รายการวิทยุเรื่อง “การปลูกกะหล่ำปลี”
[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=_H5o0lhbQeA[/youtube]
บทวิทยุ รายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย มก.”
ออกอากาศวันเสาร์ที่ 23 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2557
เรื่อง การปลูกกะหล่ำปลี
บทวิทยุโดย วิทวัส ยุทธโกศา
……………………………………………………………………………………………………………
-เพลงประจำรายการ-
สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกับรายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย มก. “ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้เป็นประจำทุกวันเสาร์ รายการนี้ผลิตโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำหรับวันนี้กระผมขอเสนอ เรื่อง “ การปลูกกะหล่ำปลี “ ครับ
คุณผู้ฟังครับกะหล่ำปลีเป็นพืชผักที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปยุโรป ซึ่งกรีกเป็นชนชาติแรกที่ปลูกกะหล่ำปลีครับ กะหล่ำปลีเป็นพืชผักที่มีการปลูกในประเทศไทยเป็นเวลานานมากกว่า 60 ปี แล้วครับ โดยระยะแรกปลูกได้ดีเฉพาะฤดูหนาวทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาเริ่มเป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไป จึงได้มีการนำพันธุ์กะหล่ำปลีทนร้อนเข้ามาปลูก ทำให้ในปัจจุบันสามารถปลูกกะหล่ำปลีได้ตลอดทั้งปีครับคุณผู้ฟัง
คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่า นักวิจัยได้พบว่าสารอาหารในกะหล่ำปลีช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารสร้างเยื่อบุผนังกระเพาะได้เร็วขึ้น แผลในกระเพาะและลำไส้จะหายเร็ว และมีการทดลองในสหรัฐอเมริกาชิ้นหนึ่ง ได้ให้คนไข้กินน้ำกะหล่ำปลีคั้นสดวันละ 2 แก้ว เพื่อรักษาโรคกระเพาะ ส่วนที่รัสเซียใช้น้ำคั้นจากกะหล่ำปลีตากแห้ง แล้วนำผงที่ได้รักษาโรคกระเพาะและท่อน้ำดีอักเสบจะเห็นผลชัดเจน
คุณผู้ฟังครับการผลิตกะหล่ำปลีของประเทศไทย มีการปลูกทั่วไปแทบทุกจังหวัดครับ แต่แหล่งผลิตที่สำคัญๆ นั่นก็คือ จังหวัดเชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย มหาสารคาม ตาก ลำพูน เพชรบูรณ์ และ เพชรบุรี พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตกะหล่ำปลีของประเทศไทยในแต่ละปีจะอยู่ในช่วงระหว่าง 45,000 – 60,000 ไร่ และ 129,000 – 185,000 ตัน ตามลำดับ โดยในปี 2539 / 40 มีพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีถึง 56,018 ไร่ และผลผลิตที่ได้ 184,753 ตันครับ
กะหล่ำปลีสามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด และจะชอบดินโปร่ง อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตประมาณ 22 – 25 องศาเซลเซียส มีสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน อยู่ในช่วง 6 – 6.5 ความชื้นในดินควรมีสูงพอสมควร และได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดวันครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ ช่วงหน้ามาต่อกันในเรื่องสายพันธุ์ของกะหล่ำปลีกันนะครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังครับ พันธุ์ของกะหล่ำปลีสามารถแยกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆด้วนกันนะครับ นั่นก็คือ กะหล่ำปลีธรรมดา เป็นพันธุ์ที่มีการปลูกและบริโภคกันมากที่สุดครับจะมีลักษณะหัวหลายแบบครับ ตั้งแต่หัวกลม หัวแหลม เป็นรูปหัวใจจนถึงกลมแบนราบ มีสีเขียวจนถึงเขียวอ่อน เป็นพันธุ์ที่ทนร้อน อายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 50 – 60 วัน พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ลูกผสมต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วนะครับ ยังมีพันธุ์ผสมเปิดอื่น ๆ อีก เช่น พันธุ์โคเปนเฮเกนมาร์เก็ต พันธุ์โกเดนเอเลอร์ กะหล่ำปลีดอง มีลักษณะหัวค่อนข้างกลมครับ ใจสีแดงทับทิม และส่วนใหญ่จะมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 90 วัน ต้องการสภาพอากาศหนาวเย็นพอสมควร เมื่อนำไปต้มน้ำจะมีสีแดงคล้ำ พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์รูบี้บอล รูบี้เพอเฟคชั่น กะหล่ำปลีใบย่น มีลักษณะผิวใบหยิกย่นและเป็นคลื่นมากต้องการสภาพอากาศหนาวเย็นในการปลูกครับ
คุณผู้ฟังครับ การปลูกกะหล่ำปลีจะต้องมีการเตรียมดินก่อนปลูก คือการเตรียมแปลงเพาะกล้า เตรียมดินโดยการขุดไถให้ลึกประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตร ยาวตามความต้องการ ตากดินไว้ประมาณ 5 – 7 วัน แล้วคลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ย่อยดินให้ละเอียดพอสมควร รดน้ำให้ชื้นแล้วทำการหว่านเมล็ดลงไป โดยพยายามหว่านเมล็ดให้กระจายบาง ๆ ถ้าต้องการปลูกเป็นแถวก็ควรจะทำร่องไว้ก่อนแล้วหว่านเมล็ดตามร่องที่เตรียมไว้ คลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งบาง ๆ เมื่อกล้าออกใบจริงประมาณ 1 – 2 ใบ ก็ทำการถอนแยกต้นที่แน่นหรืออ่อนแอทิ้ง แปลงปลูก กะหล่ำปลีที่นิยมปลูกในประเทศไทยมักเป็นพันธุ์เบา ระบบรากตื้น ดังนั้นจึงควรเตรียมดินลึกประมาณ 18 – 20 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 5 – 7 วัน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ในปริมาณที่มากพอสมควร เพื่อปรับสภาพและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยเฉพาะในดินทรายและดินเหนียว จากนั้นย่อยผิวหน้าดิน ให้มีก้อนเล็กแต่ไม่ต้องละเอียดจนเกินไป ถ้าดินเป็นกรดควรใส่ปูนขาวนะครับเพื่อปรับสภาพดินให้มีความเหมาะสมต่อการปลูกครับ
เมื่อกล้ามีอายุได้ประมาณ 25 – 30 วัน จึงย้ายไปปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมไว้ครับ โดยให้มีระยะปลูก 30 – 40 X 30 – 40 เซนติเมตร การปลูกอาจปลูกเป็นแบบแถวเดียวหรือแถวคู่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของสวนผัก
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อครับ คุณผู้ฟังครับกะหล่ำปลีเป็นพืชที่ต้องการธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมสูง เพื่อใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ต้นพืช ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้ นั่นคือ ปุ๋ยสูตร 13 – 13 – 21 หรือ 14 – 14 – 21 โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ใส่รองพื้นขณะปลูก แล้วพรวนกลบลงในดิน ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากกะหล่ำปลีมีอายุได้ 7 – 14 วัน นอกจากนี้ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตหรือปุ๋ยยูเรีย ควบคู่ไปด้วยครับ ซึ่งการใส่ปุ๋ยนี้ก็แบ่งใส่ 2 ครั้ง เช่นกัน คือ ใส่เมื่อกะหล่ำปลีมีอายุได้ 20 วันและ 40 วัน ตามลำดับ โดยใส่โรยข้าง ๆ ต้นกะหล่ำปลีนั่นเองครับ
การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยปล่อยน้ำไปตามร่องระหว่างแปลงประมาณ 7 – 10 วันต่อครั้ง ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งจำเป็นต้องให้น้ำเพิ่มมากขึ้นตามความเหมาะสม และเมื่อกะหล่ำปลีเข้าปลีเต็มที่แล้วควรลดปริมาณน้ำให้น้อยลง เพราะหากกะหล่ำปลีได้รับน้ำมากเกินไปจะทำให้ปลีแตกเสียหายได้ การพรวนดินและการกำจัดวัชพืช ในระยะแรก ๆ ควรปฏิบัติดูแลรักษาบ่อย ๆ เพราะวัชพืชจะเป็นตัวแย่งอาหารในดินรวมทั้งเป็นที่อาศัยของโรคและแมลงอีกด้วยครับ
มาฟังอายุการเก็บเกี่ยวของกะหล่ำปลีกันครับ ตั้งแต่ปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยวขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละพันธุ์ สำหรับพันธุ์เบาที่นิยมปลูกจะมีอายุประมาณ 50 – 60 วัน ส่วนพันธุ์หนักมีอายุประมาณ 120 วัน
การเก็บควรเลือกหัวที่ห่อแน่นและมีขนาดพอเหมาะ โดยกะหล่ำปลี 1 หัว มีน้ำหนักประมาณ 2 – 3 กิโลกรัม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนเกินอายุการเก็บเกี่ยว เพราะหัวจะหลวม ทำให้คุณภาพลดลง และการเก็บนั้นให้ใช้มีดตัดใบนอกหุ้มติดหัวมาด้วย เพราะจะทำให้เก็บรักษาได้ตลอดวัน เมื่อตัดและขนออกนอกแปลงแล้วให้ตัดแต่งใบนอกออกเหลือเพียง 2 – 3 ใบ เพื่อป้องกันความเสียหายเนื่องจากการบรรจุและขนส่ง จากนั้นคัดแยกขนาดแล้วบรรจุถุงจำหน่ายต่อไปครับ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ ช่วงหน้ามาฟังเรื่องโรคของผักชนิดนี้กันครับ
-เพลงคั่นรายการ-
กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังครับกะหล่ำปลีมีโรคที่สำคัญคือ โรคเน่าของกะหล่ำปลี โรคนี้พบได้เกือบทุกระยะครับ แรกพบเป็นจุดหรือบริเวณที่มีลักษณะฉ่ำน้ำคล้ายรอยซ้ำ ต่อมาแผลจะขยายลุกลามออกไป ทำให้เกิดการเน่าและเป็นเมือกเยิ้มมีกลิ่นเหม็นจัด เมื่ออาการรุนแรงจะทำให้กะหล่ำปลีเน่าเละทั้งหัวและเหี่ยวพับลง สามารถป้องกันได้โดยระมัดระวังอย่าให้เกิดแผลและรอยซ้ำทั้งขณะเก็บเกี่ยวและขนส่ง ป้องกันและกำจัดพาหนะของโรค โดยเฉพาะหนอนคืบ กำจัดเศษวัชพืชออกจากแปลงและนำไปเผาไฟ รวมทั้งทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้งไปเลยครับ โดยไม่ไถกลบทิ้งไว้ในแปลง ควรจัดให้มีการระบายน้ำที่ดีในแปลงเพาะปลูก ควรเก็บผักหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วไว้ที่อุณหภูมิต่ำประมาณ 10 องศาเซลเซียส และใช้ปุ๋ยที่มีธาตุโบรอนผสม เพื่อป้องกันและกำจัดโรคไส้กลวงดำที่มักจะเกิดร่วมกับโรคเน่าเละครับ
อีกโรคหนึ่งคือ โรคเน่าดำ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะเข้าทำลายทางรูใบที่อยู่ตามขอบใบ ลักษณะอาการ ใบจะแห้งจากด้านขอบใบเข้าไปเป็นรูปสามเหลี่ยมมีปลายแหลมชี้ไปที่เส้นกลางใบ เนื้อเยื่อที่แห้งจะมีเส้นใยสีดำเห็นชัดเจน อาการใบแห้งจะลุกลามไปจนถึงเส้นกลางใบและก้านใบ ทำให้เกิดอาการใบเหลืองเหี่ยวและแห้งตาย กะหล่ำปลีจะชงักการเจริญเติบโตและอาจตายได้ โดยเชื้อราบักเตรีที่เป็นสาเหตุของโรคนี้จะอาศัยอยู่ในดิน เมื่อฝนตกจะระบาดไปทั่ว นอกจากนี้ยังสามารถติดไปกับเมล็ดผักได้อีกด้วยครับ
มีการป้องกันโดย ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูก ควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นที่อุณหภูมิประมาณ 50 – 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20 – 30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดอยู่ในเมล็ด ไม่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำติดต่อกันเกิน 3 ปี เพราะจะทำให้เป็นแหล่งสะสมโรค
โรคเน่าคอดิน สาเหตุเกิดจากเชื้อรา ลักษณะอาการ โรคนี้จะเกิดขึ้นในแปลงกล้าโดยเฉพาะการหว่านต้นกล้าที่แน่นทึบเกินไป ต้นกล้าจะเกิดอาการเป็นแผลช้ำที่โคนต้นระดับผิวดิน เนื้อเยื่อบริเวณแผลเน่าและแห้งไปอย่างรวดเร็ว เมื่อถูกแสงแดด และต้นกล้าจะหักพับเหี่ยวแห้งตายในเวลาอันรวดเร็ว การป้องกัน คือ ไม่ควรหว่านเมล็ดพันธุ์กะหล่ำปลีแน่นเกินไป ใช้น้ำปูนใสรอแทนน้ำในระยะที่เป็นต้นกล้า ทำทางระบายน้ำให้ดี ไม้ให้มีน้ำขังแฉะในแปลงกล้า
โรคราน้ำค้าง เกิดจากเชื้อรา ลักษณะอาการ จะระบาดมากในระยะที่กะหล่ำปลีเป็นต้นกล้า ส่วนระยะต้นโตจนห่อตัวแล้วพบการระบาดไม่มากนัก ดังนั้นการป้องกันกำจัดจึงเน้นให้กระทำในระยะเป็นต้นกล้า โอกาสที่โรคนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีความชื้นในอากาศค่อนข้างสูงและอุณหภูมิต่ำอาการเมื่อมองจากด้านบนใบจะเห็นเป็นปื้นสีเหลืองจาง ๆ ลักษณะเหมือนเยื่อใบเปลี่ยนสีเล็กน้อย เมื่อพลิกด้านใต้ใบขึ้นมาดูหลังใบตรงบริเวณปื้นสีเหลืองจะเห็นขุยสีขาว โดยอาการจะสังเกตได้ง่าย ในช่วงอากาศเย็นและมีน้ำค้าง ถ้าแดดจัดเส้นใบอาจหลุดไปทำให้สังเกตได้ยาก การป้องกันกำจัด คือ คลุกเมล็ดด้วยสารเมตาแลกซิล หากไม่ได้คลุกเมล็ดก่อนปลูก แล้วเกิดอาการโรคราน้ำค้างให้ฉีดพ่นด้วยสารเมตาแลกซิล แมนโคเซป โดยก่อนพ่นควรสังเกตจนมั่นใจว่าโรคราน้ำค้างที่มีประสิทธิภาพจริง ๆ นั้นมีค่อนข้างจำกัด
-เพลงคั่นรายการ-
คุณผู้ฟังครับ แมลงศัตรูพืชที่สำคัญของกะหล่ำปลี คือ หนอนใยผัก หนอนใยผักเป็นหนอนผีเสื้อที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาหนอนผีเสื้อศัตรูผัก มีลักษณะหัวท้ายแหลม เมื่อถูกจะดิ้นอย่างแรงและทิ้งตัวลงดินโดยการสร้างใยมักจะพบตัวแก่ตามใบโดยเกาะในลักษณะยกหัวขึ้น หนอนใยผักเกิดจากการที่แม่ผีเสื้อวางไข่ไว้ ไข่มีขนาดเล็กค่อนข้างแบนสีเหลืองวางติดกัน 2 – 5 ฟอง อายุไข่ประมาณ 3 วัน อายุดักแด้ 3 – 4 วัน ตัวเต็มวัยมีสีเหลืองเทา ตรงส่วนหลังมีแถบสีเหลืองอายุตัวเต็มวัย 1 สัปดาห์ การทำลายของหนอนใยผักจะกัดกินผักอ่อนดอก หรือผิวด้านล่างของกะหล่ำปลีที่หุ้มอยู่ ทำให้ใบเป็นรูพรุนเสียคุณภาพ หนอนใยผักมีความสามารถในการทนทานต่อสารเคมี และปรับตัวต้านทานต่อสารเคมีป้องกันกำจัดได้รวดเร็วในแหล่งที่มีการใช้สารเคมีชนิดนั้น ๆ เป็นประจำ สามารถป้องกันและกำจัดได้โดย การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เพื่อจับตัวเต็มวัยของหนอนใยผัก ใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัสทรูรินเจนซิส ทำลาย หมั่นตรวจดูแปลงกะหล่ำปลี เมื่อพบตัวหนอนควรรีบทำลายทันที ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาด
หนอนกระทู้ผักมักพบบ่อยในพวกผักกาด โดยจะกัดกินใบ ก้านหรือในหัวปลี มักจะเข้าทำลายเป็นหย่อม ๆ ตามจุดที่ผีเสื้อว่างไข่ หนอนชนิดนี้สังเกตได้ง่าย คือ ลำต้นอ้วนป้อมผิวหนังเรียบคล้ายหนอนกระทู้หอม มีสีสันต่าง ๆ กัน มีแถบสีขาวข้างลำตัวแต่ไม่ค่อยชัดนัก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 3 – 4 เซนติเมตร เคลื่อนไหวช้า ระยะหนอนประมาณ 15 – 20 วัน และจะเข้าดักแด้ตามผิวดินประมาณ 7 – 10 วัน การป้องกันทำได้โดย หมั่นตรวจดูแปลง เมื่อพบหนอนกระทู้ผักควรทำลายเสียเพื่อป้องกันไม่ให้มีการะบาดลุกลามต่อไป ฉีดพ่นสารเคมี เช่น เมโธมิล อัตรา 10 – 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออาจใช้เมวินพอส 20 – 30 ซี .ซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
หนอนเจาะยอดกะหล่ำปลี จะพบระบาดทำความเสียหายให้กับพืชไร่ตระกูลกะหล่ำ โดยหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินในหัวหรือยอดผักที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดขาดไม่เข้าหัว ถ้าระบาดในระยะออกดอกจะเจาะเข้าไปในลำต้นก้านดอก หรือในระยะที่ต้นยังเล็กอยู่ จะกัดกินดอกเสียหาย ควรปฏิบัติดูแลตั้งแต่ระยะแรก โดยการเลือกกล้าผักที่ไม่มีไข่หรือหนอนขนาดเล็กติดมา จะช่วยป้องกันไม่ให้หนอนเข้าไปทำลายส่วนสำคัญของพืช เช่น หัวหรือก้านดอกได้ นอกจากนี้อาจใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด โดยหากเป็นแหล่งปลูกผักที่ไม่ค่อยมีการใช้สารเคมีมาก่อนควรใช้เมวินพอสหรือเมทโธมิล และถ้าเป็นแหล่งที่เคยปลูกผักและมีการใช้สารเคมีมาก่อนควรเลือกใช้สารในกลุ่มไพรีทอยด์สังเคราะห์ ในอัตรา 20 – 30 ซี.ซี วิธีการใช้สารเคมีทั้งสองชนิดนี้ คือ ใช้เมื่อพบไข่หรือหนอนเริ่มเข้าทำลาย ช่วงเวลาพ่นประมาณ 7 วัน / ครั้ง
ด้วงหมักผักมี 2 ชนิด คือ ชนิดสีน้ำเงิน และชนิดแถบลายลักษณะการทำลายตัวแก่จะเข้ากัดกินใบให้เป็นรูพรุน และตัวอ่อนที่อาศัยอยู่ในดินจะเข้ากัดกินส่วนรากและโคนต้น ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ต้นเหี่ยวเฉา ป้องกันได้โดย ไถตากดิน เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาด ใช้สารเคมีกลุ่มคาร์บาเมท ในแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่มีการระบาดรุนแรง ฉีดพ่นในอัตราใช้ตามฉลากคำแนะนำ กรณีที่ปลูกกะหล่ำปลีในพื้นที่เดิมบ่อย ๆ และด้วงหมัดผักเริ่มแสดงอาการต้านทานต่อสารเคมี ให้ใช้สารเคมีกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟท อัตราการใช้ตามฉลากคำแนะนำ
คุณผู้ฟังครับกะหล่ำปลีเป็นผักที่มีประโยชน์สูง และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แต่เกษตรกร ควรมีการดูแลการปลูกที่ดีจะทำให้ได้กะหล่ำที่มีคุณภาพ และถ้าสามารถทำให้กะหล่ำปลีปลอดภัยจากสารพิษได้แล้วละก็ ผักของท่านจะต้องเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแน่นนอน และเวลาสำหรับรายการ “ จากแฟ้มงานวิจัย มก. “ ในวันนี้ก็หมดเวลาลงแล้ว พบกับรายการนี้ได้ใหม่ในสัปดาห์หน้า ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
……………………………………………………………………………………………….