คอลลาเจนแมงกะพรุน : เพิ่มมูลค่าของดี จากแมงกะพรุน
ในช่วงปลายฝนต้นหนาว มักจะพบปรากฏการณ์ที่เหล่าแมงกะพรุนหลากสีนับหมื่นลอยเต็มท้องทะเล กินพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะบริเวณชายหาดจังหวัดตราด ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง และกระบี่ สีสันสวยงาม เป็นที่ตื่นตาตื่นใจ แก่นักท่องเที่ยว พากันมาชมและถ่ายภาพ ขณะที่ชาวบ้านพากันใช้สวิงมาตักแมงกะพรุนนำไปดอง ส่งขาย
ปัจจุบันประเทศไทยจะบริโภคแมงกะพรุนที่ผ่านการแปรรูปด้วยการดองเกลือและสารส้ม ขายทั้งแบบสด และตากแห้ง ซึ่งมีมูลค่าไม่สูงนัก และยังไม่มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เนื้อแมงกะพรุนมีคุณค่าทางโภชนาการ คือ มีโปรตีนสูง และมีไขมันคอเลสเตอรอล และแคลอรี่ต่ำ โดยเฉพาะเป็นโปรตีนประเภทคอลลาเจนที่รับประทานได้
คอลลาเจน คือเส้นใยโปรตีน เป็นส่วนประกอบของผิวหนัง กระดูกอ่อน เอ็นข้อต่อกระดูก กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย จะมีคอลลาเจนเป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณ 30% ของส่วนที่เป็นโปรตีนทั้งหมดในร่างกาย และเป็น 70 % ของผิวหนังของเรา ร่างกายจะสังเคราะห์คอลลาเจนลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น สังเกตได้จากการเหี่ยวย่นของผิวพรรณซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณคอลลาเจนที่ลดลง คอลลาเจนจึงเป็นสารสำคัญและกำลังอยู่ในกระแสความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการสุขภาพความงาม และการแพทย์
ปัจจุบัน คอลลาเจนสกัดได้จากสัตว์บก เช่น ไก่ หมู วัว ที่อาจมีกรณีของข้อจำกัดด้านศาสนา หรืออาจเกิดปัญหาเรื่องสัตว์ที่เกิดโรคซึ่งสามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้ จึงทำให้มีการวิจัยเพื่อสกัดคอลลาเจนจากสัตว์น้ำ ที่นิยมและมีคุณภาพ คือจากปลาทะเลน้ำลึก แต่มีราคาสูง ขณะที่คอลลาเจนเป็นองค์ประกอบหลักของแมงกะพรุน โดยมีมากถึง 70% ของน้ำหนักทั้งหมด ดังนั้นแมงกะพรุนจึงเหมาะที่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการสกัดคอลลาเจน
ดร.จีรภา หินซุย จากภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของแมงกะพรุน โดยการศึกษาวิจัยหาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดคอลลาเจนจากแมงกะพรุน โดยใช้ส่วนร่มของแมงกะพรุนลอดช่องที่ดองเกลือแล้ว นำมาล้างด้วยการแช่ในสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง จึงทำการทดสอบวิธีสกัดด้วยกรด และใช้กรดร่วมกับเอ็นไซม์ที่ระดับความเข้มข้น และระยะเวลาต่างๆกัน หาปริมาณผลผลิตและวิเคราะห์คุณสมบัติของคอลลาเจนที่สกัดได้ จึงได้ผลสรุปสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดคอลลาเจนจากแมงกะพรุนด้วยสารละลายกรดอซิติกร่วมกับการใช้เอ็นไซม์เปปซิน เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะได้ปริมาณคอลลาเจนเฉลี่ยสูงสุด คิดเป็น 40.4% ของน้ำหนักตัวแมงกะพรุน คอลลาเจนที่สกัดได้เป็นคอลลาเจนในกลุ่ม Type I คือชนิดที่พบได้ในผิวหนัง จึงเหมาะสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์เพื่อการสมานแผล หรือการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม รวมทั้งสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเจลาตินจากแมงกะพรุน สำหรับการผลิตหูฉลามเทียมได้ด้วย
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ดร.จีรภา หินซุย
ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง
คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
…………………………………………………………………………………………………………………………..
เรื่องโดย : วันเพ็ญ-นภาทิวาอำนวย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. 0-2561-1474 rdiwan@ku.ac.th