รายการวิทยุ เรื่อง “บทบาทแทนนินในการป้องกันตัวของไม้ป่าชายเลน” /พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์/ฤทธิ์รงค์ พรหมมาศ/อรรถวุฒิ กันทะวงศ์

 [youtube]https://www.youtube.com/watch?v=TPv1PnJCsyM[/youtube]

     บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่ 11 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง บทบาทแทนนินในการป้องกันตัวของไม้ป่าชายเลน

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

 

………………………………………………………………………………………………………………..

-เพลงประจำรายการ-

 

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ซึ่งออกอากาศให้ผู้ฟังได้ฟังกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราก็เป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวงานวิจัยดีดีที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการ และเรื่องที่จะนำเสนอในวันนี้เป็นเรื่อง “บทบาทแทนนินในการป้องกันตัวของไม้ป่าชายเลน” ครับ

คุณผู้ฟังครับ  แทนนินเป็นสารที่มีโมเลกุลใหญ่และโครงสร้างซับซ้อน มีสถานะเป็นกรดอ่อนรสฝาด เป็นสารให้ความฝาดในพืช พบได้ในพืชหลายชนิดครับ คุณสมบัติตกตะกอนโปรตีน ทำให้หนังสัตว์ไม่เน่าเปื่อย จึงมีการใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังด้วย แทนนินมีฤทธิ์ฝาดสมาน จึงใช้เป็นยารักษาได้ แทนนินมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียได้ด้วยนะครับ

จากการศึกษาบทบาททางนิเวศวิทยาของแทนนินในพืชทะเลยังมีน้อยมากครับ เมื่อเทียบกับพืชบนแผ่นดิน รวมทั้งการศึกษาบทบาททางนิเวศวิทยาของแทนนินในพรรณไม้ชายเลนที่พบในประเทศไทยซึ่งมีความหลากชนิดมากกว่า 74 ชนิดก็ยังมีการศึกษาไม่มากนัก การศึกษาในครั้งนี้เป็นผลงานของ ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธ์ นายฤทธิ์รงค์ พรหมมาศ นายอรรถวุฒิ กันทะวงศ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะทำการศึกษาปริมาณแทนนินในพรรณไม้ป่าชายเลนในประเทศไทยครับ โดยเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชนิดของพรรณไม้ในป่าชายเลนที่ขึ้นอยู่ในบริเวณเขตน้ำขึ้นน้ำลงแตกต่างกันและเปรียบเทียบในส่วนต่างๆ ของพืช รวมทั้งในใบที่ย่อยสลายในระยะเวลาต่างๆ และศึกษาบทบาทของแทนนินในทางนิเวศวิทยา  เพื่อใช้ในการป้องกันตัว ได้แก่ การสร้างสารยับยั้งจุลชีพการสร้างสารยับยั้งการถูกกินเป็นอาหาร การสร้างสารที่เป็นพิษ และการสร้างสารยับยั้งสิ่งมีชีวิตที่ลงเกาะ ซึ่งการศึกษานี้จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ทางนิเวศวิทยาที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของแทนนินที่พรรณไม้ชายเลนสร้างขึ้นมา เพื่อป้องกันตัวซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในป่าชายเลน และยังส่งผลต่อการแพร่กระจายและโครงสร้างประชาคมในป่าชายเลน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนให้ใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดและยั่งยืน นอกจากนั้นข้อมูลปริมาณแทนนินและสารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ได้จากไม้ป่าชายเลนยังสามารถพัฒนาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเกษตรอุตสาหกรรมได้อีกด้วย ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ- 

วัตถุประสงค์ในการศึกษาแทนนินในครั้งนี้ เพื่อ เปรียบเทียบความแตกต่างของปริมาณแทนนินในพรรณไม้ชายเลนชนิดต่างๆ และจากส่วนที่แตกต่างของต้น ศึกษาบทบาทของแทนนินในไม้ป่าชายเลนที่ใช้ในการป้องกันตัวจากจุลชีพที่ทำให้เกิดโรค สิ่งมีชีวิตที่ลงเกาะ และสัตว์กินพืช ศึกษาความเป็นพิษของแทนนินต่อลูกน้ำยุงและอาร์ทีเมียเพื่อใช้ในการป้องกันตัว

คุณผู้ฟังครับ ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีต้นไม้ป่าชายเลนเป็นผู้สร้างระบบนิเวศนี้ขึ้นมา และมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ภายในระบบนิเวศนี้ครับ ป่าชายเลนพบแพร่กระจายตามชายฝั่งทะเลบริเวณปากแม่น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เศรษฐกิจจำนวนมาก เป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อน   ในด้านการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ป่าชายเลนเป็นแหล่งหมุนเวียนธาตุอาหาร ป้องกันพายุและน้ำท่วมได้  เป็นแหล่งกักเก็บสารพิษ เป็นที่ดักกรองตะกอนทำให้เกิดแผ่นดินใหม่และยังเป็นประโยชน์อื่น ๆ ต่อชุมชนท้องถิ่น เช่น การก่อสร้างบ้านเรือน การทำเครื่องมือประมง ถ่าน สมุนไพร ย้อมผ้า และอวน และการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมฟอกหนังและการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้  เป็นต้นครับ

คุณผู้ฟังครับแทนนินเป็นสารที่พบได้ในพืชทะเลทุกชนิด ได้แก่ ไม้ชายเลน หญ้าทะเล หญ้าในบึงน้ำเค็ม และสาหร่ายทะเล แทนนินเป็นสารประกอบฟีนอลที่มีคุณสมบัติสำคัญ คือการทำให้โปรตีนตกตะกอน และแทนนินยังเป็นสารที่มีคุณสมบัติสามารถเข้าไปสอดแทรกกระบวนการย่อยสลายของเอนไซม์ได้ จึงทำให้เชื่อว่าแทนนินน่าจะเป็นสารที่มีบทบาททางนิเวศวิทยา มีรายงานการศึกษาว่าไม้ชายเลนมีปริมาณแทนนินสูงได้ถึง 40% ของน้ำหนักแห้ง และเนื่องจากพรรณไม้ในป่าชายเลนมีความสามารถในการเจริญในที่เค็มแตกต่างจากพืชที่มีท่อลำเลียงทั่วไปที่พบอยู่บนบก และยังต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ตลอดเวลา การปรับปรุงกระบวนการชีวสังเคราะห์ในไม้ป่าชายเลนจะทำให้เกิดสารทุติยภูมิที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีรายงานว่าพรรณไม้ชายเลนแต่ละชนิดมีปริมาณและองค์ประกอบแทนนินที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีความผันแปรของแทนนินตามฤดูกาล ตามระยะเวลาที่ใบร่วงหล่นจากลำต้น และปริมาณธาตุอาหาร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เชื่อว่าทำให้แทนนินที่พบในไม้ป่าชายเลนแต่ละชนิดมีบทบาททางนิเวศวิทยาที่แตกต่างกันด้วยครับ 

คุณผู้ฟังครับ สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ในป่าชายเลน และก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับพรรณไม้ในป่าชายเลนหลากหลายรูปแบบ ในกรณีที่สิ่งมีชีวิตมากัดกินต้นไม้เป็นอาหาร มาลงเกาะบริเวณผิวหน้าของส่วนต่างๆ ของลำต้นทำให้ไม้สังเคราะห์แสงได้น้อย หรือกลุ่มจุลชีพที่ทำให้เกิดโรค  ทำให้พรรณไม้ในป่าชายเลนจะต้องมีวิวัฒนาการ เพื่อให้อยู่รอดได้ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือการสร้างสารทุติยภูมิ เพื่อใช้ในการป้องกันตัว ซึ่งมีรายงานการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าพรรณไม้ชายเลนสร้างแทนนินขึ้นมา เพื่อใช้ในการป้องกันตัว เช่น สร้างสารยับยั้งการถูกกินโดยสัตว์กินพืช ทำให้อัตราการย่อยของสัตว์ที่กินพืชเหล่านี้ไปลดลง แทนนินยังมีคุณสมบัติต้านจุลชีพ โดยช่วยเพิ่มความต้านทานต่อจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคและที่ทำให้เกิดผุกร่อนของลำต้นของไม้ป่าชายเลน และยับยั้งการย่อยสลายใบไม้โดยจุลชีพ สร้างสารยับยั้งการลงเกาะโดยจุลชีพและสาหร่ายเซลล์เดียว และป้องกันรังสี UV สารที่ใช้ในการป้องกันตัวยังเป็นสื่อกลางในความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย จึงส่งผลต่อการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิต รวมทั้งทำให้เกิดโครงสร้างของประชาคมสิ่งมีชีวิตที่มีความแตกต่างกันด้วย เช่น มีผลต่อสัตว์หน้าดินขนาดใหญ่  และสัตว์หน้าดินขนาดเล็กเช่นไส้เดือนทะแลครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ 

-เพลงคั่นรายการ- 

เรามาสรุปผลการทดลองจากการศึกษาบทบาทของแทนนินในการป้องกันตัวของต้นไม้ในป่าชายเลนกันนะครับ โดยได้ทำการวิเคราะห์หาปริมาณแทนนินในพรรณไม้ชายเลน โดยแยกเป็นส่วนต่างๆ คือ ใบ 22 ชนิด เปลือก 17 ชนิด ราก 7 ชนิด และผล 9 ชนิด รวมทั้งเปรียบเทียบปริมาณแทนนินในใบสีเขียว ใบสีเหลือง และใบสีน้ำตาลรวมทั้งใบที่ผ่านการย่อยสลายเป็นเวลา 4 สัปดาห์ แล้วนำไปทดสอบทางชีวภาพ เพื่อศึกษาบทบาทของแทนนินในการป้องกันตัว โดยศึกษาบทบาทการป้องกันตัวจากจุลชีพ ผู้ล่า และสิ่งมีชีวิตที่ลงเกาะ ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ครับ

  1. ปริมาณแทนนินในใบ เปลือก ราก และผลของพรรณไม้ชายเลนชนิดต่างๆ มีค่าแตกต่างกันครับ โดยปริมาณแทนนินสูงสุดที่พบในส่วนต่างๆ ของพืช คือ ใบของตาตุ่ม เปลือกของโกงกางใบเล็ก รากของโกงกางใบใหญ่ และผลของโกงกางใบใหญ่ ทั้งนี้ส่วนของใบและผลเป็นส่วนที่มีปริมาณ แทนนินสูงกว่าส่วนของเปลือกและราก เนื่องจากใบและผลมีความบอบบางและเป็นส่วนที่ถูกกินเป็นอาหารมากกว่าเปลือกและรากครับ

2.พรรณไม้ 5 ชนิดได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ลำพู ลำแพน และถอบแถบน้ำ มีการสร้างสารแทนนินในส่วนของใบ เปลือก ราก และผลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพืชแต่ละชนิดมีปริมาณแทนนินสูงสุดในส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกัน โดยโกงกางใบเล็กและลำแพนมีปริมาณแทนนินสูงสุดในเปลือก ในขณะที่ลำพูและถอบแถบน้ำมีปริมาณแทนนินสูงสุดในส่วนใบ และโกงกางใบใหญ่มีปริมาณ      แทนนินสูงสุดในรากครับ

  1. ใบที่มีอายุแตกต่างกันของโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ ได้แก่ ใบเขียว ใบเหลือง และใบ น้ำตาล มีปริมาณแทนนินแตกต่างกันครับ โดยจะมีค่าสูงขึ้นเมื่อใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและจะลดต่ำลงเมื่อใบผ่านการย่อยสลายกลายเป็นสีน้ำตาลครับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เอื้ออำนวยให้ใบไม้ที่มีปริมาณแทนนินลดลงสามารถเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตที่กินซากสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนได้นั่นเองครับ นี้แหละครับที่เป็นกลไกของธรรมชาติ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ 

-เพลงคั่นรายการ- 

คุณผู้ฟังครับมาต่อผลสรุปการทดลองจากการศึกษาบทบาทของแทนนินในการป้องกันตัวของต้นไม้ในป่าชายเลนกันนะครับ

  1. พรรณไม้ชายเลนแต่ละวงศ์มีการสร้างแทนนินในปริมาณแตกต่างกันครับ แม้แต่พรรณไม้ที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน เช่น โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ถั่วขาว และพังกาหัวสุม ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกัน ก็มีปริมาณแทนนินที่แตกต่างกัน และยังพบว่าต้นไม้ที่ขึ้นในเขตน้ำขึ้นน้ำลงที่แตกต่างกัน ได้แก่ เขตเหนือน้ำขึ้นสูงสุด เขตน้ำขึ้นน้ำลง และเขตน้ำลงต่ำสุด ก็มีการสร้างสารแทนนินในปริมาณที่แตกต่างกัน และไม่มีความสัมพันธ์กับบริเวณที่ต้นไม้ขึ้นอยู่ครับ
  2. สารสกัดแทนนินในพรรณไม้ชายเลนแต่ละชนิดมีบทบาทในการป้องกันตัวจากจุลชีพ ผู้ล่า และสิ่งมีชีวิตที่ลงเกาะได้แตกต่างกัน ทั้งนี้ไม่มีความสัมพันธ์กับปริมาณแทนนิน ทั้งนี้น่าจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของแทนนินที่แตกต่างกันในพรรณไม้แต่ละชนิดรวมทั้งในส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกัน
  3. พรรณไม้ชายเลนมีการสร้างสารสกัดแทนนินเพื่อป้องกันตัวจากจุลชีพที่ทำให้เกิดโรค โดยสารสกัดแทนนินที่สามารถต้านจุลชีพได้ดีที่สุดและในวงกว้างที่สุดมาจากลำพู และสารสกัดแทนนินที่สามารถต้านจุลชีพเฉพาะชนิดได้ เช่น สารสกัดแทนนินจากใบของแสมดำที่สามารถต้านเชื้อรา M. gypyseum สารสกัดจากใบของพังกาหัวสุมที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อ B. subtilis และสารสกัดแทนนินจากแสมขาวสามารถออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียทะเลได้ดีที่สุดครับ
  4. พรรณไม้ชายเลนมีการสร้างสารแทนนิน เพื่อป้องกันตัวจากผู้ล่า โดยการสร้างสารยับยั้งการถูกกินโดยปลาได้ 12 สาร และสารที่เป็นพิษต่ออาร์ทีเมีย และลูกน้ำยุง โดยสารสกัดที่สามารถยับยั้งการถูกกินเป็นอาหาร ได้แก่ สารสกัดจากใบโกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ พังกาหัวสุม แสมขาว ลำพู ลำแพน ตะบูนขาว ตาตุ่ม ฝาด จาก ขลู่ และเหงือกปลาหมอ ส่วนสารสกัดแทนนินที่แสดงความเป็นพิษสูงสุดต่ออาร์ทีเมีย ได้แก่ ได้แก่ สารสกัดจากใบเบญจมาศน้ำเค็ม ผลโกงกางใบเล็ก ใบปรงทะเล และผลถอบแถบน้ำ ส่วนสารสกัดแทนนินที่ทำให้ลูกน้ำยุงมีอัตราการตายสูงมีเพียงสารสกัดจากรากของเถาถอบแถบและลำแพน  ทั้งนี้สารสกัดแทนนินมีความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุงน้อยกว่าที่เป็นพิษต่ออาร์ทีเมีย ทั้งนี้จะพบว่าสารที่ยับยั้งการถูกกินเป็นอาหารไม่จำเป็นต้องเป็นพิษ และสารที่เป็นพิษก็ไม่จำเป็นต้องยับยั้งการถูกกินเป็นอาหารครับคุณผู้ฟัง
  5. พรรณไม้ชายเลนมีการสร้างสารแทนนินเพื่อป้องกันการลงเกาะ โดยการสร้างสารยับยั้งสาหร่ายเซลล์เดียว และยับยั้งการลงเกาะของตัวอ่อนของหอยและเพรียง โดยสารสกัดที่ยับยั้งสาหร่ายเซลล์เดียวได้ดีที่สุดคือ สารสกัดจากใบและเปลือกของแสมขาวและผักบุ้งทะเล และสารสกัดจากรากและผลของถอบแถบน้ำ ส่วนสารสกัดที่สามารถยับยั้งการลงเกาะของตัวอ่อนและเพรียงในภาคสนามได้มี 9 ชนิดคือ สารสกัดจากใบและเปลือกของโกงกางใบเล็ก ใบโกงกางใบใหญ่ ใบลำพู ใบเบญจมาศน้ำเค็ม ใบผักเบี้ยทะเล ใบผักบุ้งทะเล และเปลือกและผลของถอบแถบน้ำ
  6. สารสกัดแทนนินที่สามารถสร้างสารป้องกันตัวต่อสิ่งมีชีวิตทั้ง 4 กลุ่ม คือ ยับยั้งจุลชีพ ยับยั้งการถูกกินโดยปลา เป็นพิษต่ออาร์ทีเมียและลูกน้ำยุง ยับยั้งสาหร่ายเซลล์เดียว และยับยั้งการลงเกาะของเพรียงและหอยในภาคสนาม คือ สารสกัดแทนนินจากใบลำพู ซึ่งใบลำพูมีการสร้างแทนนินในปริมาณสูงถึง 34.21±0.34 % ต่อน้ำหนักแห้ง
  7. ความสามารถในการยับยั้งจุลชีพ ความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุง และการยับยั้งการลงเกาะในภาคสนาม สามารถพัฒนาไปใช้ประโยชน์แทนนินในอุตสาหกรรมยาสำหรับรักษาโรค ยากำจัดแมลง สารป้องกันการลงเกาะ และข้อมูลปริมาณแทนนินในพรรณไม้อื่นๆ ยกเว้นโกงกาง ยังมีประโยชน์ในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทดแทนการใช้ประโยชน์แทนนินจากโกงกางเท่านั้น ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ 

-เพลงคั่นรายการ- 

จากผลการศึกษาที่สรุปมาจะพบว่าต้นไม้ป่าชายเลนแต่ละชนิดสร้างสารแทนนินได้แตกต่างกัน และสะสมไว้ในส่วนต่างๆ ของลำต้นที่แตกต่างกัน สารสกัดแทนนินในพรรณไม้ชายเลนแต่ละชนิดในแต่ละส่วนมีบทบาทในการป้องกันตัวจากจุลชีพ ผู้ล่า และสิ่งมีชีวิตที่ลงเกาะได้แตกต่างกัน  ซึ่งการที่พรรณไม้ชายเลนแต่ละชนิดใช้แทนนินในการป้องกันตัวได้แตกต่างกันนั้น จึงน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลักษณะโครงสร้างประชากรและชุมชนของพรรณไม้ชายเลนแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งผลการศึกษานี้ก่อเกิดองค์ความรู้ใหม่ครับ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจในบทบาทการอยู่รอดของพรรณไม้ชายเลนแต่ละชนิด รวมทั้งลักษณะโครงสร้างประชากร และชุมชนของพรรณไม้ชายเลน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรป่าชายเลน รวมทั้งการประยุกต์นำแทนนินจากไม้ป่าชายเลนไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมได้ในภายภาคหน้าต่อไปครับคุณผู้ฟัง

ท้ายรายการนี้หากคุณผู้ฟังท่านใดสนใจ หรือมีข้อสงสัยอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม หรือจะติชมรายการ คุณผู้ฟังสามารถเขียนจดหมายมายังรายการของเราและจ่าหน้าซองมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.”  ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 ครับ สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้ว พบกันใหม่สัปดาห์หน้าในวันและเวลาเดียวกันนี้ วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ