รายการวิทยุเรื่อง “ระบบเฝ้าติดตามสัตว์ป่า”
[youtube]https://www.youtube.com/watch?v=sT3A0EizPGo[/youtube]
บทวิทยุรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวัน เสาร์ ที่ 29 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2557
เรื่อง ระบบเฝ้าติดตามสัตว์ป่า
บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา
………………………………………………………………………………………………………
-เพลงประจำรายการ-
สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งกับรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ
คุณผู้ฟังครับ เคยคิดอยากเห็นสัตว์ป่าที่อยู่ในป่าจริงๆ ไม่ใช่ในสวนสัตว์ไหมครับ ว่าสัตว์ป่าจะมีลักษณะอย่างไร พฤติกรรมการหากินเป็นอย่างไร และมีจำนวนมากแค่ไหน วันนี้กระผมมีผลงานที่น่าสนใจมาฝากคุณผู้ฟังครับ เป็นผลงานของ รศ.อนันต์ ผลเพิ่ม ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ บางเขน ผลงานเรื่อง ระบบเฝ้าติดตามสัตว์ป่า ก่อนอื่นเรามาฟังความเป็นมาของโครงการกันก่อนนะครับ
คุณผู้ฟังครับ สัตว์ป่าเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของระบบนิเวศ สัตว์แต่ละชนิดจะมีบทบาทและหน้าที่เฉพาะซึ่งแตกต่างออกไป การเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่อาศัย อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ล้วนเป็นปัจจัยต่อการลดจำนวนของสัตว์แต่ละประเภท ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อาหาร และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น สิ่งที่คุณผู้ฟังเห็นจากข่าวบ่อยๆก็คือ การเข้าโจมตีของโขลงช้าง ซึ่งจะมาทำลายพืชไร่ของชาวบ้านที่ทำการเกษตรบริเวณชายป่า นอกจากนี้การบุกรุกเขตป่า โดยมนุษย์เราเพื่อสร้างแหล่งทำมาหากินและที่อยู่อาศัย ล่าสัตว์ ก็เป็นปัจจัยต่อการทำลายความสมดุล และส่งผลต่อการโจมตีของสัตว์ป่าได้เช่นกันครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ ความพยายามในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า หรือการอนุรักษ์ผืนป่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ จะต้องอาศัยกฎหมาย วงเงินจำนวนมาก การทุ่มเทเอาใจใส่ของภาครัฐ การป้องกันการบุกรุกของนายทุน และการทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงประโยชน์ที่ได้รับเมื่อป่าและสัตว์ป่ายังคงสภาพเหมือนเดิมอยู่ เพื่อการอยู่ร่วมกันและเอื้อประโยชน์ของคนและสัตว์ป่า โดยการมีชาวบ้านเป็นเสมือนผู้ช่วยปกป้องดูแลธรรมชาติครับ
คุณผู้ฟังครับ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย มีวัตถุประสงค์มุ่งนำความรู้ เพื่องานอนุรักษ์สัตว์ป่า และพื้นที่ธรรมชาติ บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ การให้การศึกษา และความรวบมือระดับนานาชาติ การดำเนินงานลักษณะนี้มุ่งเน้นเปลี่ยนแปลงทัศนคติของมนุษย์เรากับธรรมชาติ ทำให้มนุษย์กับสัตว์ป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยังยืน ทั้งในระดับสังคมท้องถิ่นและสังคมโลก และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ได้ยึดมั่นแนวทางนี้มาโดยตลอดครับ เพราะเชื่อว่าเป็นภาวะที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องรักษาให้ทุกชีวิตในโลก คงอยู่ตลอดไป
หลังจากได้ทำงานประสานงานกับเจ้าหน้าที่วิจัยของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเทศไทยพบว่าหนึ่งในโครงการอนุรักษ์ของทางสมาคม คือ การติดตามประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย ตามโครงการ Tiger Forever ซึ่งเสือโคร่งเป็นทั้งสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นผู้ควบคุมของประชากรสัตว์บางประเภท เช่น กวางที่ถูกล่าเป็นอาหาร ถ้าเสือโครงมีปริมาณลดลงมาก ก็จะทำให้สมดุลของระบบนิเวศเสียไปครับ
คุณผู้ฟังครับ ส่วนการทำงานตามโครงการ เจ้าหน้าที่ต้องออกเดินป่า และตั้งค่ายพักแรมในบริเวณที่เป็นเส้นทางสัญจรของเสือ โดยต้องตั้งค่ายพักแรมออกจากจุดเฝ้าสังเกตประมาณ 2-3 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่จะทำการเดินทางเท้าจากค่ายพักแรมเข้าไปยังบริเวณเฝ้าสังเกต และติดตั้งชุดถ่ายภาพซึ่งจะต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ และยังมีราคาที่แพง อันได้แก่ กล้องถ่ายภาพแบบฟิล์ม แฟลช พร้อมอุปกรณ์ตรวจจับการมาของเสือ ซึ่งจะทำการดักถ่ายภาพนิ่ง เมื่อมีวัตถุหรือสิ่งมีชีวิตเคลื่อนที่ผ่าน หลังจากนั้นก็เดินเท้ากลับที่พักเพื่อเฝ้าคอย ต่อมาอีกประมาณ 2 – 3 วัน ก็จะทำการเดินเท้าเข้าไปกู้ชุดถ่ายภาพเพื่อนำฟิล์มมาล้าง ในตัวเมืองเมื่อออกจากป่าหลังจากนั้นก็เริ่มย้ายค่ายไปยังจุดเฝ้าสังเกตจุดอื่นต่อไปครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังครับ เราจะเห็นได้ว่าลักษณะการติดตั้งชุดอุปกรณ์แต่ละจุดเฝ้าสังเกต ต้องใช้การเดินเท้าไปกลับไม่ต่ำกว่า 6 กิโลเมตร ใช้เวลาเฝ้าอีก 2-3 วัน ต่อจุดสังเกต แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ข้อมูลภาพถ่ายที่ได้นั้นต้องรอจนกว่าจะออกจากป่าจึงจะได้เห็นภาพ นอกจากนั้นภาพถ่ายที่ได้อาจจะเป็นภาพที่ไม่สมบูรณ์ บางครั้งอาจเป็นภาพถ่ายที่เกิดจากกิ่งไม้ ลมพัด ถ้าเป็นภาพถ่ายเสือก็อาจจะได้เพียงด้านหลังของเสือ บางส่วนของลำตัว ทำให้ไม่สามารถทำการยืนยันตัวตนของเสือในภาพที่ถ่ายตอนเช้า เป็นตัวเดียวกับภาพที่ถ่ายได้ในตอนค่ำหรือไม่ครับ
คุณผู้ฟังครับ ทางคณะวิจัยร่วมกับนักวิจัยของสมาคมยังมีความคิดร่วมมือกันในการสร้างระบบการเฝ้าติดตามสัตว์ป่าขึ้นมา โดยจะใช้ชุดถ่ายภาพต่อเนื่อง และทำการส่งข้อมูลภาพจากจุดเฝ้าระวัง กลับมาค่ายพักแรมที่ห่างไป 2-3 กิโลเมตร โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบเครือข่ายไร้สาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเฝ้าติดตามแบบเวลาจริงได้ โดยข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ที่สามารถบันทึกและนำมาวิเคราะห์ในภายหลังได้ครับ อีกทั้งได้เห็นภาพในทันทีในพื้นที่ ทำให้สามารถเข้าไปปรับปรุงแต่งจุดติดตั้งอุปกรณ์ และลดเวลาในการเฝ้าติดตามได้เป็นอย่างมากครับ
คุณผู้ฟังครับ การวิจัยเป็นการออกแบบ และสร้างชุดอุปกรณ์การถ่ายภาพนิ่งแบบต่อเนื่อง รวมถึงระบบการส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สาย โดยทำการออกแบบและทดลองในขั้นต้นที่ห้องปฏิบัติการวิจัยเครือข่ายไร้สาย ของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นจึงนำระบบไปทดสอบการใช้งานในพื้นที่ป่าที่ต้องการเฝ้าติดตามสัตว์ครับ
และฐานในการปฏิบัติการบริเวณที่ตั้งค่าย ซึ่งอยู่คนละพื้นที่กับบริเวณเฝ้าติดตาม และสถานที่ตั้งกล้องมีระยะประมาณ 2-7 กิโลเมตร เพื่อเฝ้าติดตามสัตว์ป่า โดยที่ต้องทำให้สัตว์ป่าไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกเฝ้ามองอยู่ โดยกล้องอุปกรณ์จัดเส้นทางแบบไร้สายจะติดอยู่ตามต้นไม้ เพื่อพลางไม่ให้เป็นที่สังเกตของสัตว์ป่า และมีอุปกรณ์ตรวจวัดการเคลื่อนไหว เพื่อส่งต่อสัญญาณที่ใช้ในการสั่งให้กล้องเริ่มทำการถ่ายภาพ ระบบที่พัฒนาประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพนิ่งแบพลังงานต่ำ จำนวนสองตัว ซึ่งจะทำให้เห็นภาพสัตว์ได้จาก 2 มุมมอง เนื่องจากสัตว์ป่าบางชนิดมีความรวดเร็วในการเคลื่อนไหว และสามารถนำภาพที่ได้มาประมวลผลสำหรับการติดตามสัตว์ป่า โดยอาจพิจารณาจากลายข้างตัวของสัตว์ เมื่อระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของสัตว์ป่าได้ อุปกรณ์จะส่งสัญญาณไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อเริ่มทำการถ่ายภาพ และไมโครคอนโทรลเลอร์จะส่งสัญญาณต่อไปยังกล้องทั้งสองตัวครับ ในการโอนข้อมูลภาพจากบริเวณเฝ้าติดตามมายังผู้ใช้งานที่อยู่ในบริเวรค่าย ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2-3 กิโลเมตร จะใช้การสื่อสารฝ่ายเครือข่ายไร้สาย โดยใช้เทคโนโลยีตามมาตรฐาน IEEE 802.11gผ่านอุปกรณ์แบบไร้สายที่สามารถส่งได้ในระยะไกล โดยทำการติดตั้งแอกเซสพอยต์จำนวน 2 ชุด คือ ที่บริเวณเฝ้าติดตาม และบริเวณที่ตั้งค่าย เมื่อต้องการโอนรูปภาพที่ถ่ายได้นั้น ก็ทำการต่อโน้ตบุ๊คกับแอกเซสพอยต์ที่บริเวณค่ายและส่งคำสั่งไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์แอกเซสพอยต์ที่บริเวณเฝ้าติดตาม โดยข้อมูลภาพถ่ายจะถูกเก็บไว้ในเอสดีการ์ด บนชุดอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์ โดยผู้ใช้สามารถสั่งโอนถ่าย และลบข้อมูลทั้งหมดได้ ตลอดจนตั้งค่าเวลาบนไมโครคอนโทรลลเลอร์ให้ได้ตามเวลาจริงครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ วัตถุประสงค์ในการจัดโครงการนี้ คือ
- การสร้างระบบการถ่ายภาพนิ่งแบบต่อเนื่องของสัตว์ป่า
- สร้างระบบการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบถ่ายภาพจากกจุดเฝ้าสังเกต มายังค่ายพักแรมที่ระยะห่าง ประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดยใช้เครือข่ายไร้สาย
- สร้างระบบจัดเก็บข้อมูลภาพนิ่งแบบต่อเนื่องของสัตว์ป่า
- สร้างเทคโนโลยีแบบพึ่งพาตนเองได้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลและเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงการสร้างเทคโนโลยีขึ้นใช้เองในประเทศ
งานวิจัยนี้ได้พัฒนาระบบต้นแบบในการเฝ้าติดตามสัตว์ป่า โดยใช้กล้องถ่ายภาพแบบกินพลังงานต่ำเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์ โดยมีกล้องในระบบจำนวน 2 กล้อง เชื่อมต่อผ่านเทคโนโลยีไร้สาย ตามมาตรฐาน IEEE 802.15.4 โดยใช้อุปกรณ์ XBee จากการทดลองพบว่าใช้เวลาในการโอนถ่ายภาพระหว่างกล้องอยู่ที่ประมาณ 2-5 วินาที โดยเฉลี่ย และทำการโอนถ่ายข้อมูลผ่านแอกเซลพอยต์โดยใช้เทคโนโลยีไร้สายตามมาตรฐาน IEEE 802.11 มายังเครื่องผู้เฝ้าติดตามที่สามารถโอนภาพถ่ายจากพื้นที่เฝ้าระวังได้ครับ
และจากการทดสอบการทำงานพบว่า การถ่ายภาพในสภาพการเคลื่อนที่ในระดับความเร็วประมาณการเดินตามปกติของคน สามารถทำการบันทึกภาพถ่ายได้อย่างที่ต้องการ โดยมีคุณภาพความคมชัดและขนาดของภาพ อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อไปได้ครับ
และเนื่องจากการใช้งานในสภาพจริงต้องทำงานผ่านแบตเตอรี่ ซึ่งจากระบบต้นแบบที่ได้พัฒนาขึ้นโดยใช้แบตเตอรี่ขนาด 12V,5.4 AH ระบบจะทำงานได้ต่อเนื่องประมาณ 2-3 วัน ทั้งนี้อาจมีการพัฒนาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้ระบบสามารถทำงานต่อเนื่องได้ นอกจากนี้เพื่อเพิ่มมุมมองภาพถ่ายของสัตว์ป่าที่เฝ้าสังเกต ระบบที่พัฒนาสามารถรองรับการเพิ่มจำนวนกล้องได้ครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ อย่างไรก็ตามในขณะรายงาน ระบบที่พัฒนาขึ้นยังไม่ได้ทำการติดตั้งและเฝ้าระวังสัตว์จริงในผืนป่า ทำให้อาจมีจุดที่ต้องทำการปรับแต่งระบบทั้งที่เป็นกล้องถ่ายภาพ โดยขณะนี้ได้ทำการปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพของกล้องเดิม ให้เป็นกล้องแบบอินฟาเรด เพื่อให้สามารถทำการถ่ายภาพสัตว์ในเวลากลางคืนได้ ตลอดจนต้องทดสอบการโอนจ่ายข้อมูลในระยะไกลจากพื้นที่เฝ้าสังเกต และค่ายพักแรมที่อาจมีปัญหาในการติดตั้งอุปกรณ์ และการบดบังสัญญาณของต้นไม้ในบริเวณที่ติดตั้งได้
และการพัฒนาระบบเฝ้าติดตามนี้ เป็นลักษณะของงานวิจัยเชิงบูรณาการความรู้ทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เข้ากับการวิจัยเชิงอนุรักษ์และธรรมชาติวิทยา นอกจากมีประโยชน์ในการเก็บข้อมูลของสัตว์ป่าในบริเวณแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ การได้มาของแหล่งข้อมูลนี้โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นภาพนิ่งแบบต่อเนื่อง และสามารถตรวจสอบได้ในเวลาจริงแล้ว ยังอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย จะส่งผลดีต่อการวิจัยในเชิงอนุรักษ์ได้อย่างกว้างขวาง ตลอดจนเป็นการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมศักยภาพในการสร้างเทคโนโลยีขึ้นเพื่อใช้งานภายในประเทศ และเป็นแนวทางในการวิจัยในอนาคตครับ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และหน่วยงานที่นำไปใช้ประโยชน์ ในผลงานวิจัยนี้ คือ
- หน่วยงานวิจัยทางด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สามารถเฝ้าติดตามประชากรของสัตว์ได้อย่างสะดวกและถูกต้องและแม่นยำขึ้นครับ
- อำนวยความสะดวกในการทำงานของเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ ลดเวลาในการเข้าถึงข้อมูลภาพครับ
- เป็นการนำความรู้ทางด้านเครือข่ายไร้สายไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่และปัญหาจริงได้
- สามารถนำระบบที่ได้ไปใช้งานเป็นระบบทดสอบการออกแบบโปรโตคอลการส่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวาง หรือมีการวางตัวไม่เป็นระเบียบครับ
วันนี้กระผมขอจบรายการไว้เพียงเท่านี้ครับ สัปดาห์หน้ากระผมจะนำเรื่องราวผลงานวิจัยอะไรดีๆ มาฝากคุณผู้ฟังอีก อย่าลืมติดตามรับฟังได้ในรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ในวันและเวลาเดียวกันนี้ หากคุณผู้ฟังมีข้อเสนอแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายังรายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้ ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือโทรสอบถามได้ที่ 0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ