมันสำปะหลังมีไม่มากพอกับความต้องการของตลาดยุโรป จึงมีผู้ริเริ่มเอาหัวมันสำปะหลังสดมาหั่นเป็นชิ้นๆ นำมาตากแห้งและบดด้วยหินบดข้าวเป็นมันป่น ปรากฏว่ามันป่นที่ได้จากการบดหัวมันสำปะหลังนี้ เป็นที่นิยมของโรงงานอาหารสัตว์ในยุโรปอย่างมาก
ปี พ.ศ. 2500 ได้มีผู้นำเอากากมันสำปะหลังที่ทิ้งจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังมาผสมปนรวมกันเรียกว่า กากมันป่น(waste meal) เป็นสินค้าที่ขายดี
ในราวปี พ.ศ. 2503-2504 ปรากฏว่ามีผู้ปลอมปนมันสำปะหลังป่นกันมากขึ้น โดยผสมกับดิน ทราย แกลบ ขี้เลื่อยมาบดปนลงไปบ้าง ผู้ซื้อในยุโรปจึงหันมาซื้อมันเส้นแทน มันเส้นทำได้โดยนำหัวมันสำปะหลังสดมาโม่เป็นชิ้นๆ แล้วตากแดดให้แห้ง ระยะนั้นชาวชลบุรีได้คิดเครื่องทำมันเส้นขึ้นแล้ว การส่งมันเส้นออกจำหน่ายในยุโรปจึงดำเนินเรื่อยมา
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2510-2511 ได้มีบริษัทสั่งเครื่องอัดเม็ดมาจากต่างประเทศเพื่อทำมันสำปะหลังอัดเม็ด โดยใช้มันเส้นเข้าเครื่องอัดออกมาเป็นแท่งเหมือนแท่งชอล์ก เพื่อใช้ส่งออกขายแทนมันเส้นซึ่งมีน้ำหนักเบา เปลืองเนื้อที่บรรทุกในระวางเรือมาก เสียค่าขนส่งสูง และต่อมาวิศวกรไทยได้สร้างเครื่องอัดเม็ดเลียนแบบของต่างประเทศเป็นผลสำเร็จ และใช้ได้ดีทั้งราคาถูกว่าสั่งจากต่างประเทศ ปัจจุบันเครื่องอัดเม็ดในโรงงานมันสำปะหลังอัดเม็ดส่วนใหญ่เป็นเครื่องอัดเม็ดที่ทำขึ้นในประเทศไทย
ความต้องการมันสำปะหลังอัดเม็ดในยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดชลบุรีและระยองมาแต่เดิมผลิตมันสำปะหลังไม่พอกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจึงได้แผ่ขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศอย่างรวดเร็ว ทั้งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ แต่พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ขยายไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทยช่วงแรกเพิ่มจาก 4 แสนไร่เศษในปี พ.ศ. 2503 เป็นมากกว่า 4 ล้านไร่ในปี พ.ศ. 2519 และมากกว่า 7 ล้านไร่ในปีพ.ศ. 2557