รายการวิทยุเรื่อง “มหัศจรรย์แห่งแก่นตะวัน”

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=TxnS6q8ow_A[/youtube]

บทวิทยุ รายการ  “จากแฟ้มงานวิจัย มก.”

ออกอากาศวันเสาร์ ที่9 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557

เรื่อง  มหัศจรรย์แห่งแก่นตะวัน

บทวิทยุโดย  วิทวัส ยุทธโกศา

……………………………………………………………………………………………………………………………….

-เพลงประจำรายการ-

สวัสดีครับ คุณผู้ฟังทุกท่านครับ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ “จากแฟ้มงานวิจัย มก.” ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกวันเสาร์ ทางสถานีวิทยุ มก. แห่งนี้ครับ รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นรายการที่นำเสนอผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งในด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ  มานำเสนอให้คุณผู้ฟังได้ทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ฟังในการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือกับอาชีพของตนเอง โดยมีกระผมวิทวัส ยุทธโกศา รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับ ปัจจุบันความสนใจเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพและการควบคุมน้ำหนัก ตลอดจนการป้องกันและการรักษาโรคอ้วน ความดันและเบาหวาน ซึ้งกำลังอยู่ในกระแสสังคมของการบริโภคในยุคดิจิทอลไร้สายของคนสมัยใหม่ ฉะนั้นการเลือกบริโภคอาหารชนิดแป้งและน้ำตาลต่ำ (โลว์คาร์บ) หรืออาหารที่ปราศจากแป้งและน้ำตาล (โนคาร์บ) หรืออาหารแป้งและน้ำตาลดี (กู๊ดคาร์บ) จึงให้ผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วน ความดัน และเบาหวาน ที่จะต้องรับประทานบาเป็นกิจวัตร ทำให้ไม่สะดวกต่อชีวิตประจำวันได้อย่างคนทั่วไป อย่างไรก็ดี พืชเยรูซาเล็มอาร์ทิโช้ค หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ แก่นตะวัน ซึ่งเป็นพืชหัวชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลเดียวกับทานตะวัน ที่เราอาจไม่รู้ว่าเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตชั้นเลิศชนิดที่ไม่ย่อยสลายได้โดยเอนไซม์ในร่างกายของมนุษย์อย่างแป้งและน้ำตาล จึงไม่จัดเป็นแหล่งพลังงานหลักและไม่เพิ่มปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือด สามารถนำไปใช้เป็นสารผสมอาหารในอาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารทั่วๆไปที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ แก่นตะวัน เป็นพืชชนิดใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก และหวังให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในอนาคต เป็นพืชที่มีการสะสมอินูลินในหัวใต้ดินมากถึงร้อยละ 14-19 ของน้ำหนักหัวสด คุณผุ้ฟังทราบไหมครับว่าอินูลินคืออะไร อินูลินก็คือ คาร์โบไฮเดรตที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบทางเดินอาหาร นอกจากการบริโภคสดโดยตรงและใช้ในการปรุงอาหารคาวหวานได้แล้ว การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแก่นตะวันเชิงอุตสาหกรรม ได้แก่ แป้งแก่นตะวัน แป้งอินูลิน และน้ำเชื่อมฟรุกโทส/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ จะเป็นการแปรรูปและการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ เพื่อทดแทนหรือลดปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์แก่นตะวันจากต่างประเทศได้

คุณผู้ฟังครับสำหรับการผลิตฟรุกโทส/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จากแก่นตะวัน สามารถผลิตได้โดยอาศัยการทำงานของเอนไซม์อิลูลิเนสและอินเวอร์เทส โดยการย่อยสลายอินูลินให้ได้เป็นฟรุกโทส/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ จึงเป็นทางเลือกของการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลฟรุกโทสและอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์แทนสารให้ความหวานอย่างน้ำตาลทรายที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อในปี พ.ศ.2550 ได้มีการแยกและคัดเลือกจุลินทรีย์จากหัวแก่นตะวัน ได้แก่ ยีสต์ Candida guilliermondii TISTR 5844 และเชื้อรา Aspergillus niger TISTR 3570 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีอัตราการเจริญและอัตราการผลิตเอนไซม์อินูลิเนสและอินเวอร์เทสที่ดี สามารถใช้เป็นแหล่งของเอ็นไซม์อินูลิเนสทางการค้า สำหรับประโยชน์ของอนูลินและอินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์จัดเป็นสารพรีไบโอติก ที่เป็นอาหารของจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่กลุ่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ Lactobacillus และ Bifidobacterium โดยจุลินทรีย์จะปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยสารพรีไบโอติกดังกล่าวได้เป็นกรดไขมันสายสั้น ส่งผลให้ลำไส้ใหญ่มีสภาพเป็นกรด ซึ่งจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ทั้งยังทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายซึ่งมักจะก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารถูกทำลายไปด้วยครับ นอกจากนี้ อินูลินและอินูโลโอลิ-โกแซ็กคาไรด์ยังมีสมบัติในการป้องกันการเกาะตัวของอาหาร คือ มีความสามารถในการดูดซึมความชื้นได้ดี จึงสามารถนำไปใช้ปรับปรุงเนื้อสัมผัสของอาหารไขมันต่ำ ซึ่งใช้ทดแทนไขมัน ให้มีเนื้อสัมผัสที่นุ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งสามารถใช้เป็นสารผสมอาหารของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่ต้องการลดปริมาณไขมันลงได้ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

แต่อย่างไรก็ตาม การแปรรูปผลิตภัณฑ์แก่นตะวันข้างต้นที่ได้กล่าวมา ยังคงจัดอยู่ในกลุ่มอาหารสุขภาพพื้นฐานทั่วไป ยังไม่ใช่สารผสมอาหารชนิดโนคาร์บที่ปราศจากแป้งและน้ำตาล เพื่อตอบสนองความต้องการของการแก้ปัญหาโรคอ้วน และโรคเบาหวานที่สำคัญยิ่งกว่า ซึ่งทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถพัฒนากรรมวิธีการเตรียมอินูลินสายสั้นและสายยาวที่ปราศจากน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและโมเลกุลคู่ได้ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์อินูลินเพียงชนิดเดียวในท้องตลาดที่มีการจำหน่ายอยู่ที่สามารถนำไปใช้ในอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคอ้วนได้ ที่สามารถแสดงบทบาทของการเป็นพรีไบโอติกและใยอาหาร ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของพืชเยรูซาเลมได้อย่างเต็มที่การเพิ่มบทบาทของการเป็นพรีไบโอติกและใยอาหาร ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นของแก่นตะวันได้อย่างเต็มที่ การเพิ่มบทบาทของการเป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติ สามารถกระทำได้โดยจากการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลชนิดหลายโมเลกุลที่ผลิตได้จากน้ำตาลทราย ที่มีชื่อเรียกว่า น้ำตาลโอลิโกฟรุกโทส ซึ่งร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถย่อยสลายได้จึงไม่ใช่แหล่งของพลังงานเช่นเดียวกันแต่กลับสนับสนุนการเจริญของจุลินทรีย์กลุ่มพรอไบโอติกที่เอื้ออำนวยต่อระบบนิเวศในลำไส้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี

ทีมวิจัยชุดใหญ่ของการใช้ประโยชน์จากพืชแก่นตะวัน ประกอบด้วยทีมปลูกและปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิต คือนายประภาส ช่างเหล็ก สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร และทีมแปรรูปอาหารพร้อมบริโภค ดร.เกศศิณี ตระกูลทิวากร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ทีมแปรรูปผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร รศ.ดร.สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล คณะอุตสาหกรรมเกษตร และทีมการผลิตเยื่อและกระดาษจากต้นแก่นตะวันเพื่องานหัตถกรรมและบรรจุภัณฑ์ นายวัฒินันท์ คงทัด สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร นอกจากนี้ยังมีทีมสัตวบาลที่ใช้ประโยชน์จากเปลือกและกากเหลือทิ้งหลังการสกัดอินูลินในอาหารสัตว์ โดย รศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ สังกัดคณะเกษตร คุณผู้ฟังจะเห็นได้ว่าแก่นตะวันนี้มีคุณประโยชน์อย่างมากที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ที่ไม่ควรมองข้ามประโยชน์ของพืชชนิดนี้ โดนเฉพาะอย่างยิ่งต่อการรักษาสุขภาพโดยรวม ความงาม และแก้ปัญหาโรคอ้วนและเบาหวานตามหลักการของการบริโภคอาหารปราศจากแป้งและน้ำตาล ซึ้งนายแพทย์ ดร.วิศาล เยาวพงศ์ศิริ ก็ได้รณรงค์มาก่อนหน้านี้แล้วในอดีต แต่สิ่งนี้เพิ่งจะเห็นอย่างจริงจังเมื่อพืชแก่นตะวันได้รับความสนใจในประเทศไทยและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบัน ช่วงนี้พักกันก่อนสัก

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังครับ ปัจจุบันได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากแก่นตะวันได้แก่ แป้งแก่นตะวัน แป้งอินูลิน และน้ำเชื่อมฟรุกโท/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ เพื่อประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสม/สารเติมแต่งของอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพครับ อาทิ ผลิตภัณฑ์นม ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อ จำพวกไส้กรอก เครื่องดื่มน้ำผักและผลไม้พร้อมดื่ม เครื่องชาและกาแฟ เป็นต้นครับ โดยได้มีการดำเนินแผนการวิจัยเชิงบูรณาการนะครับ ตั้งแต่การศึกษาการปลูกเปรียบเทียบพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ของพืชแก่นตะวัน ทั้งในด้านอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยการพัฒนากรรมวิธีการผลิตแป้งแก่นตะวัน แป้งอินูลิน และฟรุกโท/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ เพื่อใช้เป็นสารเติมแต่งอาหารเชิงฟังก์ชันในผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ส่วนในด้านปศุสัตว์ใช้เป็นส่วยผสมในอาหารไก่และสุกร เพื่อลดกลิ่นแอมโมเนียในมูลสัตว์ ช่วยลดมลพิษทางกลิ่นจากปศุสัตว์ และนอกจากนี้นะครับยังสามารถนำต้นแก่นตะวันเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวมาใช้ผลิตกระดาษเพื่อใช้กับงานหัตถกรรมและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งกระดาษที่ได้สามารถนำไปใช้งานหรือทำผลิตภัณฑ์ต่างๆได้ อาทิ กระดาษห่อของขวัญ สมุดบันทึก กระดาษซิลค์สกรีน นามบัตร ถ่ายเอกสารและใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

คุณผู้ฟังที่กล่าวมาข้างตันนี้เรามาฟังรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆกันนะครับ

แป้งแก่นตะวัน ในกระบวนการผลิตแป้งแก่นตะวัน เริ่มด้วยการล้างหัวแก่นตะวันให้สะอาดก่อน จากนั้นปอกเปลือก และหั่นเนื้อแก่นตะวันเป็นชิ้นบางๆ นำไปอบแห้งด้วยตู้อบร้อน จากนั้นบดเนื้อแก่นตะวันให้ละเอียดนะครับ ก็จะได้ผลิตภัณฑ์แป้งแก่นตะวัน ที่เป็นทั้งใยอาหารและมีสารพรีไบโอติก สามารถใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ขนมอบ ขนมขบเคี้ยว อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบตั้งตันในการผลิตแป้งอินูลินและฟรุกโท/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์และเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์อีกด้วย

ผลิตภัณฑ์ตัวต่อไป คือ แป้งอินูลิน เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินอาหาร แป้งอินูลินเตรียมได้ทั้งจากหัวแก่นตะวันสดหรือแป้งแก่นตะวันด้วยการสกัดด้วยความร้อน ทำให้ปราศจากน้ำตาล จากนั้นนำไปทำแห้งแบบพ่นฝอย จะได้ผลิตภัณฑ์แป้งอินูลิน ซึ่งเป็นสารพรีไบโอติก สามารถใช้เป็นสารเติมแต่งอาหารเชิงฟังก์ชันในผลิตภัณฑ์นม ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อ เครื่องดื่มสุขภาพ ชาและกาแฟ หรือใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริมสุขภาพ เป็นต้น

ส่วนตัวต่อไปคือ น้ำเชื่อมและผงฟรุกโท/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ ซึ่งผลิตได้ทั้งจากหัวแก่นตะวันสดและด้วยการสกัดด้วยน้ำร้อน ทำให้สารละลายเข้มข้น ก่อนการเติมเอนไซม์อินูลิเนสและอินเวอร์เทสจากจุลินทรีย์ บ่มภายใต้สภาวะที่เหมาะสม สารสสกัดอินูลินจากแก่นตะวันจะถูกย่อยสลายได้เป็นน้ำตาลฟรุกโท/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ เมื่อทำให้บริสุทธิ์และเข้มข้นแล้ว จะได้ผลผลิตน้ำตาลฟรุกโท/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ ที่สามารถใช้เป็นสารให้ความหวานที่มีองค์ประกอบของสารพรีไบโอติก ซึ่งเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มสุขภาพ ชาและกาแฟ ผลิตภัณฑ์นม ไอศกรีมและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเนื้อ เป็นต้น

ตัวต่อมาคือ อาหารสัตว์ครับ เป็นผลผลิตที่มีความสำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งแก่เกษตรกรครับ เริ่มโดยการนำแป้งแก่นตะวันใช้เป็นส่วนผสมในอาหารไก่ไข่ เนื่องจากแป้งแก่นตะวันประกอบด้วยอินูลิน ซึ่งจึงเป็นอาหารของจุลินทยรีย์ที่มีประโยชน์ในระบบทางเดินอาหาร จึงส่งผลดีต่อสุขภาพของสัตว์ โดยจะช่วยดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร กระตุ้นและพัฒนาให้ผนังลำไส้มีการดูดซึมได้ดี ส่งเสริมการเพิ่มมวลไข่และน้ำหนักไข่และยังมีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ได้ครับ

ผลิตภัณฑ์กระดาษจากต้นแก่นตะวัน คุณผู้ฟังฟังไม่ผิดหรอกครับ ต้นแก่นตะวันสามารถใช้ในการทำกระดาษได้ด้วยนะครับ เพื่อใช้ในงานหัตถกรรมและบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมกระดาษด้วยมือทั้งขนาดเล็กและปานกลาง จึงเป็ฯการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับต้นแก่นตะวัน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกแก่นตะวัน รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการผลิตกระดาษ และผลิตภัณฑ์จากกระดาษแก่นตะวัน เพื่อส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เข้าประเทศได้อีกทางหนึ่งครับท่านผู้ฟัง

เรามาฟังประโยชน์ของอินูลิน/อินูโลโอลิโกแซ็กคาไรด์ กันนะครับ คุณผู้ฟังทราบไหมครับว่าผลิตภัณฑ์จากแก่นตะวัน ซึ่งประกอบด้วยสารพรีไบโอติกและใยอาหาร ที่ไม่สามารถถูกย่อยและดูดซึมได้ในระบบทางเดินอาหารตอนบน สามารถผ่านลงไปยังลำไส้ใหญ่ได้ จึงมีการส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อก่อโรคในลำไส้ และลดระดับคอเลสเทอรอลและความดันโลหิต ช่วยทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมเกลือแร่ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และเหล็ก ฉะนั้นผลิตภัณฑ์จากแก่นตะวันดังกล่าวที่พูดไปนี้ จึงเป็นสารเติมแต่งอาหารที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่รักสุขภาพในปัจจุบันครับคุณผู้ฟัง

เข้าสู่ท้ายรายการแล้วนะครับ คุณผู้ฟังครับประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนากระบวนการการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ภายใต้การประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ของกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ระหว่าง พ.ศ.2555-2559 เพื่อการแข่งขันของการค้าเสรีภายในภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก และการสร้างฐานเศรษฐกิจของไทยให้เข็มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.2558 พืชแก่นตะวันจึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งท่ามกลางพืชเศรษฐกิจทั้งหลาย ที่มีศักยภาพสูงเพียงพอสามารถเข้าร่วมสนับสนุนเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวได้ไม่ยาก ปัจจุบันพืชที่การปลูกพืชแก่นตะวันได้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดภายในประเทศเท่านั้น หากต้องการจะขยายการเพาะปลูก เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรมแล้วรัฐบาลจะต้องสนับสนุนในการส่งเสริมการปลูกและการใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมอย่างแท้จริงครับคุณผู้ฟัง

หากคุณผู้ฟังมีข้อแนะนำติชมรายการหรือจะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเขียนจดหมายมายัง  “รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก.” ตู้  ปณ. 1077 ปทฝ. เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ 10903 หรือ โทรสอบถามได้ที่  0-2561-1474 สำหรับวันนี้รายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. ได้หมดเวลาลงแล้วครับ  แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  สำหรับวันนี้ ลาไปก่อน สวัสดีครับ…….